กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิก.

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
การค้นหาขั้นสูง  

ข่าว:

ผู้เขียน หัวข้อ: หญ้าคา วัชพืช เป็นยา จากดำราจีน  (อ่าน 12540 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ลุงชัยนรา

  • ความเปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร์
  • ชาวบ้านกิตติมศักดิ์
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 3715
  • กระทู้: 910
  • Thank You
  • -Given: 3245
  • -Receive: 3715
  • ชีวิตนี้ยอมพลี เพื่อแผ่นดิน
หญ้าคา วัชพืช เป็นยา จากดำราจีน
« เมื่อ: มีนาคม 16, 2013, 12:55:08 AM »
หญ้าคา

⇒ ชื่ออื่น
หญ้าคา, คาหลวง (ทั่วไป), ลาลาง (มะลายู), สาแล (มลายู-ยะลา-ตานี) : แปะเม่ากึง, เตี่ยมเซากึง (จีน-แต้จิ๋ว); Thatch Grass.

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Imperata Cylindrica Beauv วงศ์ Gramineae

⇒ลักษณะต้น
เป็นพวกพืชพวกหญ้า มีลำต้นใต้ดินเป็นเส้นกลม สีขาวทอดยาว มีข้อชัดเจน ผิวเรียบ หรืออาจมีขนบ้างเล็กน้อย แตกกิ่งก้านสาขาเลื้อยแผ่และงอกเป็นกอใหม่มากมายหลายกอ ใบแตกจากลำต้นใต้ดิน ลักษณะแบนเรียวยาว มีใบยาว 20-50 ซ.ม. กว้าง 5-9 ม.ม. ตอนแตกใบอ่อนใหม่ ๆ จะมีปลอกหุ้มแหลม แข็งที่ยอด ยาวประมาณ 1 ม.ม. งอกแทงขึ้นมาจากดิน ดอกออกเป็นช่อทรงกระบอก ยาว 5-20 ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-3 ซ.ม. มีดอกย่อยอยู่ติดกันแน่น เมื่อแก่จะเป็นขนฟูสีขาว เมล็ดจะหลุดร่วงปลิวไปตามลม แพร่พันธุ์ไปได้ไกล ๆ พวกที่ขึ้นในทุ่งหญ้าออกดอกในฤดูร้อน พวกที่ขึ้นในที่ชื้นแฉะออกดอกปลายฤดูร้อนหรือฤดูหนาว นอกจากแพร่พันธุ์โดยเมล็ดแล้ว ยังแพร่พันธุ์โดยลำต้นใต้ดิน ที่งอกลามไปแล้วเจริญเป็นต้นใหม่อีก เป็นพืชชอบแดด และทนทานมาก เผาก็ไม่ตายและดูเหมือนว่าไฟจะไปช่วยกระตุ้นให้มันงอกมากขึ้น และออกดอกแพร่พันธุ์มากขึ้นไปอีก จึงกลายเป็นวัชพืชที่ขึ้นลุกลามไปตามไร่และปราบได้ยากชนิดหนึ่ง พบขึ้นเป็นทุ่งทั่วไป ตามพื้นที่ร้างว่างเปล่า ตามหุบเขาและริมทางทั่วไป
                           

⇒การเก็บมาใช้
ใช้ราก ดอก ขน (ดอกแก่) และใบ เป็นยา
ดอก เด็ดทั้งก้านตอนดอกบานในฤดูร้อนหรือหนาว ใช้สดหรือตากแห้ง เก็บไว้ใช้ ลักษณะดอกแห้งที่ดี เป็นแท่งทรงกระบอกยาว 5-20 ซ.ม. มีขนที่โคนดอกย่อย ขนมีมากเป็นส่วนใหญ่ของช่อดอก สีขาวออกเทา เป็นปุยเบา ๆ คล้ายนุ่น ดอกย่อยมีสีเหลืองออกเทา มีก้านเกสรตัวเมียเป็นเส้นยาว ๆ 2 เส้น มีกลิ่นอ่อน ๆ รสจืด ควรแห้งสนิท มีก้านดอกสั้น ๆ จึงดี

