สโมสรบ้านเพลงไทย > ห้องสันทนาการ

เศรษฐกิจพอเพียง และคุณธรรม ๘ ประการ

(1/1)

ลุงชัยนรา:
                            เศรษฐกิจพอเพียง และคุณธรรม ๘ ประการ

              เศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economy) เป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ รวมถึงระดับรัฐบาลในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัส แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ และภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔0 ได้ทรงเน้นย้ำเป็นแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ       สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจ และสาขาอื่นๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัส เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙(พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๙) และได้จัดทำเป็นบทความเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และได้นำความกราบบังคลทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๒    โดยทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นำบทความที่ทรงแก้ไขแล้วไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไปในที่ ๒๑พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๒

                                       หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

         เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งจะต้องอาศัย ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง ในการนำวิชาต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน
   การนำไปใช้

          ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นกรอบแนวความคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑0 (พ.ศ. ๒๕๕0-๒๕๕๔) เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า สังคมสีเขียว (Green Society) ด้วยหลักการดังกล่าว แผนพัฒนาฯฉบับที่ ๑o นี้จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ หรือระบบเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเมืองและชนบท

คุณธรรม๘ ประการ

๑. ขยัน  ผู้ที่มีความขยัน คือผู้ที่ตั้งใจทำอย่าง จริงจังต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควร ผู้เป็นคนสู้งาน มีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญ  อุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง
๒. ประหยัด ผู้ที่มีความประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย รู้จักฐานะของตน คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออม
๓ซื่อสัตย์ ผู้ที่มีความซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งหน้าที่ ต่อวิชาชีพ ตรงต่อเวลา ปฏิบัติอย่างเต็มที่ถูกต้อง
๔. มีวินัย ผู้ที่มีวินัย เป็นผู้ปฏิบัติในขอบเขต กฏระเบียบ ของสถานศึกษา สถาบัน องค์กร และประเทศ
๕. สุภาพ  ผู้ที่มีความสุภาพ คือผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนตามสถาณภาพและกาลเทศะ ไม่ก้าวร้าวรุนแรง
๖. สะอาด ผู้ที่มีความสะอาด คือผู้ที่ฝึกจิตในให้สะอาดไม่ขุ่นมัว ทั้งร่างกายและจิตใจ
๗. สามัคคี ผู้ที่มีความสามัคคี คือผู้ที่เปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทในตนเองในฐานะผู้ฟังและผู้ตามที่ดี
๘. มีน้ำใจ ผู้ที่มีน้ำใจ คือผู้ที่มีความจริงใจต่อกันไม่เห็นแก่เพียงตัวเองหรือเรื่องของตัวเอง เห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งกัน

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version