กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิก.

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
การค้นหาขั้นสูง  

ข่าว:

ผู้เขียน หัวข้อ: จำปูลิ่ง  (อ่าน 9099 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ลุงชัยนรา

  • ความเปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร์
  • ชาวบ้านกิตติมศักดิ์
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 3715
  • กระทู้: 910
  • Thank You
  • -Given: 3245
  • -Receive: 3715
  • ชีวิตนี้ยอมพลี เพื่อแผ่นดิน
จำปูลิ่ง
« เมื่อ: เมษายน 12, 2013, 11:16:15 PM »
                                           

                                                   
 

 “จำปูลิ่ง จำปูรี จำไหร หรือ มะไฟลิง”  เป็นชื่อที่รู้จัก และเรียกกันในแต่ละถิ่น จัดว่า เป็นผลไม้ที่พบเห็นได้ เป็นปกติ  ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส  โดยเฉพาะผลสุก เริ่มมีทยอย ออกมาให้เห็นชุกในเดือน กรกฏาคม สิงหาคม เรื่อยมาถึงกันยายน ปัจจุบันมีน้อยลง หาทานยากขึ้น
       ลักษณะผล สีเหลืองอมส้ม ผลค่อนข้างกลม แต่ลักษณะเป็นสันเล็กน้อย ดูเหมือนมีรอยต่อ ทำให้แตกออกง่าย มีขนาดเล็กกว่ามะไฟเล็กน้อย  ส่วนในเรื่องก้านช่อที่ติดผล ก็คิดตามไปได้เลยว่า มีก้านยาวห้อยทิ้งน้ำหนักลงมาจากกิ่ง  เพราะมักจะออกดอกที่ก้านกิ่ง แต่ละก้านช่อมีก้านขั้วสั้นๆยึดผลย่อย สลับไปมาซ้ายขวาในหนึ่งก้าน  เปลือกหุ้มผลบางและเปลือกด้านในแยกออกได้เป็นห้องๆ (locule) โดยมีเมล็ดในแต่ละห้อง เมล็ดที่สมบูรณ์ที่เจริญเต็มพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมีสามเมล็ด ในหนึ่งผล
      ส่วนที่กินได้ คือเนื้อหุ้มเมล็ดที่มีสีส้มแดง เมื่อเปลือกแตกออกมาทำให้สีผลดูจืดลงไปถนัดตา  เยื่อหุ้มเมล็ดตึงใสฉ่ำน้ำยั่วใจให้ลิ้มลองยิ่งนัก จึงเป็นผลไม้ที่เด็กๆชอบ   เมื่อนำแต่ละก้านมารวมเป็นช่อพวงเตรียมพร้อมนำมาวางขาย  หรือหยิบชั่งน้ำหนักขายเป็นกิโลกรัม   สีเปลือกจะช้ำง่ายทำให้มีสีคล้ำเป็นจ้ำๆไม่สวย  คล้ายๆผลไม้เปลือกบางทั่วไปอย่างลองกอง ลางสาด  หากแต่นักชิมก็ไม่ยี่หระ เพราะส่วนที่อร่อย เพิ่มวิตามินซี นั้นคือที่เนื้อหุ้มเมล็ด ที่อยู่ภายในเรียกได้ว่า “สวยซ่อนรูปทีเดียว”  ด้วยเพราะเป็นผลที่แตกออกง่ายจึงมีชื่อเรียกในภาษามลายูถิ่นว่า “ลูกดีด” หมายถึง ดีดเบาๆก็แตกเผยโฉมภายในที่กินได้  และถึงแม้ว่าเปลือกจะแตกออกแล้วเมล็ดภายในยังยึดติดกับก้านขั้ว  เปลี่ยนสภาพไปเป็นก้านช่อที่มีเมล็ดห้อยสลับไปมาแทนที่ผล ดูน่าแปลกตาทีเดียว
       
                                       
                                               