ขน (ดอกแก่) เก็บเมื่อช่อดอกแก่เต็มที่ เป็นขนสีขาวฟู เก็บมาตากแห้ง เก็บไว้ใช้
ราก เก็บในฤดูฝน หรือฤดูหนาว ตัดส่วนเหนือดินทิ้ง ขุดเอารากและลำต้นใต้ดินล้างสะอาด ขูดรากฝอย ๆ ออก ใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้ ลักษณะรากแห้งที่ดี เป็นเส้นกลม ๆ ยาว 30-60 ซ.ม. เส้นผ่า-ศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซ.ม. ผิวนอกมีสีขาวหรือเหลืองขาว มีข้อสีน้ำตาลอ่อนนูนออกมา แต่ละข้อห่างกันประมาณ 3 ซ.ม. เนื้อเหนียว หักยาก เนื้อในตรงกลางมีสีเหลืองอ่อน มีรูเล็ก ๆ 1 รู รอบนอกมีสีขาว มีรูเล็ก ๆ เรียงเป็นวงรอบ มีกลิ่นอ่อน ๆ ต้นที่อวบใหญ่สีขาว ไม่มีรากฝอย มีรสหวานจึงดี ก่อนใช้ผสมยา ใช้รากแห้ง เลือกสิ่งแปลกปนออก ล้างสะอาดพรมน้ำให้ชุ่ม หั่นเป็นท่อน เอาไปตากให้แห้ง ร่อนเศษผงทิ้ง ชั่งไปใช้ผสมยา อีกวิธีหนึ่งหั่นเป็นท่อน ๆ ใส่หม้อดินเผาด้วยไฟแรง ๆ จนดำ พรมน้ำให้เย็น เอามาตากให้แห้ง เรียกว่า ถ้าหญ้าคา ผสมใช้เป็นยา
ใบ ตัดมาผึ่งให้แห้ง เก็บไว้ใช้

⇒ สรรพคุณ
ช่อดอก รสชุ่ม สุขุม ใช้ห้ามเลือด แก้ปวด อาเจียนเป็นเลือด บาดแผลจากของมีคม
ขน (ดอกแก่) รสชุ่ม สุขุม ไม่มีพิษ ใช้ห้ามเลือดกำเดาออก ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ใช้สด แก้แผลบวมอักเสบ ฝีมีหนอง
ราก รสชุ่มเย็น ใช้ห้ามเลือด ขับปัสสาวะ แก้ไข้ ไอ กระหายน้ำ อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาออก ความดันเลือดสูง ปัสสาวะเป็นเลือดหนองในปัสสาวะขัด บวมน้ำ ดีซ่าน ประจำเดือนมามากเกินไป
ใบ ใช้ภายนอก ต้มน้ำอาบ แก้ลมพิษ ผื่นคัน ปวดเมื่อยหลังคลอด

⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
ช่อดอกแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก ตำพอกหรืออุดรูจมูก
ขน (ดอกแก่) แห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก ตำพอกหรืออุดรูจมูก
รากแห้ง 10-15 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มน้ำกินหรือคั้นเอาน้ำกิน หรือบดเป็นผงกิน
ใบ ใช้ภายนอก ต้มหรือแช่น้ำอาบ

⇒ ตำรับยา
1. แก้เลือดกำเดาออกง่าย หรือออกไม่ค่อยหยุด ใช้ช่อดอกแห้ง 15 กรัม จมูกหมู 1 อัน ต้มให้เดือดประมาณ 1 ชั่วโมง กินหลังอาหารหลายครั้ง อาจหายขาดได้ หรือใช้ขน (ดอกแก่) 15 กรัม ต้มน้ำกินก็ได้หรือใช้น้ำคั้นจากรากสดกิน 1 ถ้วยชา (15 ม.ก.) หรือใช้รากแห้งบดเป็นผง 2.6 กรัม ผสมน้ำซาวข้าวกินหรือใช้รากสด 30 กรัม ต้มน้ำกิน
ขณะที่เลือดกำเดาออก ใช้ช่อดอกหรือขนตำอุดรูจมูก ช่วยห้ามเลือดกำเดาอีกด้วย

2. แก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้รากแห้ง 30 กรัม ต้มน้ำกินหรือผสมรากบัว 15 กรัม ต้มน้ำกิน

3. แก้หอบ ใช้รากสด 1 กำมือ เปลือกต้นหม่อน (Morus alba L.) อย่างละเท่าๆ กัน ใส่น้ำ 2 ชาม ต้มให้เหลือ 1 ชาม กินแต่น้ำ

4. แก้ปัสสาวะเป็นหนอง ใช้รากแห้ง 15 กรัม ใส่น้ำ 250 ม.ล. ต้มให้เหลือ 50 ม.ล. รินกินตอนอุ่นหรือเย็นก็ได้ วันละ 3 ครั้ง

5. แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้ราก 1 กำมือ ใส่น้ำ 1 ถ้วยใหญ่ ต้มให้เหลือ 1 ถ้วยชา (15 ม.ล.) รินกินตอนอุ่นๆ หรือใช้รากแห้ง เมล็ดผักกาดน้ำ (Plantago asia-tica L.) อย่างละ 30 กรัม น้ำตาลทราย 15 กรัม ต้มน้ำกิน

