กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิก.

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
การค้นหาขั้นสูง  

ข่าว:

ผู้เขียน หัวข้อ: ใครสามารถที่จะรับการอุทิศส่วนกุศลได้ ?  (อ่าน 9172 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

มหาสุ

  • **แก้ไข**
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 749
  • กระทู้: 135
  • Thank You
  • -Given: 323
  • -Receive: 749
ใครสามารถที่จะรับการอุทิศส่วนกุศลได้ ?
               ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ชาณุสโสณีสูตร พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เล่มที่ ๓๘ หน้าที่ ๔๓๕ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย มีใจความว่า [๑๖๖] ครั้งนั้นแล ชาณุสโสณีพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านโคดมผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าได้นามว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมให้ทาน ย่อมทำความเชื่อว่า ทานนี้ต้องสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอญาติสายโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วจงบริโภคทานนี้ ท่านโคดมผู้เจริญ ทานนั้นย่อมสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วหรือญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้นย่อมได้บริโภคทานนั้นหรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้นย่อมสำเร็จในฐานะแล ย่อมไม่สำเร็จในอฐานะ. ชา. ท่านโคดมผู้เจริญ ฐานะเป็นไฉน อฐานะเป็นไฉน พ. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตปองร้าย มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในนรกนั้น ด้วยอาหารของสัตว์นรก ดูก่อนพราหมณ์ ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นอฐานะ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้นย่อมตั้งอยู่ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้น ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ดูก่อนพราหมณ์ แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตไม่ปองร้าย มีความเห็นชอบ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกมนุษย์ เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพในมนุษยโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในมนุษย์นั้นด้วยอาหารของมนุษย์ ดูก่อนพราหมณ์ แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แลก็เป็นอฐานะ. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นชอบ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็น สหายของเทวดา เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเทวโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเทวโลกนั้น ด้วยอาหารของเทวดา ดูก่อนพราหมณ์ แม้ฐานะเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แลก็เป็นอฐานะ. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัย ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในเปรตวิสัย หรือว่ามิตร อำมาตย์ หรือญาติสาโลหิตของเขา ย่อมเพิ่มให้ซึ่งปัตติทานมัยจากมนุษยโลกนี้ เขาเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ด้วยปัตติทานมัยนั้น ดูก่อนพราหมณ์ ฐานะอันเป็นที่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นฐานะ. ชา. ท่านโคดมผู้เจริญ ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น. พ. ดูก่อนพราหมณ์ ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของทายกนั้น ที่เข้าถึงฐานะนั้นมีอยู่ ญาติสาโลหิตเหล่านั้นย่อมบริโภคทานนั้น.
ชา. ท่านโคดมผู้เจริญ ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่เข้าถึงฐานะนั้น และญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของทายกนั้นก็ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น พ. ดูก่อนพราหมณ์ ฐานะที่จะพึงว่างจากญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วโดยกาลช้านานเช่นนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ อีกประการหนึ่ง แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล.........
