กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิก.

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
การค้นหาขั้นสูง  

ข่าว:

ผู้เขียน หัวข้อ: พระเอกตลอดกาล (ภาค2)  (อ่าน 3980 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ลุงชัยนรา

  • ความเปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร์
  • ชาวบ้านกิตติมศักดิ์
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 3715
  • กระทู้: 910
  • Thank You
  • -Given: 3245
  • -Receive: 3715
  • ชีวิตนี้ยอมพลี เพื่อแผ่นดิน
พระเอกตลอดกาล (ภาค2)
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2013, 02:40:28 AM »
...เรามาต่อกัน ในภาค 2 นะครับ เพราะมันยาว จน ส่งไม่หมดในภาคแรก.....

.....ครั้งหนึ่งจ่าเชษฐ์ ได้บอกว่าอยากจะเป็นพระเอกหนังไทยกับเพื่อน ๆ เพราะผิดหวังที่จะเป็นนักบินมาแล้ว บำเทอง ได้หลอกให้จ่าเชษฐ์ ไปถ่ายภาพที่ห้องภาพสุวรรณ ซึ่งเป็นห้องภาพที่ดาราชอบไปถ่าย แล้วนำรูปไปแจกจ่ายให้คนรู้จักได้ดูจนภาพถ่ายไปถึงมือจ่าสมจ้อย จ่าสมจ้อยจึงไปพบจ่าเชษฐ์ และได้สอบถามว่าอยากจะเป็นพระเอกหนังไทยหรือเปล่า พอได้รับคำตอบ จ่าสมจ้อยได้เอารูปไปให้คุณกิ่ง แก้วประเสริฐ(ก.แก้วประเสริฐ) ดู คุณกิ่งได้แอบมาดูตัวจ่าเชษฐ์ที่ป้ายรถเมล์แถวดอนเมือง จากนั้นก็เข้าไปทักจ่าเชษฐ์ และให้จ่าเชษฐ์มาพบที่โรงพิมพ์หนังสือดาราไทยในวันรุ่งขึ้น คุณกิ่ง แก้วประเสริฐ ได้นำรูปไปให้คุณสุรัชต์ พุกกะเวส ดู พอวันรุ่งขึ้นจ่าเชษฐ์ ก็มาที่โรงพิมพ์ดาราไทย คุณสุรัชต์ ดูตัวแล้วรู้สึกพอใจ แต่ติงตรงที่ทรงผมของจ่าเชษฐ์ เท่านั้นที่ต้องปรับปรุง คุณสุรัชต์ ได้พาจ่าเชษฐ์ไปพบกับคุณสุพรรณ พราหมพันธ์ ที่เตรียมจะสร้างภาพยนต์เรื่อง เล็บครุฑ คุณสุพรรณ ติงว่า สูงเกินไป ท่าทางก็เก้ๆ กังๆ ไม่เหมาะกับบท ชีพ ชูชัย จ่าเชษฐ์ ต้องพบกับความผิดหวัง ต่อมาคุณสุรัชต์ ก็พาไปพบกับคุณศิริ ศิริจินดา ที่เตรียมจะสร้างเรื่อง เห่าดง เช่นเคย คุณศิริ ได้พระเอกใหม่แล้วคือ ไชยา สุริยัน จ่าเชษฐ์ หมดหวังกลับเข้ากรมกอง เป็นครูฝึกอย่างเดิม
 เพราะอยากเป็นพระเอก เขาเดินไปสมัครงานตามกองถ่าย โดยมี คุณกิ่ง แก้วประเสริฐ นักข่าวบันเทิงหนุ่มในยุคนั้น เป็นคนพาไปโชว์ตัวตามกองถ่ายหนัง ใช้เวลานานถึง 6 เดือน ก็ยังไม่ได้งานแสดงหนัง เพราะบทอื่นๆ มิตรเขาไม่ยอมเล่น เขาต้องเป็นพระเอกอย่างเดียวเท่านั้น จนในที่สุด คุณกิ่ง ไปขอร้อง คุณสุรัตน์ พุกกะเวช ผู้ใหญ่ของวงการบันเทิงในยุคนั้น ให้ช่วยอีกแรง เพราะเห็นในความเอาจริง เอาจัง  และแล้ว จ่าเชษฐ์ ก็ได้เป็นพระเอกสมใจ
     ต่อมาปี พศ. ๒๔๙๙  จ่าเชษฐ์ ได้รับโทรศัพท์จากคุณกิ่ง(ก.แก้วประเสริฐ)ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ เพื่อฝากฝังให้ได้เล่นหนังเพราะเห็นหน่วยก้านของมิตร ประกอบกับบุคลิกภาพที่สุภาพอ่อนโยน กระทั่งได้พบกับภราดร ศักดานักเขียนนวนิยายชื่อดัง ภราดรได้พาไปพบผู้สร้างหนังหลายรายแต่ถูกปฏิเสธต่อมาได้รับโทรศัพท์ว่าให้มาพบคุณสุรัชต์ด่วน จ่าเชษฐ์ไปพบคุณสุรัชต์ อย่างไม่มีหวังอะไร คุณสุรัชต์ พาจ่าเชษฐ์ ไปพบคุณรังสรรค์ ตันติวงศ์ ทีมงานผู้สร้าง ชาติเสือ    ซึ่งวางตัวเอกไว้แต่แรกคือ  ชนะ ศรีอุบล แต่คุณประทีป โกมลภิส ต้องการดาราหน้าใหม่ การดูตัวได้ผล จ่าเชษฐ์ได้แสดงภาพยนต์เป็นพระเอก และใช้ชื่อในการแสดงว่า มิตร ชัยบัญชา จึงได้รับ จ่าพิเชษฐ์ พุ่มเหม เข้าสู่วงการหนังไทย ก่อนตั้งชื่อให้ประทีปตั้งคำถามให้มิตรตอบ 2 ข้อ คือ

