สโมสรบ้านเพลงไทย > ห้องพระ

ภิกษุณีที่มาจากคณิกา หญิงงามเมือง

(1/2) > >>

ลือ:
                              ภิกษุณีที่มาจากคณิกา หญิงงามเมือง

    วันนี้ ผมอ่านเจอคอลัมน์"สาวิกาในพุทธศาสนา"เขียนโดย ร.ศ.คึกเดช กันตามระ
         เรื่อง "หญิงแพศยาสำเร็จอรหันต์" ในนิตยสาร"ดิฉัน" ฉบับที่ 644  31 ธันวาคม 2546 (หน้า296-300)
                 
                อ่านแล้ว...ก็อยากนำมาแบ่งปันครับ แต่ด้วยวิธีสรุปความนะครับ
                   เรื่องยาว พิมพ์ตามไม่ไหว.....

                           ************

            ในสมัยพุทธกาล มีเหล่านางคณิกา หญิงงามเมืองจำนวนมาก เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา
    ได้ร่วมกันสร้างพระอารามขึ้น
            ชาวบ้านเรียกวัดนี้ แบบเย้ยหยันว่า "วัดคณิกาผล"
             
             ณ เมืองกาสี  ธิดาสาวคนสวยของเศรษฐีขายผ้าที่นั่น ก็เป็นผู้หนึ่งที่กล่าวดูถูก และรังเกียจวัดนี้
          ต่อมา เมื่อบิดานางตายเพราะตรอมใจที่กิจการขาดทุนล้มละลาย...บ้านช่องถูกยึด ไร้ที่อยู่
     ตัวนางเองก็ไม่มีวิชา ทำอะไรไม่เป็น   นางจึงตัดสินใจเดินทางไปกรุงพาราณสี
             เพื่อประกอบอาชีพโสเภณีเลี้ยงตัว...ตามวิบากกรรม

                เจ้าสำนักนางโลมรับตัวนางไว้เพราะความที่เป็นคนรูปงาม
              ครั้นถามชื่อ  นางก็ไม่ยอมบอก
      จึงพากันเรียก "นางกาสี" ตามชื่อถิ่นเก่าของนาง...
           และส่งเข้าฝึกวิชานางโลม คือการวางท่ายั่วยวน กับการเต้นระบำรำฟ้อน
                    ซึ่งนางก็ทำได้สำเร็จอย่างดี...
           จากนั้น เจ้าสำนักก็พานางเปิดตัวแก่ลูกค้าคนมีเงิน

               นางกลายเป็นนางคณิกาผู้มีชื่อโด่งดัง เพราะมีเหล่าเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสี
    มาคอยซื้อบริการที่มีราคาสูงมาก  คือ นางมีค่าตัวถึง 1000 กหาปณะ
           ( ค่าตัวนาง จะเท่ากับ จำนวนเงินภาษีที่เก็บได้ในแต่ละวันของแคว้นกาสี 
         หรือเท่ากับ เงินภาษีที่แคว้นมคธเรียกเก็บจากแคว้นกาสีที่เป็นเมืองขึ้น)

                 ต่อมาไม่นานนัก เกิดกลียุค ข้าวยากหมากแพง...
       มีผลกระทบให้ค่าตัวของนางถูกต่อรองลดลงกึ่งหนึ่ง คือ 500 กหาปณะ
             ...ซึ่งเป็นภาวะที่นางต้องจำยอม
                 นางจึงถูกเรียกว่า "อัฑฒกาสี"
       แปลว่า "นางคณิกาผู้มีค่าตัวเท่ากับค่าภาษีครึ่งหนึ่งของแคว้นกาสี"
                แต่นั้นมา......