                 จากในพระสูตรนี้ แสดงให้เห็นว่า การอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ผู้ที่จะสามารถรับการอุทิศได้อย่างแท้จริงคือเปรต จำพวกเดียวเท่านั้น และในอดีตชาติช้านานหมู่ญาติที่ไปเกิดเป็นเปรตก็มีมากมาย ผู้ที่ไปเกิดในนรก สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา ไม่สามารถจะรับส่วนกุศลได้โดยตรง สัตว์นรกก็มีวิบากกรรมของเขาเป็นที่หล่อเลี้ยงอัตภาพ สัตว์เดรัจฉานก็มีอาหารของสัตว์ตามอัตภาพของเขา เช่น ใบไม้ใบหญ้าเป็นต้น มนุษย์ก็ดำรงชีพด้วยอาหารตามอัตภาพของมนุษย์ที่เราเป็นกันอยู่นี้ เทวดาท่านมีโภชนะทิพย์ตามผลบุญที่ท่านเสวย และการอุทิศนั้นบุญของผู้อุทิศก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่กลับจะเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น คือได้ทำทั้งทานมัย และ ปัตติทานมัย ( การอุทิศส่วนกุศล )


--------------------------------------------------------------------
            ใน ขัลลาติยเปติวัตถุ ขุททกนิกาย เปตวัตถุ พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เล่มที่ ๔๙ หน้าที่ ๙๒ มีเรื่องดังนี้ ได้ยินว่า ในอดีตกาล ในกรุงพาราณสี ยังมีหญิงผู้อาศัยรูปเลี้ยงชีพคนหนึ่ง รูปร่างสวย น่าดู น่าชม ประกอบด้วยผิวพรรณอันงดงามยิ่งนัก มีกำแห่งผมน่ารื่นรมย์ใจ. จริงอยู่ ผมของนางดำยาว ละเอียด อ่อนนุ่ม สนิท มีปลายตวัดขึ้น เกล้าเป็นสองแฉกสยาย ห้อยย้อยลงจนถึงสายรัดเอว. คนหนุ่มเห็นความงามแห่งเส้นผมของนางนั้น โดยมากมีจิตปฏิพัทธ์ในนาง. ลำดับนั้น หญิง๒-๓ คน ถูกความริษยาครอบงำ ทนต่อความงามของผมนางนั้นไม่ได้ จึงพากันปรึกษา เอาสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ล่อหญิงคนใช้ของนางนั่นเอง ให้หญิงคนใช้ให้ยาอันเป็นเหตุทำเส้นผมของนางให้หลุดร่วงไป. ได้ยินว่า หญิงคนใช้นั้น ประกอบยานั้นกับผงสำหรับอาบน้ำ ในเวลานางไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ก็ได้ให้แก่นาง นางเอาผงนั้นจุ่มที่รากผมแล้วดำลงไปในน้ำ. พอนางดำน้ำเท่านั้น เส้นผมพร้อมทั้งรากผม ได้หลุดร่วงไป. และศีรษะของนางได้เป็นเช่นกับกระโหลกน้ำเต้าขม. ลำดับนั้น นางหมดเส้นผมโดยประการทั้งปวง เหมือนนกพิราบถูกถอนขนหัว ฉะนั้น น่าเกลียดพิลึกเพราะความละอาย จึงไม่อาจเข้าไปในเมือง เอาผ้าคลุมศีรษะ สำเร็จการอยู่ในที่แห่งหนึ่งนอกเมือง พอ ๒-๓ วันผ่านไป นางหมดความละอาย กลับจากที่นั้นบีบเมล็ดงา กระทำการค้าน้ำมัน และทำการค้าสุรา เลี้ยงชีพ. วันหนึ่ง เมื่อคน ๒-๓ คน เมาสุราหลับสนิท นางจึงลักเอาผ้าที่คนเหล่านั้นนุ่งไว้หลวม ๆ. ภายหลังวันหนึ่ง นางเห็นพระขีณาสพเถระรูปหนึ่ง กำลังเที่ยวบิณฑบาต มีจิตเลื่อมใสจึงนำท่านไปยังเรือนของตน ให้นั่งบนอาสนะที่ตบแต่งไว้ ได้ถวายแป้งที่บีบในรางผสมกับน้ำมันงา. เพื่อจะอนุเคราะห์นาง พระเถระจึงรับประเคนแป้งผสมน้ำมันงานั้นฉัน. นางมีจิตเลื่อมใส ได้ยืนกั้นร่ม. และพระเถระนั้น เมื่อจะทำนางให้มีจิตร่าเริง จึงทำอนุโมทนากถาแล้วหลีกไป. ก็ในเวลาที่อนุโมทนานั่นแหละ หญิงนั้น ได้ตั้งความปรารถนาว่า พระคุณเจ้า ขอให้เส้นผมของดิฉันยาวละเอียด นุ่มสนิท ตวัดปลายเถิด.