    ข้อ ๑นชีวิตสิ่งใดสำคัญที่สุด มิตรตอบว่า "เพื่อนครับ" งั้นดีให้ใช้ชื่อใหม่ว่า "มิตร" ก็แล้วกัน ประทีปบอกจึงเป็นที่มาของชื่อมิตร
    ข้อ ๒ ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด มิตรตอบอย่างไม่ลังเลว่า "ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ" เพราะมิตรได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด และนี่คือที่มาของนามสกุล "ชัยบัญชา"


     ชาติเสือ เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำแถวอำเภอโคกสำโรง ลพบุรี    และออกฉายเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2501 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงและศาลาเฉลิมบุรี สร้างจากบทประพันธ์ของ “อรวรรณ” (เลียว ศรีเสวก) กำกับการแสดงโดยประทีป โกมลภิส ถือเป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของพระเอกมิตร ชัยบัญชา รับบทเป็นไวย ศักดา โดยแสดงคู่กับเรวดี ศิริวิไล ร่วมด้วยวิน วันชัย ดาวร้ายของเรื่องกับน้ำเงิน บุญหนัก  ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาคต่อของภาพยนตร์เรื่อง ไพรกว้าง ที่ เกชา เปลี่ยนวิถี เคยแสดงไว้เมื่อปี พ.ศ. 2499 กำกับโดย วสันต์ สุนทรปักษิณ ของละโว้ภาพยนตร์
ภาพถ่ายจากภาพยนตร์เรื่องแรก “ชาติเสือ” มิตร ชัยบัญชา มีส่วนสูง 185 ซ.ม. เป็นรูปร่างของชายชาตรี มาตรฐานหนังฝรั่งในสมัยนั้น
        ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เริ่มถ่ายทำในปลาย พ.ศ. 2500 และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2501 ภาพยนตร์ทำรายได้กว่าแปดแสนบาท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากของสมัยนั้น ทำให้ชื่อของ มิตร ชัยบัญชา เป็นที่รู้จักของประชาชน
     ชาติเสือ เป็นเรื่องราวของ ไวย ศักดา หนุ่มนักสู้ผู้ไม่รู้จักคำว่าถอย เขารักศักดิ์ศรีของความเป็นชายถึงยอมเอาชีวิตเข้าแลก
       ชื่อมิตร ชัยบัญชา เป็นที่รู้จักของประชาชนจากบท "โรม ฤทธิไกร"หรือ"อินทรีแดง" ในภาพยนตร์เรื่องจ้าวนักเลง (๒๕๐๒)ผลงานเรื่องที่สองที่ออกฉาย ทำให้มิตร ชัยบัญชามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมาก ทำรายได้เกินล้านบาท มิตรมีผลงานแสดงที่โดดเด่นมากและหลากหลาย ทั้งบทบู๊ รักกุ๊กกิ๊ก รักรันทด ตลก เชยเด๋อด๋า หรือชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา


ในปี ๒๕๐๒ นี้เองมิตร ชัยบัญชา จดทะเบียนสมรสอย่างเงียบๆ กับคุณจารุวรรณ จนได้กำเนิดลูกชายในปี ๒๕๐๔ ตั้งชื่อลูกว่าต้นหรือยุทธนา แต่ชีวิตสมรสก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องหย่าร้างในที่สุด, ชีวิตคู่หลังจากนั้นอยู่กินกับกิ่งดาว ดารณีแบบไม่เปิดเผย ตามสมัยนิยมของดาราสมัยนั้น
        ปลายปี ๒๕๐๔ มิตรประสบอุบัติเหตุ จากการเดินทางไปดูสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่องทวนสุริยะของปรีชา บุญยเกียรติ เป็นเหตุให้สะบ้าแตก หน้าแข้งหัก กะโหลกศีรษะกลางหน้าผากเจาะและฟันหน้าบิ่น อุบัติเหตุในครั้งนั้นยังผลให้คุณปรีชา บุญยเกียรติเสียชีวิต
         พศ. ๒๕๐๖ จำต้องลาออกจากอาชีพทหารอากาศ ขณะมียศจ่าอากาศโท เนื่องจากการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ครุฑดำ ซึ่งถูกกล่าวหาว่านำสัญลักษณ์ตราครุฑมาใช้อย่างไม่เหมาะสม ครุฑดำจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น เหยี่ยวดำ
มิตร ชัยบัญชา กล่าวกับแฟนๆ ที่หน้าโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงขณะยืนแจกภาพถ่ายในเครื่องแบบทหารอากาศ ในวันที่ “เหยี่ยวดำ” เข้าฉาย เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ว่า
“…ถึงแม้ว่าได้เลือกอาชีพการแสดงภาพยนตร์เพื่อการเลี้ยงชีพ แต่ทั้งร่างกายและจิตใจของผม คือ ทหาร ผมรักเครื่องแบบทหาร ชื่อเสียงความนิยมที่ประชาชนมอบให้ผมในฐานะนักแสดง ผมก็ถือว่าเป็นชื่อเสียงของกองทัพอากาศเช่นกัน การให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกครั้ง ผมไม่เคยลืมที่จะกล่าวถึง การเป็นทหารอากาศ มากกว่าการให้สัมภาษณ์อย่างอื่น ถึงแม้ว่าการแสดงจะเป็นภาระจนทำให้ผมต้องตัดสินใจลาออก แต่จิตใจของผมและทั้งตัว คือ ทหารอากาศ…”

     หลังจากนั้นจึงใช้เวลาอย่างเต็มที่กับการแสดง ผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อมาได้แก่ จำเลยรัก สิงห์ล่าสิงห์ ชุมทางเขาชุมทอง ฟ้าเคียงดิน จุฬาตรีคูณ โทรโศก วิมานไฟ ฯลฯ ในช่วงนั้นมิตรมีรายได้เข้าบัญชีธนาคารเฉลี่ยสัปดาห์ละหนึ่งแสนกว่าบาท ซึ่งเขาก็สละเวลาหนึ่งวันในแต่ละปีเพื่อไปชำระภาษีอากรให้กับภาครัฐ
     