                     วันหนึ่ง นางเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิต...
       ได้เดินไปที่วัดภิกษุณีในแคว้นพาราณสี
           ได้ประสบองค์ตถาคต ที่กำลังแสดงธรรมที่นั่นพอดี  นางหยุดฟัง...
                  และแล้ว ก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
                       นั่งสงบนิ่ง พนมมืออยู่ ณ ที่นั้น
         
                     ภิกษุณีเจ้าอาวาส มาเห็นเข้า จึงไต่ถาม 
      นางจึงบอกว่า นางได้สดับธรรม และบรรลุแจ้ง"วิชชา 3 "
           อันได้แก่
               1.บุพเพนิวาสานุสติญาณ-ระลึกชาติได้
               2.จุตูปปาตญาณ-รู้ถึงการตายของสัตว์ทั้งหลาย
               3.อาสวักขยญาณ-ความรู้ที่ทำให้อาสวะสิ้นไป

         นางอยากขอบวชเป็นภิกษุณี และอยู่ประจำที่วัด
                  ซึ่งเจ้าอาวาสภิกษุณี ก็ดำเนินการให้....

              อนึ่ง การบวชเป็นภิกษุณี จะสมบูรณ์ได้ ต้องด้วยการบวชจากสงฆ์ 2 ฝ่าย
          คือ   1.จากฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
                2. จากฝ่ายภิกษุสงฆ์

              เจ้าอาวาสจึงจะให้นางเดินทางไปขออนุญาตขอบวช จากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
      ที่กำลังประทับที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี เพื่อการบวชที่สมบูรณ์...

            แต่อุปสรรคสำคัญ คือได้ทราบว่า ตอนนี้ทางสำนักนางโลมได้ว่าจ้างนักเลง ให้คอยดักจับตัวนางกลับสำนัก
      เพราะนางเป็นตัวสร้างรายได้สำคัญของที่นั่น

               เจ้าอาวาสภิกษุณีจึงส่งทูตตัวแทน ไปทูลพระพุทธเจ้าตามการณ์นี้ 
        ตถาคตทรงทราบ และประชุมคณะสงฆ์
              แล้วทรงตรัสอนุญาต ให้นางอุปสมบทด้วยทูตได้

                ทูตจึงกลับมาดำเนินการอุปสมบทให้นางอัฑฒกาสี
        นางจึงเป็นภิกษุณีรูปแรก และรูปเดียว ที่อุปสมบทด้วยวิธีบวชด้วยทูต

            กาลต่อมา นางได้มีโอกาสเทศนาให้เจ้าสำนัก และเหล่านางโลมมองเห็นธรรม
       จนพากันกลับตัวกลับใจ เลิกกิจการ ปิดสำนักนั้นเสีย...


                *******************************************************
       

ชญาดา:
เหมือนเคยได้ยินมาจากหนังสือธรรมะมาบ้างค่ะ แต่จำเนื้อหาไม่ได้  คนเราคงมีเวรกรรมที่ต้องชดใช้ค่ะ เมื่อสร้างบุญบารมีใหม่ ผลบุญก็ส่งผลให้เธอได้บรรลุธรรมได้  ขอบคุณกับเรื่องราวนี้ด้วยค่ะ อุทาหรณ์สอนใจได้ดี

