สโมสรบ้านเพลงไทย > ห้องพระ

ครอบครัว (บาลีวันละคำ นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย)

(1/1)

มหาสุ:
ครอบครัว
บาลีว่าอย่างไร

ในวัฒนธรรมไทย ถ้าพูดว่า “มีครอบครัว” หมายถึงมีคู่ครอง
ภาษาไทยคำเก่าที่หมายถึงมีครอบครัวหรือมีคู่ครอง พูดว่า “มีเรือน” หรือ “ออกเรือน” มีมูลมาจากลูกแยกจากเรือนพ่อแม่ไปอยู่เรือนใหม่เนื่องในการมีคู่ครอง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ครอบครัว : (คำนาม) สถาบันพื้นฐานของสังคมที่ประกอบด้วยสามีภรรยาและหมายความรวมถึงลูกด้วย”

“ครอบครัว - คู่ครอง” ตามนัยที่กล่าวมานี้ คำในภาษาบาลีมีความหมายตรงกัน คือ “กุลฆร” อ่านว่า กุ-ละ-คะ-ระ ประกอบด้วย กุล + ฆร

“กุล” แปลตามศัพท์ว่า (1) “เครื่องผูกพัน” (2) “สิ่งที่ผูกพันกันไว้” (3) “นับรวมกันไว้” ความหมายที่เราเข้าใจกันก็คือ ตระกูล, วงศ์, สกุล, เชื้อสาย (clan, good family, lineage), ครอบครัว (household)

“ฆร” หมายถึง เรือน อย่างในคำว่า “ฆราวาส” = ผู้อยู่ครองเรือน
“ฆร” แปลตามศัพท์ว่า “ที่หลั่งไหลแห่งฝนคือกิเลส” คือเป็นสถานที่มนุษย์เสพสังวาสกัน

กุล + ฆร = กุลฆร แปลว่า “เรือนของตระกูล” (clanhouse หรือ household) หมายถึง สถานที่เพื่อการทำให้วงศ์สกุลสืบสายกันต่อไป

“กุลฆร” แต่เดิมหมายถึงสถานที่ แต่เมื่อความหมายขยายไปว่า “สถานที่เพื่อสืบวงศ์สกุล” น้ำหนักของคำก็เลื่อนไปอยู่ที่ “วงศ์สกุล” ดังนั้น ในภาษาบาลี “กุล” คำเดียวจึงหมายถึง “วงศ์สกุล” อันตรงกับคำว่า “ครอบครัว” ในภาษาไทย

ตามสภาพสังคมในปัจจุบัน “ครอบครัว” มีความหมายกว้างกว่าที่ พจน.54 ให้คำนิยามไว้ ทั้งนี้เพราะบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีความสัมพันธ์โดยทางส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่จำเพาะจะต้องเป็นสามีภรรยากันเสมอไป แต่มาใช้ชีวิตร่วมกัน บางทีอาจไม่มี “เรือน” ที่เป็นอาคารด้วยซ้ำไป ก็เรียกว่าเป็น “ครอบครัว” ได้เช่นกัน

: ครอบครัวมีอยู่ทุกวัน
: อย่าให้ความสำคัญเฉพาะวันครอบครัว

พีระ:
ขอบพระคุณมากครับอาจารย์มหาที่นำข้อความดีๆมาฝาก
คนที่เขียนเรื่องครอบครัวไว้ดีมากอีกท่านหนึ่งคือ อ.แย้ม ประพัฒน์ทอง ครับ

จำรัส พันธมิตร:
ห้องนี้ มีมหาเพียบแน่ๆ ท่านถอดรากศัพท์ วิเคราะห์ได้ขนาดนี้ กราบขอบพระคุณครับ

จำรัส พันธมิตร:
ท่านพี่ทองย้อยครับ ได้ไปเยี่ยมท่าน ผศ.รังษี บ้างหรือเปล่าครับ ตอนนี้ป่วยอยู่บ้าน

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version