พศ. ๒๕๐๘ มิตร ชัยบัญชาและพิสมัย วิไลศักดิ์ ได้รับพระราชทาน รางวัลดาราทอง จากคุณสมบัติ ๔ ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี น้ำใจ
       ต่อมาแสดงภาพยนตร์เรื่อง เงิน-เงิน-เงิน เป็นภาพยนตร์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม ๓๕ มม. ระบบซูเปอร์ซีเนสโคปสีอิสต์แมน ร่วมแสดงกับ เพชรา เชาวราษฎร์, ชรินทร์ นันทนาคร, สุมาลี ทองหล่อ, สุเทพ วงศ์กำแหง, อรสา อิศรางกูล ณ อยุธยา ทำรายได้มากเป็นประวัติการณ์ สืบเนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ มิตรและเพชรา ได้รับโล่รางวัลพระราชทานจากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงเมื่อ พศ. ๒๕๐๙ ในฐานะที่ภาพยนตร์เรื่อง เงิน-เงิน-เงิน ทำรายได้สูงสุด

๑๓ มีนาคม พศ. ๒๕๑๐ มิตร ชัยบัญชา ขอเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอดุสิตตั้งชื่อสกุลว่า "ชัยบัญชา" หลังจากอยู่วงการภาพยนตร์ร่วม ๑๐ ปี โดยตามบัตรประชาชนใบใหม่ที่ออกให้เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พศ. ๒๕๑๒ หมดอายุวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๑๘ ใช้ชื่อและนามสกุลว่า พิเชษฐ์ ชัยบัญชา
                 มิตร ชัยบัญชาได้ผันตัวเองเข้าสู่การเมือง ในขณะนั้นมิตร ถือว่ามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นพลุแตก ปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้มิตรหวังว่าชื่อเสียงเหล่านี้จะสามารถชนะใจประชาชนเหมือนเช่นการแสดงภาพยนตร์ ทำให้ตัดสินใจหยั่งเสียงตัวเองเป็นครั้งแรกด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ในนามกลุ่มหนุ่ม เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๑ หาเสียงในเขตบางรัก ยานนาวา สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่เขาก็ไม่ได้รับเลือก

ต่อมา ในปี ๒๕๑๒ ได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อพิสูจน์ความนิยมในตัวเองอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ระดับท้องถิ่นอีกต่อไป เพราะเขาได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเขตพระนคร แข่งกับปราโมทย์ คชสุนทร แต่ก็ไม่ได้รับเลือกเป็นครั้งที่ ๒

         จากการลงสมัครเลือกตั้งนี้เองทำให้เงินทองและทรัพย์สินของมิตรร่อยหรอลงไป พร้อมกับบ้าน ๑ หลังที่จำนองไว้กับธนาคาร เขาเก็บความผิดหวังไว้เงียบๆ เข้าป่าไทรโยคที่กาญจนบุรี ไปกับรังสี ทัศนพยัคฆ์และอีกความเจ็บปวดคือ หญิงคนรักได้ตีห่างจากไป หลังจากออกจากป่า เขาพยายามสู้ใหม่โดยเคลียร์คิวหนังอีก ๒ เรื่อง เรื่องแรกไปถ่ายที่ญี่ปุ่นอีกเรื่องไปถ่ายที่ปีนัง เขาได้รับงานหนังอีกหลายเรื่อง เช่นสมิงบ้านไร่ ทับเทวา จอมโจรมเหศวร สาวเครือฟ้า แสนรัก ฟ้าเพียงดิน ไอ้หนึ่ง ชาติลำชี ฯลฯ


           เขารวบรวมที่ดินทั้งหมดที่มีอยู่จำนองกับธนาคารเอเชีย ๔ ล้าน ๖ แสนบาท และจำนองบ้านพักทั้ง ๓ หลังรวมทั้งขายที่ดินที่จังหวัดสระบุรีอีก ๗ แสนบาทนำเงินทั้งหมดไปซื้อที่ดินตรงเชิงสะพานผ่านฟ้า เนื้อที่ ๔๑๕ ตารางวา เพื่อลงทุนสร้างโรงภาพยนตร์ขนาดมาตรฐานเพื่อฉายหนังไทยโดยเฉพาะ และในปี พศ. ๒๕๑๓ นี้มิตรยังได้มีการแสดงภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฮ่องกงเรื่องอัศวินดาบกายสิทธิ์ โดยได้แสดงร่วมกับเดวิดเจียงและกว่างหลิง



