สโมสรบ้านเพลงไทย > ห้องพระ
วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย
ลุงชัยนรา:
วันนี้อยากจะแนะนำสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวตากใบให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากวัดแห่งนี้จัดเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ทำให้ไทยไม่ต้องเสียดินแดนให้กับต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีอาคาร สถานที่และถาวรวัตถุเป็นแบบไทยที่สร้างมาอย่างวิจิตรพิสดารทรงคุณค่าในเชิงศิลป์ยากยิ่งที่คนต่างชาติจะสร้างสรรค์ได้ ดังนั้นเราในฐานะคนไทยควรที่จะรู้จักวัดแห่งนี้ไว้นะครับ
วัดชลธาราสิงเหเป็นวัดขนาดใหญ่ ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลเจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ริมฝั่งแม่น้ำตากใบ เชื่อกันว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นคู่กับชุมชนชาวพุทธในตากใบ เดิมชื่อว่า "วัดท่าพรุ" เพราะเดิมก่อน ที่สร้างวัดนี้มีท่าเรืออยู่ก่อนแล้ว ชาวบ้านเล่ากันว่าเมื่อมาจากบ้านจะไปท่าเรือ ต้องข้ามพรุนา มาก่อนจะถึงท่าเรือ จึงเรียกย่อคำว่าท่าพรุ บางคนบ้างก็เรียกว่า "วัดเจ๊ะเห" ก็เพราะว่าแม่น้ำหน้าวัดนี้ ต่อเนื่องมาจากหน้าหมู่บ้านเจ๊ะเห
ท่านพระครูโอภาส พุทธคุณ (พุด) เป็นผู้เริ่มก่อตั้งวัดนี้ขึ้นและต้องไปขอที่ดินจากพระยากลันตันเพื่อที่จะสร้างวัด เมื่อ พ.ศ. 2403 สมัยนั้นดินแดนตากใบยังเป็นของรัฐกลันตันอยู่ วัดนี้มีส่วนเกี่ยวพันกับกรณีแบ่งแยกดินแดนตากใบประเทศสยามกับประเทศมลายู ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษในขณะนั้น (สมัยรัชกาลที่ 5) โดยฝ่ายไทยได้มีการยกเอาพระพุทธศาสนา วัดและศิลปะในวัดเป็นเครื่องต่อรองการแบ่งปันเขตแดน อังกฤษจึงยอมรับเหตุผลโดยให้นำเอาแม่น้ำโกลกตรงบริเวณที่ไหลผ่านเมืองตากใบ (แม่น้ำตากใบ) เป็นเส้นแบ่งเขตแดน วัดนี้จึงรู้จักในอีกนาม หนึ่งว่า วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย
วัดชลธาราสิงเหนอกจากเป็นวัดที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองแล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดที่มีศาสนสถานที่เก่าแก่ซึ่งล้วนแต่มีศิลปะงดงามหลายอย่าง อาทิเช่น อุโบสถ กุฏิ และศาลาราย เป็นต้นครับ
อุโบสถของวัดชลธาราสิงเหซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ.2416 ภาพเขียนฝาผนังภายในโบสถ์เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติที่สอดแทรกภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นไว้เด่นชัดและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปิดทองทั้งองค์ทำให้ไม่เห็นลักษณะเดิมที่ พระโอษฐ์เป็นสีแดง พระเกศาเป็นสีดำ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกทรงสอบสูงประมาณ 1.5 เมตรมีรูปแบบคล้ายกับพระมอญ ซึ่งชาวตากใบจะเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พ่อท่านใหญ่” ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ เวลาเรารู้สึกกลัวหรืออยากสมหวังเรื่องใด ผู้ใหญ่มักจะบอกว่าให้อธิฐานถึงพ่อท่านใหญ่ ท่านจะช่วยคลี่คลายปัญหาและให้เราสมปรารถนาในสิ่งที่ขอ พ่อท่านใหญ่เป็นพระพุทธรูปที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นที่นับถืออย่างมากของคนตากใบครับ