6. แก้ตรากตรำทำงานหนัก ช้ำใน ใช้รากสดและขิงสดขนาดเท่าๆ กัน (60 กรัม) ใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา น้ำ 2 ถ้วย ต้มให้เหลือ 1 ถ้วย กินวันละครั้ง

7. ปัสสาวะขุ่นเหมือนน้ำนม ใช้รากสด 250 กรัม ใส่น้ำ 2,000 ม.ล. ต้มให้เหลือ 1,200 ม.ล. ใส่น้ำตาลพอสมควรแบ่งกิน 3 ครั้ง ให้หมดใน 1 วัน หรือกินแทนชาติดต่อกัน 5-15 วัน เป็น 1 รอบของการรักษา

8. แก้ไตอักเสบ ใช้รากแห้ง 30 กรัม ดอกเจ๊กกี่อึ้ง (Solidago virga-aureus var. leiocarpa (Benth) A Gray) 30 กรัม เปลือกลูกน้ำเต้า 15 กรัม เหล้าขาว 3 กรัม ต้มน้ำแบ่งกิน 2 ครั้ง วันละชุด (ห้ามผสมเกลือกิน) หรือใช้รากสด 60-120 กรัม ต้มน้ำแบ่งกิน 2-3 ครั้ง ให้หมดใน 1 วัน

9. แก้ปัสสาวะขัด ตัวบวมน้ำ ใช้รากสด 500 กรัม ลอกเปลือกที่อยู่ระหว่างข้ออก หั่นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วยใหญ่ ต้มให้เดือด 10 นาที เปิดดู ถ้ารากยังไม่จมน้ำ ก็ให้ต้มต่อไปจนรากจมน้ำหมด เอากากออกรินตอนอุ่นๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย กลางวัน 5-6 ครั้ง กลางคืนอีก 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง ปัสสาวะจะถูกขับออกมากขึ้น

10. cdhดีซ่าน ตัวเหลืองจากพิษสุรา ใช้รากสด 1 กำมือ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มกับเนื้อหมู 500 กรัม กิน

11. แก้พิษจากต้นลำโพง ใช้รากสด 30 กรัม ต้นอ้อย 500 กรัม ตำคั้นเอาน้ำมาผสมกับน้ำมะพร้าว 1 ลูก ต้มกิน

12. แก้ออกหัด กระหายน้ำ ใช้รากแห้ง 30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มบ่อย ๆ

⇒ ผลรายงานทางคลินิกของจีน
1.แก้ไตอักเสบเฉียบพลัน ใช้รากแห้ง 250 กรัม ล้างสะอาด หั่นฝอย ต้มน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง (เปลี่ยนรากหญ้าคาวันละครั้ง) กินติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 1-2 อาทิตย์ หรือจนกว่าจะหาย
หรืออาจผสมกับ ไต่โซว (Circium Japanicum Dc.) เซียวโซว (Cephalanoplos regetum (Bge.) Kitam) โกฏขี้แมว (Rehmania glutinosa (Gaertn. )Libosch) และมั่วอึ้ง (Ephredra Siniga Stapf.) ร่วมกันเป็นตำรับยา ต้มน้ำกิน ในระหว่างกินยานี้ต้องพักผ่อนให้มาก ควบคุมน้ำและเกลือ ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ถ้าจำเป็นก็ให้ยาอื่นช่วยด้วย เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน

ผลการรักษาให้ผลดี ช่วยย่นระยะเวลาการรักษา จากคนไข้ไตอักเสบเฉียบพลัน 10 ราย หลังจากกินยานี้ภายใน 1-5 วัน ปัสสาวะออกมากขึ้น เฉลี่ย 1,500-3,000 ม.ล.ต่อวัน หลังจากนั้นอาการบวมน้ำลดลงและหายไป ในคนที่มีความดันเลือดสูง กินยานี้แล้วคอยตรวจดูความดันเลือด จะค่อย ๆ ลดเป็นปกติ อาการบวมน้ำหายไปภายใน 4-5 วันถึง 1 อาทิตย์ ความดันเลือดจะลดลงเป็นปกติ ภายใน 5-20 วัน (โดยเฉลี่ย 7-9 วัน) พวกปัสสาวะขัด กินยานี้โดยเฉลี่ย 11-26.4 วันก็หายเป็นปกติ ใช้เป็นยาแก้ไตอักเสบเรื้อรัง และเป็นยาขับปัสสาวะแต่กับคนไข้ที่บวมน้ำหรือท้องมานเนื่องจากโรคตับหรือหัวใจ ใช้ยานี้ไม่ได้ผลเด่นชัดนัก คาดว่ายานี้คงจะทำให้เลือดไม่คั่งในไต ทำให้การไหลเวียนของเลือดในไตเพิ่มขึ้น กรองปัสสาวะออกได้มากขึ้นและลดความดันเลือดให้เป็นปกติ ใช้แก้อาการไตอักเสบเฉียบพลันได้ดีมาก แก้อาการไตอักเสบเรื้อรังได้ผลน้อยกว่า และอาการบวมน้ำเนื่องจากโรคตับหรือหัวใจเกือบไม่ได้ผล ในระหว่างที่กินยานี้อาจมีอาการวิงเวียนหัว อึดอัดไม่สบายใจได้ ยังไม่พบอาการเป็นพิษอื่นใดอีก
 