 กาลต่อมา นางถึงแก่กรรม เพราะผลของกรรมที่คละกันจึงเกิดเป็นหญิงอยู่โดดเดี่ยวในวิมานทอง ท่ามกลางมหาสมุทร. เส้นผมของนางสำเร็จตามอาการที่เธอปรารถนานั้นแหละ. แต่เพราะนางลักเอาผ้าของพวกมนุษย์ นางจึงได้เป็นหญิงเปลือย. นางเกิดบ่อย ๆ ในวิมานทองนั้น เป็นหญิงเปลือยอยู่ตลอดพุทธันดรหนึ่ง. ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีโดยลำดับ พ่อค้าชาวกรุงสาวัตถี ๗๐๐ คน แล่นเรือไปสู่มหาสมุทร มุ่งไปยังสุวรรณภูมิ. นาวาที่พวกพ่อค้านั้นขึ้นไป ถูกกำลังลมพัดผันให้ปั่นป่วน จึงหมุนไปข้างโน้นข้างนี้ จนถึงประเทศที่นางเวมานิกเปรตนั้นอยู่. ลำดับนั้นนางเวมานิกเปรตนั้น จึงแสดงตนแก่พวกพ่อค้านั้น พร้อมด้วยวิมาน. หัวหน้าพ่อค้าเห็นดังนั้น
เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถาว่า :-
 น้องสาวเป็นใครหนอ อยู่ในวิมานนี้ ไม่ยอมออกจากวิมานเลยนี่ น้องสาว จงออกมาเถิดน้อง พี่อยากจะเห็นน้องข้างนอก.
 ลำดับนั้น นางเวมานิกเปรตนั้น เมื่อจะประกาศ ตามที่ตนไม่อาจจะออกไปข้างนอกแก่พ่อค้านั้น จึงกล่าวคาถาว่า :-
 ดิฉัน เป็นหญิงเปลือยกาย มีแต่ผมปิดบังไว้ อึดอัด ละอาย ที่จะออกไปข้างนอก ดิฉันได้ทำบุญไว้น้อยนัก. ลำดับนั้น พ่อค้า ประสงค์ให้ผ้าห่มของตนแก่นางเวมานิกเปรตนั้น จึงกล่าวคาถาว่า :-
 แน่ะ น้องสาว คนสวย เอาเถอะ พี่จะให้ ผ้าห่มเนื้อดีแก่น้อง เชิญน้องนุ่งผ้าผืนนี้แล้ว จง ออกมาข้างนอก เชิญออกมาข้างนอกวิมานเถิดน้อง พี่จะขอพบน้องข้างนอก.
 ก็แล พ่อค้า ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงนำเอาผ้าห่มของตนไปให้แก่นาง. นางเวมานิกเปรต เมื่อจะแสดงความที่พ่อค้าผู้มอบผ้าห่มให้อย่างนั้น เป็นการอนุเคราะห์แก่ตน และการที่พ่อค้าให้ผ้าห่มอย่างนั้น สำเร็จประโยชน์ จึงกล่าว ๒ คาถาว่า :-
 ผ้านั้น ถึงพี่จะให้ที่มือของดิฉันเอง ด้วยมือของพี่ ก็ไม่สำเร็จแก่น้องได้ดอก ถ้าในหมู่มนุษย์นี้ มีอุบาสกผู้มีศรัทธา เป็นพระสาวกของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอพี่จงให้แก่อุบาสกนั้นนุ่งห่มผ้าที่พี่จะให้แก่น้องแล้ว ค่อยอุทิศส่วนกุศลให้น้อง เมื่อพี่ทำอย่างนั้น น้องก็จะได้นุ่งห่มผ้านี้ตามปรารถนา ประสพความสุข. . ( ความว่า ผู้นี้ชื่อว่า อุบาสก เพราะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และชื่อว่า ผู้มีศรัทธา เพราะประกอบด้วยความเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ย่อมมีอยู่ในที่นี้ คือในหมู่ประชุมชน )
          พวกพ่อค้าได้ฟังดังนั้น จึงให้อุบาสกนั้นอาบลูบไล้แล้วให้นุ่งผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง. พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย เมื่อจะประกาศข้อความนั้น จึงได้กล่าว ๓ คาถาว่า :-
 ก็พ่อค้าเหล่านั้น ยังอุบาสกนั้นให้อาบน้ำ ลูบไล้ด้วยของหอม แล้วให้นุ่งห่มผ้า อุทิศส่วนกุศลไปให้นางเวมานิกเปรตนั้น ในทันตาเห็นนั่นเอง วิบากย่อมเกิดขึ้นแก่นางเวมานิกเปรตนั้น โภชนะเครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม ย่อมเกิดขึ้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ในลำดับนั้น นางมีร่างกายบริสุทธิ์ นุ่งห่มผ้าอันสะอาด งามกว่าผ้าแคว้นกาสีเดินยิ้มออกมาจากวิมานประเทศว่า นี้เป็น ผลแห่งทักษิณา.