มหาสุ:
วัด คณิกาผล
 สร้างเมื่อ : พ.ศ.2376 นับตั้งแต่ที่เมืองไทยของเรา รับเอาศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเข้ามาเป็นประหนึ่งศาสนาประจำชาติของไทยนั้น มีวัดเป็นจำนวนมาก ที่สร้างจากพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ และ เชื้อพระวงศ์ รองลงมาก็มักจะเป็นวัดในอุปถัมภ์ของขุนนางผู้ใหญ่ชั้นสูง และ ท้ายที่สุดก็คือสร้างจากแรงศรัทธาของชาวบ้าน แต่กระนั้นก็ตาม ยังมีวัดไทยบางวัดที่ผู้สร้างมีที่มาที่ออกจะขัดแย้งกันกับการนับถือพุทธศาสนาตามความเชื่อของชาวพุทธ และ หนึ่งในวัดที่เป็นข้อยกเว้นนั้นเห็นจะได้แก่ วัดคณิกาผล คำว่าคณิกานั้น เป็นคำโบราณที่เราใช้เรียกหญิงผู้ให้บริการทางเพศ และ เมื่อคำเรียกหญิงงามเมืองนี้กลายมาเป็นชื่อวัด ที่มาของการสร้างวัดจึงมีความน่าสนใจอยู่พอสมควรวัดคณิกาผลนี้ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ท้ายตลาดแห่งหนึ่งในเยาวราช ตั้งอยู่บนหัวมุม ถุขุม และ อยู่ตรงข้ามกับโรงพักพลับพลาไชย วัดนี้เป็นวัดสายมหานิกาย ที่เดิมนั้นสร้างขึ้นจากกลุ่มหญิงบริการกลุ่มหนึ่งที่มีหัวหน้ากลุ่มที่ชื่อ ยายแฟง เป็นผู้รวบรวม และ ออกทุนให้สร้างวัดพุทธศาสนานิกายเถรวาทขึ้นที่บริเวณตรอกโคก (ปัจจุบันคือ ถนนพลับพลาไชย) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีศาลเจ้าจีน และ โรงเจตั้งขึ้นอยู่ก่อนแล้วมากมาย และ เมื่อสร้างวัดของหญิงงามเมืองนี้เสร็จ ชาวบ้านจึงเรียกกันง่ายๆ ตามชื่อตรอกว่า วัดโคก วัดนี้เปิดให้ชาวบ้าน และ สงฆ์ทำพิธีกรรมมานาน จนกระทั่งเข้าสู่สมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรดาลูกหลานของย่าแฟงจึงขอพระกรุณาโปรดเกล้าจากรัชกาลที่ 4 ให้พระราชทานนามของวัดโคกเสียใหม่ พระองค์จึงได้พระราชทานนามว่า วัดคณิกาผล ตามประวัติที่มาเดิมนั่นเอง ปัจจุบันนี้ หากใครได้มีโอกาสแวะเวียนเข้ามาในบรวณนี้ ก็จะสังเกตเห็นว่าทางเข้าหน้าวัดนั้น มีพระพุทธรูปสมเด็จพระอาจารย์โตแห่งวัดระฆังตั้งให้ผู้มีจิตรศรัทธาได้แวะเข้ามากราบไหว้กัน และเมื่อเดินลึกเข้าไปข้างในก็จะเห็นรูปปั้นครึ่งตัวของยายแฟงตั้งอยู่โดยมีคำจารึกที่ว่า วัดคณิกาผลนี้ สร้างขึ้นโดยคุณยายแฟง บรรพบุรุษของตระกูลเปาโลหิตในปีพุทธศักราช 2346 สิริลักษณ์ จินตนะดิลกกุลทีมงานวันว่าง ท่านผู้อ่านมีคำแนะนำหรือติชมหรือคุยกับทีมงานวันว่างได้ที่ leisure@th.mweb.com