ภาพยนตร์ที่แสดงร่วมกับ สมบัติ เมทนี
          ในปีเดียวกันนี้ ได้แสดงภาพยนตร์ร่วมกับเพชราอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ของรังสีทัศนพยัคฆ์  ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างสูง ฉายในกรุงเทพได้นานถึง ๖ เดือน ทำรายได้เฉพาะในกรุงเทพฯ มากกว่า ๖ ล้านบาท รายได้ทั่วประเทศกว่า ๑๓ ล้านบาท ปลุกกระแส มิตร-เพชราขึ้นมาอีกครั้ง และเกิดความนิยมเพลงลูกทุ่งในกรุงเทพเป็นปรากฏการณ์


     โครงการที่จะสร้างโรงภาพยนตร์ชัยบัญชาที่เชิงสะพานผ่านฟ้า ตรงข้ามกับศาลาเฉลิมไทยได้กระทำพิธีทางศาสนาเรียบร้อยแล้ว ในปีนี้นอกจากแสดงภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฮ่องกงร่วมกับ เดวิดเจียงและกว่างหลิงแล้ว ยังเริ่มโครงการสร้างภาพยนตร์ของตนเองโดยทำหน้าที่ทั้งแสดงนำและกำกับการแสดงเองเป็นเรื่องแรก ในเรื่อง"อินทรีย์ทอง" โดยจะเป็นการกลับมาอีกครั้งของอินทรีแดงหรือโรม ฤทธิไกร ที่ต้องออกสืบหาอินทรีแดงตัวปลอม โดยมีผู้ร่วมแสดงคือเพชรา เชาวราษฎร์เป็นวาสนา แฟนของโรม และครรชิต ขวัญประชารับบทเป็นอินทรีแดงปลอม การถ่ายทำดำเนินมาด้วยดีจนถึงปลายเรื่องในฉากสุดท้าย ที่ต้องเข้าปราบปรามคนร้ายแล้วก็ต้องหนีตำรวจออกจากรังของคนร้าย โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ มิตรได้เลือกสถานที่ถ่ายทำที่หาดดงตาล พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี และตกลงการถ่ายทำฉากสุดท้ายของเรื่องในเช้าวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๓ เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา

        ฉากสุดท้ายมิตรได้ดัดแปลงจากบทประพันธ์เดิม โดยสมมุติว่าวาสนา (เพชรา) เป็นผู้ขับเฮลิคอปเตอร์มารับโรม (อินทรีทอง) และมิตรซึ่งรับบท โรม ฤทธิไกร จะต้องวิ่งหนีตำรวจมาโหนบันไดเชือกของเฮลิคอปเตอร์ที่บินมารับ แล้วปีนบันไดขึ้นไป กล้องก็จะตามเก็บภาพให้เห็นเฮลิคอปเตอร์พาอินทรีทองลับหายไป     เพื่อให้สมจริงในการถ่ายทำฉากนี้ มิตรตกลงจะแสดงด้วยตัวเอง ได้วิ่งกระโดดเกาะบันไดเชือกของเฮลิคอปเตอร์ โดยมือซ้ายเกาะอยู่ที่ขั้นที่ ๔  มือขวาอยู่ที่ขั้นที่ ๓ และตามที่ได้ตกลงก่อนถ่ายทำว่า ถ้านักบินได้รู้สึกถึงแรงถ่วงที่บันไดให้นำเครื่องขึ้นได้ทันที ดังนั้นนักบินซึ่งจะมองไม่เห็นนักแสดง จึงได้นำเครื่องขึ้นทันที ด้วยแรงกระตุกขอเฮลิคอปเตอร์ ทำให้ข้อมือเคล็ดไม่มีแรงปีนขึ้นบันได ต้องห้อยตัวอยู่ที่บันได และเมื่อเครื่องขึ้นก็มีทั้งแรงลมจากเฮลิคอปเตอร์และแรงลมธรรมชาติ พัดให้ตัวปลิวสะบัดอยู่กลางอากาศกระทั่งข้อมือหัก และในจังหวะที่เครื่องเลี้ยวกลับทำให้มีแรงเหวี่ยงรุนแรงเป็นเหตุให้มิตรร่วงลงมาร่างกระแทกพื้น ริมจอมปลวกใกล้หนองน้ำ บริเวณแหลมไม้รวก หาดดงตาลพัทยาใต้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ ตุลาคม พศ. ๒๕๑๓ เวลา ๑๖.๑๓ นาฬิกา ทำให้เสียชีวิตเกือบจะทันที

        ศพของเขาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดแคนางเลิ้ง มีประชาชนหลั่งไหลเข้ามาร่วมงานหลายหมื่นคน จนพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้องย้ายไปวัดเทพศิรินทร์ มีประชาชนมาร่วมงานกว่าสามแสนคน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่าเป็นงานศพของสามัญชนที่มีคนมาร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ตลอดระยะเวลา ๑๓ ปีกว่า มิตร ชัยบัญชาแสดงหนังทั้งหมด ๒๖๖ เรื่อง แต่เขาไม่เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนใหญ่เป็นหนังขนาด ๑๖ มม. มีขนาด ๓๕ มม. เสียงในฟิล์มเพียง ๑๖ เรื่อง แสดงคู่กับนางเอกมากกว่า ๒๙ คน โดยแสดงคู่กับเพชรา เชาวราษฎร์มากที่สุดถึง ๑๗๒ เรื่อง

         ทุกวันที่ ๘ ตุลาคมของทุกปีจะเป็นวันครบรอบการจากไปของมิตร ชัยบัญชา ผู้ซึ่งให้ความสุขกับผู้คนใต้ฟ้าเมืองไทยบนจอภาพยนตร์มานานถึง ๑๓ ปี, เสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ ตุลาคม พศ.๒๕๑๓ เวลา ๑๖.๑๓ นาฬิกา ขณะมีอายุ ๓๖ ปี อย่างไรก็ตามในหัวใจของชาวไทย ยังคงมีดาราทองคนนี้อยู่ตลอดกาล "มิตร ชัยบัญชา"

ขอขอบคุณ ข้อมูล บางส่วนจาก วิกิพีเดีย บางส่วน จาก หนังสือวันมิตร ชัยบัญชา รำลึก ๘ ตุลาคม ๒๕๓๙ มูลนิธิหนังไทยในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ บางส่วนจาก. คุณ พักรบ กระทู้ www.thaifilm.com
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต ทุกเวปไซด์
ขอขอบคุณ อ. ลือ ผู้ฝึกสอนการวางภาพ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 08, 2013, 10:17:19 AM โดย ลุงชัยนรา »
บันทึกการเข้า

** กระทู้แรกที่ควรอ่านเมื่ออยู่บ้านเพลงไทย **

ชญาดา

  • กรรมการบ้านเพลงไทย
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 3031
  • กระทู้: 959
  • Thank You
  • -Given: 2112
  • -Receive: 3031
Re: พระเอกตลอดกาล (ภาค2)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 08, 2013, 07:44:10 AM »
วันนี้ เป็นวัน ครบรอบการจากไปของ พระเอกยอดนิยมตลอดกาล มิตร ชัยบัญชา เขาเสียชีวิตเมื่อ วันพฤหัสที่ 8 ตุลาคม 2513 จากไปแล้ว 43 ปี แต่ยังอยู่ในใจของแฟนหนังของเขาอย่างไม่มีวันลืม  เขาคงไปเกิดแล้วค่ะ   ขอบคุณกับเรื่องราวของเขาด้วยค่ะ


บันทึกการเข้า