 ลำดับนั้นพวกพ่อค้านั้น ได้เห็นผลบุญโดยประจักษ์อย่างนี้ จึงเกิดอัศจรรย์จิต อย่างไม่เคยมีมาก่อน เกิดความเคารพนับถือมากในอุบาสกนั้น พากันกระทำอัญชลีกรรมเข้าไปนั่งใกล้อุบาสกนั้น. ฝ่ายอุบาสก ให้พ่อค้าเหล่านั้น เลื่อมใสในธรรมกถาโดยประมาณยิ่ง และให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีล. พวกพ่อค้านั้น จึงถามถึงกรรมที่นางเวมานิกเปรตนั้นกระทำไว้ ด้วยคาถานี้ว่า :-
 วิมานของท่านช่างงดงาม มีรูปภาพอันวิจิตรด้วยดี สว่างไสว ดูก่อนนางเทพธิดา อันพวกข้าพเจ้าทั้งหลายถามแล้ว ขอท่านจงบอกเถิดว่า นี้เป็นผลของกรรมอะไร ? นางเทพธิดานั้น ถูกพวกพ่อค้านั้นถามอย่างนี้แล้ว เมื่อจะบอกผลกรรมทั้ง ๒ อย่างนั้นว่า นี้เป็นผลของกุศลกรรมนิดหน่อยที่ดิฉันกระทำไว้เป็นอันดับแรก แต่สำหรับอกุศลกรรมจักเป็นเช่นนี้ ในนรกต่อไป ดังนี้ จึงได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า :-
 เมื่อดิฉันเป็นมนุษย์อยู่นั้น มีจิตเลื่อมใสได้ถวายแป้งคั่วอันเจือด้วยน้ำมัน แก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต มีจิตซื่อตรง ดิฉันได้เสวยวิบากแห่ง กุศลกรรมนั้น ในวิมานนี้ สิ้นกาลนาน ก็ผลบุญนั้น เดี๋ยวนี้ ยังเหลืออยู่นิดหน่อย พ้น ๔ เดือนไป แล้ว ดิฉันจักจุติจากวิมานนี้ จักไปตกนรกอันเร่าร้อนแสนสาหัส มี ๔ เหลี่ยม ๔ ประตู แบ่งเป็นห้อง ๆ ล้อมด้วยกำแพงเหล็ก ครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้นแห่งนรกนั้น ล้วนแล้วด้วยเหล็กแดง ลุกเป็นเปลวเพลิง ประกอบด้วยความร้อน แผ่ตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ ดิฉันจัก ต้องเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้น ตลอดกาลนาน ก็การเสวยทุกข์เช่นนี้ เป็นผลของกรรมชั่ว เพราะฉะนั้นดิฉันจึงเศร้าโศกอย่างแรงกล้า ที่จะไปเกิดในนรกนั้น.
เมื่อนางเทพธิดานั้น ประกาศผลแห่งกรรมที่ตนได้ทำไว้และภัยที่จะตกนรกในอนาคต อย่างนี้แล้ว อุบาสกนั้นมีความกรุณาเตือนใจ ให้คิดว่า เอาเถอะเราจักเป็นที่พึ่งของนาง แล้วกล่าวว่า ดูก่อนแม่เทพธิดา เธอสำเร็จความปรารถนาทุกอย่าง กลายเป็นผู้ประกอบด้วยสมบัติอันยิ่ง ด้วยอำนาจทานของเราผู้เดียวเท่านั้น แต่บัดนี้ เจ้าให้ทานแก่อุบาสกเหล่านี้แล้ว หวนระลึกถึงคุณแห่งพระศาสดา จักหลุดพ้นจากความเกิดในนรกได้. นางเปรตนั้น มีใจร่าเริง ยินดีกล่าวว่า ดีละ แล้วให้อุบาสกเหล่านั้น อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำอันเป็นของทิพย์ ได้ให้ผ้าทิพย์ และแก้วหลากชนิด. นางได้ถวายคู่ผ้าทิพย์ มุ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ในมือของอุบาสกเหล่านั้น แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นางเวมานิกเปรตตนหนึ่ง ขอฝากไหว้ด้วยเศียรเกล้าแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล้วจึงไปกรุงสาวัตถีแล้วส่งการถวายบังคมไปถึงพระศาสดาว่า ขอท่านทั้งหลายจงถวายบังคมพระศาสดา ตามคำของเราเถิด. และในวันนั้นนั่นเอง นางได้นำเอาเรือนั้นไปจอดยังท่าที่อุบาสกเหล่านั้นปรารถนา ด้วยอิทธานุภาพของตน.