มหาสุ:
ประวัติของวัดคณิกาผล ( วัดใหม่ยายแฟง )
         ในสมัยเมื่อครั้งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงได้ครองแผ่นดินสยามอยู่นั้น มีหญิงคนหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า ยายคุณท้าวแฟง หรือบางครั้งก็เรียกว่า ยายแฟง เฉย ๆ ยายคุณท้าวแฟงนี้มีอาชีพเก็บตลาดเอาผลกำไร รวมทั้งเป็นแม่เล้าเจ้าของซ่องนางโลมด้วย
         ยายแฟงนั้นแกรู้ว่า ในหลวงทรงโปรดการทำบุญสร้างวัดแกจึงได้ทำการสร้างวัดด้วยเงินรายได้ของแกขึ้นมา เพื่อต้องการให้สดุดสายพระเนตรของพระเจ้าแผ่นดินกับเขาด้วยเหมือนกัน ที่ตรอกแฟง ในแหล่งธุรกิจของพระนครสมัยนั้น พวกชาวบ้านจึงเรียกกันว่า " วัดใหม่ยายแฟง " เมื่อสร้างเสร็จแล้ว แกก็ได้ทูลขอพระราชทานนามของวัดนั้น ทรงโปรดพระราชทานนามของวัดนั้นว่า
 " วัดคณิกาผล " อันแปลตรงตัวได้ว่า วัดที่เป็นผลได้มาจากหญิงโลมเมือง เพราะรายได้หลักของยายแฟงนั้นก็คือได้จากการเป็นแม่เล้า เจ้าโสเภณี
       ในการสมโภชน์วัด ยายแฟงได้ไปนิมนต์สมเด็จพุฒาจารย์ ( โต พฺรหฺมรังสี ) ซึ่งสมัยนั้นสมเด็จฯ ท่านยังไม่มีสมณศักดิ์ คงเป็นเพียงแค่มหาโต พระมหาบาเรียนธรรมดาเท่านั้นให้มาเทศน์ฉลอง โดยมีความปรารถนาจะให้ท่านได้สรรเสริญผลบุญของตนต่อหน้าชุมชน แต่ผลก็ไม่ได้เป็นดังใจของยายแฟง เพราะพระมหาโต ท่านกลับเทศน์บอกแก่เจ้าภาพว่า ในการที่เจ้าภาพได้จัดการทำบุญเช่นนี้นั้น เป็นการทำบุญที่มีเบื้องหลังอยู่หลายประการ เป็นเหตุให้เหมือนกับว่า ในเงินทำบุญ ๑ บาทนั้น ยายแฟงจะได้อานิสงส์เพียงแค่สลึงเฟื้องเท่านั้น โดยพระมหาโตท่านได้ยกนิทาน เรื่องตากะยายฝังเงินเฟื้องไว้ที่ศิลาหน้าบันไดขึ้นมาประกอบคำเทศน์ของท่านด้วย ท่านได้เทศน์ว่า เพราะด้วยผลบุญที่ทำนั้นมีสาเหตุมูลฐานในการประกอบการบุญนั้นไว้ผิด แม้ว่าเรื่องที่เจ้าภาพได้สร้างวัดนี้ไว้นั้นจะเป็นการดี แต่ก็เพราะการตั้งฐานในการทำบุญครั้งนี้ไม่ถูกบุญใหญ่ จึงทำให้ผลแห่งการทำบุญนั้นใหญ่โตเหมือนดังที่หวังไว้ไปไม่ได้ คงจะได้บ้างก็แค่เพียงของเศษบุญ หรือจาก ๑ บาทก็ได้เพียงสลึงเฟื้องเท่านั้น
        เมื่อยายคุณท้าวแฟงได้ฟังเช่นนั้นแล้ว ก็ให้รู้สึกขัดเคืองใจเป็นกำลัง มีอาการโกรธหน้าแดง จนแทบจะระเบิดวาจาออกมาต่อว่า บริภาษมหาโตอย่างรุนแรง แต่ก็ยังเกรงเป็นการหมิ่นประมาท แกจึงได้เพียงแต่ประเคนกัณฑ์เทศน์ด้วยอาการไม่พอใจ กระแทก ๆ ดังปึงปังใหญ่ แล้วหลังจากนั้นแกก็จึงได้ไปนิมนต์เสด็จทูลกระหม่อมพระ ซึ่งก็คือ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ในสมัยเมื่อครั้งที่พระองค์ยังได้ทรงผนวชอยู่ เพื่อจะได้ให้ทรงเสด็จมาประทานธรรมต่อให้อีกสักกกัณฑ์หนึ่ง โดยหวังว่า แกคงจะได้รับคำชมจากพระองค์ท่าน ซึ่งก็เท่ากับเป็นการแก้ลำพระมหาโตไปในคราวเดียวกัน