จะว่าไปแล้วจุดเด่นของอุโบสถแห่งนี้ก็คือภาพวาดบริเวณเชิงชายหลังคาโดยรอบ ซึ่งทำเป็นช่องขนาดเล็ก มีภาพวาดภายในช่องและกรุกระจกใส ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นภาพบรรยายถึงเรื่องอะไร ท่านเจ้าอาวาสสันนิษฐานว่าอาจเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก บางคนสันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพวิถีชีวิตชาวพื้นเมือง
ในสมัยหนึ่งมีพระผู้ใหญ่มาจากกรุงเทพฯ เห็นว่าภาพวาดรอบนอกอุโบสถนั้นเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมในทางศาสนา เนื่องจากมีภาพวาดหญิง-ชายคู่กันหลายภาพ และอยู่ในระดับสูงกว่าองค์พระประธานภายในอุโบสถ พระผู้ใหญ่จึงให้ทาสีทับปิดกระจกเพื่อไม่ให้เห็นภาพเหล่านี้ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นติดกระจกสีแทน แต่เมื่อท่านพระครูประจันตนเขตคณานุรักษ์เจ้าอาวาสคนปัจจุบันได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านเห็นว่าอุโบสถต่างๆ ในกรุงเทพฯ ยังมีรูปหญิงชายมากมาย ทั้งรูปที่เชิงชายรอบอุโบสถยังเป็นศิลปะที่สวยงามและไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน จึงให้ถอดกระจกสีออกและกรุกระจกใสแทน
ขุนสมานธาตุวฤทธิ์ หรือ เปลี่ยน กาญจนรัตน์ นายอำเภอตากใบคนแรก ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดชลธาราสิงเห "วัดชลธาราสิงเห" หมายถึง วัดที่ต่อติดกับแม่น้ำ สิงเห นี้หมายถึงชื่อท่านพระครูโอภาสพุทธคุณ ที่ท่านมีบุญฤทธิ์มาก ออกชื่อท่านบุคคลย่อมเกรงกลัวทั่วไปดั่งราชสีห์ จึงเอาแม่น้ำและบุญฤทธิ์ดังราชสีห์มารวมย่อๆ ว่า วัดชลธาราสิงเห ถือเป็นวัดพิทักษ์แผ่นดินไทยที่ทำให้ดินแดนแถบนี้พ้นจากการเข้ายึดครองของอังกฤษ เนื่องจากรัฐบาลไทยกล่าวว่าวัดนี้เป็นโบราณสถานและใช้เป็นข้ออ้างในการปักเขตแผ่นดินในปี พ.ศ. 2441 ในบริเวณนอกจากพระอุโบสถแล้วยังมีสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีความงดงามทางศิลปกรรมปรากฏแก่ผู้คน ได้แก่
- องค์พระเจดีย์ ฐานสี่เหลี่ยม ล้อมด้วยกำแพงแก้วและสถูปทรงระฆังคว่ำ
- หอพระนารายณ์ ฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐ หลังซ้อน 4 ชั้น มุงกระเบื้อง มุมหลังคาแต่ละชั้นประดับด้วยหัวนาค หลังคาชั้นที่ 4เป็นฐานรองยอดหล่อด้วยซีเมนต์ เป็นรูปมงกุฎ
- กุฏิ ก่อสร้างเป็นทรงไทยพื้นเมือง หลังคามุงกระเบื้อง ประดับด้วยปูนปั้นและไม้ฉลุ ฝาผนังเป็นภาพจิตรกรรม
- ศาลา ลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะภาคใต้และจีน ตกแต่งด้วยใบระกา หางหงส์ ปูนปั้น
- วิหารเก่าด้านหลัง มีปูนปั้นรูปพระนารายณ์ 4 กร และเครื่องใช้ภาชนะสมัยราชวงศ์ซ้อง
นอกจากนี้ช่วงระดับประถม ลุงชัยยังเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัดชลธาราสิงเหซึ่งเป็นโรงเรียนประถมประจำอำเภอนี้อีกด้วย โรงเรียนจะอยู่ติดกับวัด เวลามีงานเทศกาลต่างๆ ก็จะไปร่วมด้วย และบางวิชาคุณครูก็ใช้บริเวณวัดซึ่งเงียบสงบ เป็นห้องเรียนกลางแจ้งสำหรับศึกษาหาความรู้ อีกทั้งยังมีเพื่อน ห้องเดียวกัน เป็นอารามบอย ของวัด อีก 2 - 3 คน เวลาพักกินข้าวเที่ยง ก็เดินไปอาศัยข้าวก้นบาตร ร่วมกับเพื่อนๆ ยิ่งเป็นงานเทศกาล ปีใหม่ สงกรานต์ จะไปช่วยเพื่อนหิ้วของ ที่พระบิณฑบาตรมาได้ วันนั้น อาหารการกิน ก็อุดมสมบูรณ์มาก