2. แก้โรคตับอักเสบเฉียบพลัน ใช้รากแห้ง 60 กรัม ต้มน้ำกินวันละ 2 ครั้ง จากการรักษาคนไข้ 28 ราย ภายใน 45 วัน สภาพร่างกายดีขึ้น ตับกลับคืนสู่สภาวะปกติจำนวน 21 ราย อีก 7 รายภายใน 45 วัน การทำงานของตับดีขึ้นเกินกว่าครึ่ง และอีก 15 วันต่อมา ตับกลับคืนสู่สภาวะปกติ ส่วนใหญ่หลังจากรักษา 10 วัน อาการโรคที่สำคัญจะหายไป อาการตับหรือม้ามบวมโตจะหายไปในเวลาประมาณ 20 วัน อาการตัวเหลืองจะหายเป็นปกติ เฉลี่ยประมาณ 20.15 วัน ไม่พบอาการข้างเคียงอะไร นอกจากนั้นยานี้ยังใช้ลดความดันเลือดสูง ใช้ร่วมกันกับ เซียวเหาะเช่า (Agrimonia Pilosa Ledeb. Var. japonica (Mig) Nakai) แก้ปัสสาวะ อุจจาระเป็นเลือดได้

⇒ ตำรับยาสัตว์
1. แก้วัว ม้า ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้รากสด 120 กรัม ผมคนล้างน้ำด่าง แล้วล้างให้หมดด่าง ตากแห้งเผาเป็นถ่าน 30 กรัม ใบหญ้าขุยไม้ไผ่สด (Lophatherum gracile Brugn) 120 กรัม ต้มนำให้กิน

2. แก้ไตอักเสบ บวมน้ำ ใช้รากสด เปลือกแตงโมสด สัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ ใช้อย่างละ 250-500 กรัม ต้มน้ำให้กิน

⇒ ผลทางเภสัชวิทยา
1. ฤทธิ์ห้ามเลือด ให้กระต่ายทดลองกินดอกแห้งครั้งละ 0.5 กรัม วันละครั้งติดต่อกัน 3 วัน ในวันที่ 5 หลังจากเริ่มให้กินยานี้ อาการเลือดออกลดลงอาการดีขึ้น และฤทธิ์ห้ามเลือดนี้มีผลไปได้หลายวัน นอกจากนั้นยังสามารถลดอาการเส้นเลือดแตกง่ายลงได้อีกด้วย

2. ฤทธิ์ขับปัสสาวะ ให้กระต่ายทดลองกิน น้ำต้มจากราก กลุ่มที่ให้กิน 5-10 วันเห็นผล ขับปัสสาวะได้ดี กลุ่มที่ให้กินติดต่อกัน 20 วัน ไม่เห็นผลเด่นชัดนัก แต่ในการทดลองมิได้ควบคุมการให้น้ำเข้า จึงนำมาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มไม่ได้ ต้องทดลองใหม่อีก ในรากหญ้าคามีโปแตสเซียมมาก อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีฤทธิ์ขับปัสสาวะได้

3. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค น้ำต้มจากราก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิด แบคทีเรีย แต่ฆ่าเชื้อบิดอะมีบ้าไม่ได้

4. ฤทธิ์แก้ไข้ ยังพิสูจน์ไม่เห็นผลที่มีนัยสำคัญ

⇒ การเป็นพิษ
ทดลองให้กระต่ายกินน้ำต้มจากรากขนาด 25 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลังจากนั้น 16 ชั่วโมง กระต่ายจะเคลื่อนไหวช้าลง การหายใจเร็วขึ้น แต่ก็จะกลับคืนสู่ปกติอีกไม่นานนัก ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 10-15 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม การหายใจจะเร็วขึ้น ไม่ค่อยเคลื่อนไหว หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จะกลับคืนสู่ปกติ ถ้าฉีดขนาด 25 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลังจากฉีด 6 ชั่วโมง ก็ตาย