        ทูลกระหม่อมฯ ทรงรับนิมนต์ของยายแฟงแล้ว ได้ทรงประทานธรรม ในเรื่องจิตของบุคคลที่ประกอบการกุศลว่า ถ้าทำด้วยจิตที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัวก็จะได้อานิสงส์มาก แต่ถ้าบุคคลใดทำงานการบุญด้วยจิตที่ขุ่นมัว ก็ย่อมจะทำให้เกิดได้ผลน้อย และสำหรับในเรื่องของการสร้างวัดนี้ ก็ดูเหมือนจะเนื่องด้วยเรื่องของจิตที่ขุ่นมัวทั้งนั้น ดังนั้นอานิสงส์ผลบุญจึงมีเพียงเท่านั้น ตามที่ท่านมหาโต ท่านยกเรื่องตากะยาย ไปอ้อนวอนเทวดาที่ต้นไม้ใหญ่มาประกอบนั้น เป็นเรื่องที่มีปรากฏในฎีกาพระอภิธรรมอยู่ เป็นฉากตัวอย่างที่ช่วยให้ท่านทำการตัดสินบุญของผู้สร้างวัดนี้ว่า ผลแห่งบุญนั้นจะอำนวยให้เกิดได้ไม่เต็มเม็ด เต็มหน่วย คงได้แค่เพียง ๓ ใน ๘ ส่วน เหมือนกับเงิน ๑ บาท โค้งเว้าหายไปเสีย ๕ เฟื้อง คงได้เพียง ๓ เฟื้อง คือ เหลือเพียงสลึงเฟื้องเท่านั้น การที่ท่านตัดสินอย่างนี้ก็นับว่ายังดีนักเทียว ถ้าเป็นความเห็นของเรา (สมเด็จพระจอมเกล้าฯ) คงจะตัดสินให้ได้บุญเพียง ๒ ไพเท่านั้น คือตัดสินตามเหตุที่ได้เห็น เพราะในการสร้างบุญนั้น วัดกันด้วยระดับของจิตใจ ผลที่เธอควรได้รับจึงควรมีเพียงเท่านี้ แล้วทูลกระหม่อมฯ ก็ลง เอวัง ไว้เท่านั้น
        เทศน์ ๒ กัณฑ์ของ ๒ ท่านนี้ นับเป็นเรื่องน่าคิด และในเรื่องนี้ผู้อ่านก็ควรจะคิดวินิจฉัยเองด้วยเหมือนกัน ผู้เรียบเรียงคิดว่า ท่านทั้งสองต้องการให้ยายแฟงรู้จักการทำบุญด้วยการพิจารณาลงไปถึงมูลเหตุต่างๆ ที่มีอยู่ในใจ และให้รู้จักคำนึงถึงที่มาของสิ่งที่ได้มาใช้ในการทำบุญด้วยว่า เป็นมูลฐานสำคัญของบุญ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ท่านคงทรงพระประสงค์ที่จะตอกย้ำความรู้สึกของยายคุณท้าวแฟง ให้รู้ตระหนักลงไปถึงในเรื่องกุศลจิต และอกุศลจิต มีอำนาจความสำคัญแตกต่างกันอย่างไร ผู้เรียบเรียงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องการสร้างวัดของยายแฟงนี้คงจะแสดงให้พวกเราได้เห็นอะไรๆ เกี่ยวกับการทำบุญกุศลได้ชัดขึ้นมาบ้าง ไม่มากก็น้อย
      อนึ่ง ในเรื่องนี้มีอยู่ตอนหนึ่งที่ทูลกระหม่อมพระ ท่านได้ตรัสว่า คุณท้าวแฟงควรจะได้บุญเพียง ๒ ไพเท่านั้น ท่านผู้อ่านที่มีอายุน้อยนั้นอาจจะไม่ทราบมาตราเงินไทยในสมัยเก่า ดังนั้นจึงจะขอเรียนให้ทราบว่า ๔ ไพนั้นมีค่าเท่ากับ ๑ เฟื้อง และ ๒ เฟื้องเป็น ๑ สลึง ดังนั้น หนึ่งไพจึงมีค่าเพียงราว ๑ สตางค์เท่านั้น พระองค์ทรงบอกว่าที่ทำบุญบาทหนึ่งนั้นได้ผลบุญจริงๆ เพียงแค่ ๖ สตางค์ น้อยกว่าที่มหาโตท่านได้ตัดสินไว้เสียอีก คือ ใน ๑๐๐ ส่วน เหลืออยู่เพียง ๖ ส่วน เท่านั้นนั่นเอง