วิธีกินกันให้สนุกประสาเด็กๆ หรือผู้ที่มีหัวใจเด็ก  ก็คือหยิบมาหนึ่งก้าน ดีดเปลือกให้แตก  พร้อมกับทายว่าในผลนั้นมีกี่เมล็ด อาจเป็นสาม สองหรือหนึ่งเมล็ด จากนั้นยกก้านช่อขึ้นสูง แหงนกินไปทีละเมล็ดอย่างเอร็ดอร่อย   ทุกครั้งที่กินก็สร้างความสนุกไม่น้อย  ทุกคนที่ได้สัมผัสก็จะมีรอยยิ้ม แห่งความพึงใจ ไม่ว่าจะเป็น รูป หรือรส ส่วนเสียงคงเป็นเสียงบรรยายสรรพคุณ ...เป็นผลไม้แห่งความสุขจริงๆ  แม้เพียงหนึ่งก้านช่อก็ชวนหัวร่อ ...๕๕๕..
 ส่วนเมล็ดมีขนาดเล็ก บาง และลื่นๆจึงกลืนไปได้เลย ในขณะที่บางคนเผลอหรือตั้งใจกลืน  หากแต่ถ้าคายเมล็ดก็สามารถนำไปเพาะเป็นต้นกล้าได้ต่อไป  จึงเป็นเทคนิคของฝ่ายจัดหาเมล็ดพันธุ์โดยซื้อผลจำปูลิ่งมาหลายช่อพวง แจกจ่ายกันกินแล้วร้องขอว่า ใครที่กินแล้วให้คายเมล็ดเก็บไว้เพื่อนำไปเพาะพันธุ์ต่อไป

สรรพคุณของผลไม้ชนิดนี้ ยังไม่มีรายงาน แต่พืชในกลุ่มเดียวกันคือ "มะไฟ" มีข้อมูลกล่าวถึงว่าทั้งราก ใบ ผล มีสรรพคุณใช้รักษาโรค (medicinal plant) มีฤทธิ์ขับเสมหะ ช่วยย่อย  หากแต่ที่ต่างไปจากมะไฟก็คือส่วนที่กินได้ของ จำปูลิ่ง มีสีสันเช่นเดียวกับแครอท จึงมีสารในกลุ่มแคโรทีนที่น่าจับตามองทีเดียว  ผลของ "มะไฟ" นอกจากจะมีโปตัสเซียม แมกนีเชี่ยม ฟอสฟอรัสแล้ว วิตามินซีสูง 55 มก. ( http://www.mcgill.ca/files/cine/Karen_Datatables_fruits_Jn06.pdf วิเคราะห์ จากปริมาณ 100 กรัมของส่วนที่กินได้ เทียบกับผลมะขามป้อมซึ่งเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง 276 มก.)    จำปูลิ่งนั้นหากกินผลที่สุกแล้วในปริมาณมากๆๆ ทำให้ระบายท้อง  และในช่วงที่ผลแก่ มีสีเขียว นำไปปรุงอาหารได้  เพิ่มความเปรี้ยวของรสชาติ อาหารพื้นบ้าน

นับว่าโชคดีที่ได้เกิดมาในแผ่นดินมาตุภูมินี้ ความอุดมสมบูรณ์มากมี  ผลไม้ชนิดนี้มาจากต้นพันธุ์ที่ขึ้นได้เฉพาะแหล่งอาศัย (habitat) เช่นบริเวณป่าต้นน้ำ  หรือป่าที่ไม่ค่อยถูกรบกวนจากภัยคุกคามภายนอก  ต้นจำปูลิ่งจึงบ่งชี้ "สถานภาพของป่า" มีนัยว่าถ้ายังมีผลไม้ชนิดนี้อยู่ แสดงว่ายังคงมีป่าใหญ่อยู่ในพื้นที่   แต่ปัจจุบันนี้หาทานผลไม้ชนิดนี้ได้ยากขึ้น เป็นเพราะป่าถูกทำลายต้นจำปูลิงถูกโค่น ต้นไม้จึงบ่งชี้ "ความพร่องของคน"..เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน โค่นทำลายต้นไม้ในป่าใหญ่