 ลำดับนั้น พ่อค้าเหล่านั้น ออกจากท่านั้นแล้ว ถึงกรุงสาวัตถี
โดยลำดับ เข้าไปยังพระเชตวัน ถวายคู่ผ้านั้นแด่พระศาสดาและได้ให้พระองค์ทรงทราบถึงการฝากไหว้ของนางแล้วกราบทูลเรื่องนั้น ตั้งแต่ต้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว ทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่บริษัทผู้พรั่งพร้อมกันอยู่. พระธรรมเทศนานั้น ได้มีประโยชน์แก่มหาชน. ก็ในวันที่ ๒ อุบาสกเหล่านั้น ได้ถวายมหาทาน แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานแล้ว อุทิศส่วนบุญให้แก่นางเปรตนั้น. และนางได้จุติจากเปตโลกนั้นแล้ว บังเกิดในวิมานทอง ในภพชั้นดาวดึงส์ อันโชติช่วงไปด้วยรัตนะต่าง ๆ มีนางอัปสร๑๐๐๐ นางเป็นบริวาร.
 จบ อรรถกถาขัลลาฏิยะเปติวัตถุที่ ๑๐
 เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า คฤหัสถ์ที่เป็นอุบาสก หรืออุบาสิกา ที่มีศรัทธาถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างมั่นคง และมีศีล ๕ เป็นอย่างน้อย เชื่อในเรื่องกรรม ไม่ถือมงคลตื่นข่าว มีอาชีวะที่บริสุทธิ์ ( อาชีพที่ไม่ค้ามนุษย์ ไม่ค้าสัตว์มีชีวิต ไม่ค้าน้ำเมา ไม่ค้ายาพิษ ไม่ค้าอาวุธ ) ทำบุญในเขตแดนพระพุทธศาสนา เมื่อเราได้ทานแก่อุบาสก อุบาสิกา ที่มีศีล ก็อุทิศส่วนกุศลให้เปรตได้เช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้รับทานควรสำนึกตนว่าควรเป็นผู้รับที่ดีด้วยการเป็นผู้มีคุณสมบัติที่ดีตามคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา เพื่อว่าผู้ให้ทานจะได้บุญมากจากการให้ทานแก่เรา และยังแสดงให้เห็นอีกว่า อุบาสกที่ฉลาด ยังอนุเคราะห์แก่นางเปรต ด้วยกุศโลบายแนะให้ชาวเรือทั้งหมดสมาทานศีล แล้วแนะนำให้นางเปรตให้ทานแก่อุบาสกทั้งหมดนั้น.
             ในพระอภิธรรมแสดงถึงเปรตประเภทเดียวที่ได้รับส่วนกุศล คือปรทัตตูปชีวิเปรต แต่ในพระสูตรหรือในเปตวัตถุ แสดงถึงเวมานิกเปรตก็รับส่วนกุศลได้


ชบาบาน

  • ชาวบ้านเพลงไทยอาวุโส
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 382
  • กระทู้: 95
  • Thank You
  • -Given: 412
  • -Receive: 382
Re: ใครสามารถที่จะรับการอุทิศส่วนกุศลได้ ?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 12, 2013, 09:34:21 AM »
พนมมือกราบกรานท่าน"มหาสุ" ผู้เป็นกัลยาณมิตร  แลมีน้ำใจดุจห้วงสมุทร  ถ่ายทอดข้อความอันเป็นสารัตถะจากพระไตรปิฏก   มาให้เราเหล่าบัวในโคลนตม  ได้เสพรับเอาความรู้ความเข้าใจลึกซึ้งขึ้น กุศลเจตนาอันนี้จงบรรดาลให้ท่านประสพ
ความสุขความเจริญ  แลวิริยะธรรมกิจมุ่งพระนิพพานต่อไปเถิด
                        ด้วยจิตคารวะยิ่ง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 12, 2013, 09:36:18 AM โดย ชบาบาน »
บันทึกการเข้า