สงกรานต์ [2]
ภาษาย้ายราศี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “สงกรานต์” ว่า -
“เทศกาลเนื่องในการขึ้นปีใหม่อย่างเก่า ซึ่งกําหนดตามสุริยคติ ปรกติตกวันที่ ๑๓-๑๔-๑๕ เมษายน วันที่ ๑๓ คือวันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ คือวันเนา และวันที่ ๑๕ คือวันเถลิงศก. (ส. สงฺกฺรานฺติ)”
คำว่า “(ส. สงฺกฺรานฺติ)” ในวงเล็บ หมายถึง คำว่า “สงกรานต์” ภาษาสันสกฤตเป็น “สงฺกฺรานฺติ” อ่านว่า สัง-กฺราน-ติ (ดูเพิ่มเติมที่ “สงกรานต์” บาลีวันละคำ (336) 13-4-56)
ที่มาของคำว่า “สงกรานต์” มีข้อสังเกตหลายประการดังนี้ -
(1) “สงฺกฺรานฺติ” เราเอามาอ่านว่า สง- ไม่ใช่ สัง-
“สงฺ-” จากบาลีสันสกฤตบางคำ เราเอามาใช้และอ่านว่า สัง- เหมือนคำเดิมก็มี เช่น “สงฺเกต” = สังเกต “สงฺขาร” = สังขาร “สงฺคม” = สังคม ใช้ทั้ง สัง- และ สง- ก็มี เช่น “สงฺคห” = สงเคราะห์, สังเคราะห์ “สงฺสาร” = สังสาร, สงสาร
(2) “สงฺกฺรานฺติ” -ติ เราเขียน -ต ไม่ใช่ -ติ และไม่ออกเสียง โดยใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต คือ -ต์ สัง-กฺราน-ติ จึงกลายเป็น สง-กฺราน
(3) บาลีมีคำว่า “สงฺกนฺติ” อ่านว่า สัง-กัน-ติ มีความหมายเหมือนกับ “สงฺกฺรานฺติ” ในสันสกฤต
(4) “สงฺกนฺติ” ประกอบด้วย สํ (= พร้อม) + กม (ธาตุ = ก้าวไป, เคลื่อนที่ไป) + ติ (ปัจจัย = การ-, ความ-)
: สํ > สงฺ + กม = สงฺกม + ติ (:-ม + ติ < นฺติ) = สงฺกนฺติ มีความหมายว่า ผ่านไป, ข้ามไป, ไปด้วยกัน, เชื่อมหรือร่วมกัน, เปลี่ยนไป, ส่งต่อไป, อพยพไป, เคลื่อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง
(5) หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีคำว่า “สงฺกนฺต” (สัง-กัน-ตะ, -ต ไม่ใช่ -ติ) แปลว่า สงกรานต์, การเคลื่อนย้าย รากศัพท์เหมือน “สงฺกนฺติ” ต่างกันเพียงคำนี้เป็น ต ปัจจัย ไม่ใช่ ติ ปัจจัย
(6) สรุปว่า - สงฺกนฺต > สงฺกนฺติ > สงฺกฺรานฺติ > สงกรานต์
: หนังสือฤๅมีจิต......ยังเบือนบิดอยู่ร่ำไป
: ปุถุชนวิจลใจ........จะซื่อตรงอย่าสงกา