อาสาฬฺห
คำบาลี อ่านว่า อา-สาน-หะ
“อาสาฬฺห” เป็นชื่อหมู่ดาว
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงความหมายของศัพท์ไว้ว่า -
“อาสาฬฺโห นาม ภตีนํ ทณฺโฑ, ตํสณฺฐานตฺตา อาสาฬฺหา = ดาวที่มีรูปร่างเหมือนไม้คานของคนรับจ้าง”
เมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านกลุ่มดาวนี้จึงเรียกชื่อเดือนนั้น “อาสาฬฺห” คือเดือน ๘ ทางจันทรคติ ตกราวมิถุนายน – กรกฎาคม
คำสำคัญที่เกี่ยวกับเดือนนี้คือ “อาสาฬหบูชา” ซึ่งมีความหมายว่า “การบูชาในเดือน ๘” หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เพื่อรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเป็นการพิเศษ เนื่องในวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ทำให้เกิดมีปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ และเกิดสังฆรัตนะคำรบพระรัตนตรัย
ในภาษาไทย มีปัญหาว่าจะอ่านคำ “อาสาฬห” ว่าอย่างไร ?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คือ อ่านว่า อา-สาน-หะ และอ่านว่า อา-สาน-ละ-หะ
ความจริง มีคำอ่านอีกแบบหนึ่งที่มีคนอ่าน แต่ พจน.42 ไม่ได้บอกไว้ คือ อา-สา-ละ-หะ
หลักตัดสินก็คือ ในภาษาบาลี ตัว ฬ เมื่อซ้อนอยู่หน้า ห เป็นตัวสะกดอย่างเดียว ไม่ต้องออกเสียง
คำเทียบที่เห็นได้ชัดคือ
- ทัฬหีกรรม (การกระทําให้มั่นคงขึ้น) อ่านว่า ทัน-ฮี-กํา
- วิรุฬห์ (เจริญ, งอกงาม) อ่านว่า วิ-รุน
- วิรุฬหก (ชื่อท้าวจาตุมหาราชองค์หนึ่ง ประจําทิศทักษิณ) อ่านว่า วิ-รุน-หก
สาเหตุ :-
“ทั-” ยังออกเสียงเองไม่ได้ ส่วน “วิรุ-” แม้จะออกเสียงเองได้ แต่ก็ยังชวนให้มองหาตัวสะกดอีก จึงรู้ได้ชัดว่า “ฬ” เป็นตัวสะกด จึงไม่มีใครอ่านว่า ทัน-ละ-ฮี-กำ หรือ วิ-รุน-ละ-หก
แต่ “อาสาฬห” -สา- เมื่ออ่านตามที่ตาเห็น สามารถออกเสียงได้เอง ไม่ทำให้รู้สึกว่า “ฬ” เป็นตัวสะกด จึงอ่านเป็น อา-สา-ละ-หะ หรือ อา-สาน-ละ-หะ ได้ง่าย
: ห้ามคนอื่นไม่ให้ทำผิด - ยาก
: ห้ามตัวเราเองไม่ให้ทำผิด -ยิ่งยาก
นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย
อตฺตนา โจทยตฺตานํ (ขุ.ธ. ๒๕/๖๖)
" จงเตือนตน ด้วยตนเอง "
การเตือนตน คือการพร่ำสอนตนให้มีสติสัมปชัญญะขึ้นมา เพื่อเตือนตนให้รู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรทำ ไม่ควรทำ และพยายามคอยสอดส่องดูโทษ ความผิด และข้อบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ ไม่ต้องคอยให้ใครมาเตือน ไม่มัวไปเพ่งโทษคนอื่น จงหมั่นตรวจดูความผิดของตนเองอยู่ทุกเมื่อ ความผิดก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นก็เล็กน้อย เมื่อพบความผิดก็ใช้สติปัญญาแก้ไขให้ถูกต้องเสีย และจะไม่ทำความผิดเช่นนั้นอีก... " จงเตือนตนของตนให้พ้นผิด
ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน
อย่าแชเชือนรีบเตือนตนให้พ้นภัย..."