 และอีกประการหนึ่ง ควรทำความเข้าใจไว้ให้ชัดว่า คำว่า "จิดขุ่นมัว" ที่มีใช้อยู่ในเรื่องนี้นั้น ไม่ได้หมายถึงการขุ่นมัวด้วยความโกรธหรือการลุแก่โทสะเพียงอย่างเดียว ถ้าพิจารณากันให้ดีแล้วจะเห็นว่า ท่านหมายถึงความขุ่นมัวด้วยความโลภและความหลงด้วย คือ พร้อมกันทั้ง ๓ ประการ ยายแฟงโลภอยากได้หน้า และหลงไปว่า ในหลวงท่านจะโปรดปราน จึงได้สร้างวัดขึ้นมา ส่วนจิตใจของยายแฟงนั้น ไม่มีใครรู้ได้ แต่เท่าที่ประมาณพอได้ก็คือ แกเป็นแม่เล้าคุมซ่องนางโลม ดังนั้นจิตใจแกจึงน่าจะมีส่วนที่ผ่องใสในการกุศลอยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับส่วนที่เป็นอกุศลอันขุ่นมัว ซึ่งซ่อนลึกหลบอยู่ภายในใจของแก
        คนที่ทำบุญเอาหน้า ได้เงินทองมาโดยไม่บริสุทธิ์นั้น จึงอยู่ห่างไกลบุญมาก ทำให้ไม่สามารถไปสู้คนที่ทำบุญด้วยจิตที่บริสุทธิ์ และด้วยสิ่งของที่บริสุทธิ์สะอาดไม่ได้เลย อย่างไรก็ตามผู้เรียบเรียงคิดว่า แม้ได้น้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย บุญนั้นไม่ว่ามากหรือน้อยเพียงใด ย่อมมีผลให้อุบัติเกิดเป็นความดีมาค้ำจุนผู้กระทำบุญนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว จะมากหรือน้อยก็มีแต่ดี เรื่องของยายแฟงนี้ได้เขียนเล่าเก็บเอาไว้เพื่อเตือนใจผู้ที่อาจจะตีความคิดเอาเองว่า จะหากำไรด้วยการทำชั่วทำบาปให้มาก แล้วก็จะเอาสิ่งของจำนวนมากที่ได้จากบาปกรรมของตัวนั้นมาสร้างความดี จะได้มีความดีมากๆ ความคิดเช่นนั้นเป็นความคิดที่ผิด เพราะความดีที่เกิดนั้นย่อมมีผลน้อย อย่าคิดว่าทำชั่วไว้มาก ๆ แล้ว ก็จึงค่อยหันกลับมาทำความดี แล้วก็จะทำให้ได้กำไร เกิดเป็นผลบุญขึ้นอีกมากมายได้ตามที่ใจตนเองคาดเดาเอาไว้เลยเป็นอันขาด เรื่องของคุณท้าวแฟง ที่สร้างวัดคณิกาผลนี่นั้นนับว่าเป็นอุทาหรณ์ ที่น่าสังวรอยู่ไม่น้อยเลย จริง ๆ ทีเดียว

 ที่มา : หนังสือ " เรื่องเขา เล่ากันมา "

ลุงเริญ:
 :11 :11 :11 สาธุ สาธุ สาธู

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version