ต้นจำปุลิ่งงอกขึ้นได้เองตามธรรมชาติ จากเมล็ดที่นกหรือสัตว์กินเป็นอาหาร  ต้นที่พบในธรรมชาติ มีลักษณะต้นไม้ใหญ่ สูงประมาณ กว่า 20 เมตร คล้ายกับต้นมะไฟ ซึ่งพืชทั้งสองชนิดจัดจำแนกทางพฤกษศาสตร์อยู่ในกลุ่มเดียวกัน  แต่มะไฟเป็นพืชที่รู้จักกันทั่วไป แหล่งอาศัยพบได้กระจายมากกว่าจำปูลิ่ง  ซึ่งจำปูลิ่งค่อนข้างเป็นพืชเฉพาะถิ่น    แหม...คิดถึงชีวิตในวัยเด็ก ที่บ้านไม่มีต้นจำปุลิ่งและไม่เคยรู้จักมาก่อน  แต่ได้ปีนต้นมะไฟแถวบ้าน เลยรู้ว่าก้านกิ่งก็เหนียวพอดู ที่จะให้เด็กๆ ปีนเล่น ห้อยโหนกัน หยิบฉวยผลมะไฟมาลิ้มลอง ตั้งแต่ผลอ่อน ผลแก่ และผลสุก... ยังจำรสชาติได้
         ปัจจุบันนี้กาล-สมัยเปลี่ยนไป คนเปลี่่ยนไป กระแส "โลภาภิวัฒน์" มีมากขึ้น ป่าไม้ถูกแผ้วถางเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ  ผลพวงจากการตกเป็นผู้รับเคราะห์เชิงโนบาย กี่ยุคสมัยที่ส่งเสริมการทำเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว เช่นปลูกยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน ส่งผลผลิตสู่โลกอุตสาหกรรม จนทำให้เกิดเป็นวิบากกรรมต่อเนื่อง โดยไปริดรอนสิทธิ ของพืชพันธุ์ที่เป็นเพื่อนคู่ป่า  ที่มีคุณค่าอนันต์ต่อระบบนิเวศ   มีคุณค่าทางวิวัฒนาการ  รวมถึงเป็นแหล่งยีน (gene pool) หรืออาจจะมีคุณค่าในมิติยารักษาโรคที่รอการวิจัยอยู่ก็เป็นได้  เราจึงควรมองให้รอบด้าน ด้วยเพราะเป็นสายพันธุ์ที่ปรับตัวมาเป็นระยะเวลานาน พบได้เป็นพืชพื้นถิ่น (native species)

หากแต่การณ์กลับกลายเป็นว่า พืชเหล่านี้กำลังจะไม่มีที่ยืน “ในสังคมพืชป่า” (plant community)  เพราะมนุษย์ไปตีค่าว่า..ด้อยค่ายิ่งนัก...ต่อความเป็นพืช/ไม้ผลทางเศรษฐกิจ  ชวนคิดว่า ใครน่ะ??..ที่มักจะตีค่าด้วยการลดคุณค่าที่แท้จริง มองไม่เห็นถึงค่าแท้อีกต่างหาก สนใจในค่าที่แปลงไปตามเหตุแห่งความต้องการ  ..."คุณค่า" จึงถูกจำแลงไปกับ “มูลค่า-ราคา” (value vs price) ซึ่งเน้นมิติทางเศรษฐกิจที่ผูกติดกับตลาด/การค้าขาย..??  หรือแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ได้พยายามแปลงค่าให้หลากหลายขึ้นเช่น ในวงการ คาร์บอนเทรด (carbon trade) คาร์บอนเครดิต (carbon credit) ที่ล้วนแล้วแต่สนนมา ..นัยว่าป่าก็ยังถูกทำลาย หาได้แก้ที่ต้นเหตุไม่  ผลกระทบโดยภาพรวมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เกิดขึ้น หากวัฒนธรรมบริโภคนิยมยังคงนำหน้า สวนทางกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวของปวงชนชาวไทย ...หากเราคิดรักป่ารักต้นไม้ หรือกรณีนี้ต้นจำปูลิง ก็คงมองทะลุข้ามผ่านมิติเหล่านี้ไป  ร่วมสร้างภุมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ และเสริมความมั่นคงในชีวิตบนของฐานทรัพยากรธรรมชาติสมดุลย์และยั่งยืน...เป็นสิ่งที่พึงตระหนัก