ดังนั้นจึงรู้สึกผูกพันกับวัดแห่งนี้มาก โดยเฉพาะที่ศาลาท่าน้ำนี้ จะเป็นแหล่งรวมพล ของทะโมนไพร หนีโรงเรียน มานอนหลับ หรือแอบว่ายน้ำข้ามฝั่ง ไปเที่ยวชายหาด แล้วแอบ จิ๊ก น้ำตาลมะพร้าวของ ลุงๆ ชาวอิสลามแก้คอแห้ง แล้วก็ใช้มะพร้าวแห้ง ทำทุ่น ว่ายกลับมา วันที่ไปหาข้อมูล และเก็บภาพ ก็ได้ไปนั่ง ซึมซับ อดีต ความทรงจำ ที่ศาลาท่าน้ำตั้งนาน จนทหาร ที่ดูแลวัดอยู่ เฉียดใกล้มาดูตั้งหลายเที่ยว ก็เลยบอกความจริงเขาไป นั่งไปจนตะวัน ค่อยลาฟ้า จึงสลัดอดีตไป ขับรถคันปัจจุบัน กลับนราธิวาส
วัดชลธาราสิงเหยังเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทย ในเขตอำเภอตากใบและเขตพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งชาวมาเลเซีย...... โดยเป็นวัดในทางประวัติศาสตร์ และคู่บ้าน คู่เมืองของอำเภอตากใบตลอดมา บรรยากาศโดยทั่วไปในวัดชลธาราสิงเหนั้นเงียบสงบ และมีลานกว้างริมแม่น้ำที่จะมานั่งพักจิตใจได้ ความสงัดเงียบภายในบริเวณวัดชลธาราสิงเห รวมถึงลำน้ำตากใบที่ทอดยาวไหลนิ่งอยู่เบื้องหน้านั้น ไม่เพียงแต่ความงามเท่านั้นที่เป็นเรื่องน่าประทับใจ หากยังมีเรื่องราวของการแบ่งแยกดินแดนระหว่างสยามและอังกฤษในครั้งอดีต ทับซ้อนอยู่ให้เรียนรู้ ณ วัดปลายด้ามขวาน แห่งนี้.... เสียดานนะครับ ลุงชัยไม่สามารถโพสรูป ต่างๆ มาให้เพื่อนร่วมบ้านได้เห็นความ สวยงาม วิจิตรบรรจง ตามคำที่บรรยายมา เพราะความรู้น้อยด้านคอมพิวเตอร์ ไม่สามารถทำได้ สัญญาว่า หากได้เรียนรู้แล้ว จะนำภาพความสวยงาม ต่างๆย้อนกลับมาฝากครับ
***หมายเหตุ วัดชลฯ อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ราว 35 กม. เส้นทางสะดวก สบาย ปลอดภัย
เผ่าพงษ์ ปัตตานี:
ขอบคุณลุงชัยครับ ที่ช่วยเผยแพร่ของดีบ้านเราให้สังคมรับรู้....อย่างน้อยอดีตก็ได้สอนปัจจุบัน
ลือ:
วัดชลธาราสิงเห งดงาม และมีคุณค่ามากจริงๆครับ...ผมไม่เคยไป แต่เคยได้ยินกิตติศัพท์เล่าขานมานาน
ขอร่วมนำเสนอภาพภายในวัดนะครับ...ถ้าข้อมูลภาพคลาดเคลื่อน รบกวนแจ้งด้วยครับ
1.
2.
3
4
5
6
7
(ขอขอบคุณเจ้าของภาพครับ
-อัพโหลดภาพ เพื่อวาง... ต้องช่วงเช้าอย่างนี้จะไวหน่อยครับ
-ช่วงเย็นไปแล้ว ...สู้จำนวนผู้ขอใช้บริการทั่วไทย-ทั่วโลกไม่ไหว อัพภาพจะช้ามากครับพี่ชัย..บางทีก็หมดสิทธิ์)
ลุงชัยนรา:
ขอบคุณครูมากครับ ที่นำภาพมาประกอบ เวลาไปเยี่ยมสถานที่... ผมจะไปนั่งรำลึกถึงอดีตเป็นเวลาครึ่งค่อนวัน เพื่อเรียงร้อยเหตุการณ์ สู่ความทรงจำครับ...
1.ศาลาที่เห็นริมน้ำนั่นแหละ เป็นที่รวมพล ของเหล่า ทะโทนไพรในอดีต
2.นี่คือกุฎิเจ้าอาวาส ที่ลุงชัยได้อาศัยกินข้าวเที่ยง
3.กุฏิเจ้าอาวาส ด้านหลัง ต้นไม้ที่เห็น คือต้นมะม่วงคล้า มะม่วงพื้นเมือง ที่เกือบจะสูญพันธ์ ต้องขอบคุณคณะครูและศิษย์เก่า ให้ช่วยอนุรักษ์ไว้ และมะม่วงต้นนี้แหละ ที่ลุงชัยโดนตัวต่อ ต่อย ฐานขึ้นไปขย่มลูกมะม่วง ทำให้รังของมันกระทบกระเทือน
4.ศาลาหน้ากุฏิท่านเจ้าอาวาส สวยงามมาก
5.อุโบสถ ที่ปรับปรุ่งใหม่แล้ว แต่ยังรักษารูปลักษณ์เดิมๆ ไว้
6.ยักษ์หน้าโบสถ
7.หลวงพ่อปากแดง พระประธานในโบสถ
ดีใจมากที่ครูนำภาพมาช่วยย้อนอดีตความทรงจำดีๆ ที่รางเลือน ได้เจิดจ้าขึ้นมาอีกครั้ง
พีระ:
อยากไปเยี่ยมชมสักครั้ง แต่จากสถานการณ์เช่นปัจจุบันนี้ คงยากที่จะไปได้ ขอบคุณมากครับลุง
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version