⇒ หมายเหตุ
ในฟิลิปปินส์ ใช้น้ำต้มจากรากสด แก้บิด หนองใน ผลใช้ห้ามเลือดบาดแผล ใช้กินเป็นยาสงบประ-สาท
ในจีน ใช้บำรุงกำลังหลังจากฟื้นไข้ ห้ามเลือด ลดไข้
ในกัมพูชา ใช้เป็นยารม แก้ริดสีดวงทวาร
ในอัฟริกา ใช้เป็นยาแก้ปวดบวมในเด็ก
ชาวซูลู ใช้แก้อาการสะอึก
น้ำร้อนชงสกัดน้ำตาลจากรากมาหมักเบียร์
นอกจากนี้ยังใช้รากทำเชือก แปรง สานตะกร้า เสื่อ ต้นแห้งใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้เผาเครื่องปั้นดินเผาในอูกันดา
ใช้มัดต้นแผ่เป็นแผ่นแบน ๆ ทุบให้แตก ตัดใบทิ้ง ใช้เป็นแปรงฉาบน้ำปูนตามกำแพงหรือผนังตึกได้
อาจทำน้ำตาลจากรากหญ้าคา โดยในฤดูหนาว ขุดดินใต้กอหญ้าคาให้เป็นโพรงชอนเข้าไปลึก ๆ ตัดรากหญ้าคายาว ๆ ออกบ้าง เอาแกลบใส่ให้เต็มโพรงนั้น หมั่นรดน้ำที่โคนต้นทุกวัน จนมีรากงอกยาวสีขาวงามดี เอาแกลบออก จับรากมัดรวมกัน เอามีดคม ๆ ปาดแบบปาดจั่นตาลโตนดหรือจั่นมะพร้าว ทิ้งไว้ 3 วัน ในวันที่ 3 ตอนเย็น เอาภาชนะไปรองรับที่มัดรากที่ปาดแล้วนั้น วันรุ่งขึ้นก็มาเก็บน้ำตาล แล้วปาดลึกเข้าไปอีก ได้ทุกวันจนหมดหรือพอได้น้อยก็พอ

ในไทย ตามสรรพคุณยาโบราณกล่าวว่า รากหญ้าคาต้มกิน เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงไต แก้ดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
 
หมายเหตุ ***ขอเสริมจากประสบการณ์ ของตัวเอง แถวในสวนจะมีหญ้าคามาก ตุณตาของลุงชัย เลยขุดดินให้เป็นร่องกว้างประมาณเมตรกว่้าๆ ยาวเท่าที่ต้องการ(หรือขุดไหว) และลึกพอๆกัน แล้วหาแผ่นกระดานกว้างๆ เก่าๆ มาเจาะรูเท่ากับวงนิ้วหัวแม่มือจรดกับนิ้วชี้  สัก 2 - 3 รู ห่างกันสักคืบกว่าๆมาปิดดินด้านที่มีดงหญ้าคาหนาแน่น รอสักพักรากหญ้าคาก็จะชอนไช ไปในรูไม้แล้วโผล่ออกมาในร่องที่ขุดเตรียมไว้ ปล่อยไว้ให้มันออกมาแน่นพอควร ก็ใช้ตอกรวบๆให้แน่นเป็นลำหนาๆ ใช้มีดคมๆหั่นบางๆเอาภาชนะมารองไว้ (ควรจะปาดตอนเย็น)ก็จะมีน้ำหยดลงไปในภาชนะ ลักษณะเหมือนการ ปาดงวงตาล หรืองวงมะพร้าว ก็จะได้น้ำตาลหวานมาก ไว้ดื่มแก้กระหาย หรือยาแก้ไอ แก้ร้อนในได้ด้วย ลักษณะนี้ น่าจะเรียกว่า "แก้วิกฤต ให้เป็นเป็นโอกาส" ดีกว่า เราจุดไฟเผา หรือขุดทิ้งเสียเปล่าๆ นี่คือภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่แม้แต่ ในตำรา วิชาการก็ไม่มีให้ได้เรียนรู้
                                                  ลุงชัย
 


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 24, 2013, 12:28:44 AM โดย ลุงชัยนรา »
บันทึกการเข้า

** กระทู้แรกที่ควรอ่านเมื่ออยู่บ้านเพลงไทย **