ทุกชีวิตมีคุณค่า!!  แว่บคิดถึงคำสอนเตือนตนที่แทรกขึ้นมา  "หากเรามัวแต่เสียเวลาโดยให้ความสำคัญกับการ "ตีค่า" ก็จะไม่เหลือเวลาที่จะให้ "ความรัก"ต่อกัน"  การไม่ตีค่า..ก็ไม่ถูกตัดสิน ไม่ถูกแยกแยะ.. ก็ไม่มี..เรา/เขา ..ไม่มี..ค่ามาก/ค่าน้อย   หากแต่ให้รักทุกชีวิตดั่งเช่นชีวิตตน ช่วยกันดูแล... คุณค่าที่แท้จริงของต้นไม้...จะได้แจ่มชัดจากการขัดเกลาทางปัญญา
หากแต่วันนี้คงจะไม่สายเกินไป  เรา..คนในพื้นที่  ต้องร่วมมือช่วยกันปกป้องให้พืชเหล่านี้มีที่ยืนในป่า  ที่เคยเป็นแหล่งที่อยู่  ให้ยืนต้นประกาศคุณค่าที่แท้จริงต่อไป...  เพราะสิ่งนั้น จึงมีสิ่งนี้... เป็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน   กล่าวคือ เพราะมีต้นไม้เหล่านี้ ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในป่าใหญ่ รวมตัวก่อให้เกิดเป็นละออง หยดน้ำ หยาดน้ำฟ้า ฝนตกลงมา  รากดูดซับน้ำ ชะลอการไหลบ่าของน้ำยามฝนตก อีกทั้งเพิ่มออกซิเจนให้กับสรรพสิ่งที่เอื้ออิง  ส่วนดอกผลนั้นเล่าก็เป็นแหล่งอาหารอันอุดมด้วยสารอาหารและวิตามิน หรือที่นิยมเรียกกันให้ดูเข้าใจยากว่า "ไฟโตนิวเทรียนท์ (phyto-nutrient)" มากด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant)  มีวิตามินซีสูง แถมมีรงควัตถุสีสันในเซลล์ มีสารฟีโนลิค พืชจึงทำหน้าที่ในฐานะผู้ผลิต (producer) ในระบบนิเวศ หล่อเลี้ยงสรรพสัตว์น้อยใหญ่ในป่ารวมถึงคนซึ่งมีบทบาทต้องพึ่งพิงพืช  เราจึงเป็นผู้บริโภคที่ควรจะรู้คุณและเห็นคุณค่าของพืชเหล่านี้ แทนที่จะทำลาย

                                   
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก  burongtani.oas.psu.ac.th/bird-story/1028
ขอขอบคุณภาพจากhttp:burongtani.oas.psu.ac.th/bird-story/1028
ขอบคุณความทรงจำในอดีต ที่ยังเหลืออยู่
ขอบคุณ ผู้ฝึกสอนการวางภาพ อ.ชาติ....


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 12, 2013, 11:19:41 PM โดย ลุงชัยนรา »
บันทึกการเข้า

** กระทู้แรกที่ควรอ่านเมื่ออยู่บ้านเพลงไทย **

ลือ

  • ฟังดนตรีเถิด ชื่นใจ...
  • ชาวบ้านกิตติมศักดิ์
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 4069
  • กระทู้: 864
  • Thank You
  • -Given: 3919
  • -Receive: 4069
  • ชอบเพลงลูกกรุงเก่าๆครับ
Re: จำปูลิ่ง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 12, 2013, 11:54:08 PM »
        รสหวานอมเปรี้ยว...
              ลูกที่ติดเป็นช่อพวงก็สวยใสมาก น่าทะนุถนอมไว้ดูเล่น
                  เสียดายที่ต้องกินครับ ....จำปูลิ่ง


บันทึกการเข้า