สโมสรบ้านเพลงไทย > ห้องพระ

พระ

(1/1)

ลุงชัยนรา:
                                    พระ" ที่ตรงตามตัวหนังสือ
การถือพุทธศาสนา ที่มุ่งตรงแต่ตามตัวหนังสือ กับ การถือที่มุ่งจะเอาแต่ใจความนั้น
ย่อมทำให้เกิดผลแตกแยกตรงกันข้าม เป็นสองฝ่าย เกิดบุคคล เป็นสองพวก และ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ เกิดพุทธศาสนา เป็นสองชนิดนั่นเอง และ ผลที่ตามมาก็คือ
ความปั่นป่วน.

                                   

พวกที่ถือ ตรงตามตัวหนังสือ นั้น ครั้นความต้องการของตน เกิดขัดกันขึ้น
กับความหมายเดิม ก็ถือเลิศเอาแง่ตามตัวหนังสือนั่นเอง เป็นข้อแก้ตัว ในส่วนวินัย
เช่น ห้ามรับเงิน ก็มีเงินได้เป็นจำนวนมาก โดยแก้ตัวว่า วินัยห้ามรับเงิน เท่านั้น
หรือ การห้ามนั่งบนเบาะสำลี แต่ก็นั่งบน เบาะนวม มีสปริง เป็นต้นได้ เพราะ
วินัย มิได้ห้ามไว้ เตียงเหล็กมีเท้าสูง เอาแผ่นกระดาน มาตีปะ ให้ดูปกลงมาเป็น
แม่แคร่จนเท้าเหลือนิดเดียว เตียงตัวนั้นเองก็กลายเป็นเตียงที่ใช้ได้ไม่ผิดวินัยไป
ดังนี้เป็นต้น การมีเงินได้โดยไม่ต้องมีการรับเงิน เช่นนี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้
เห็นว่า เกิดมาจากการแกล้งถือตามตัวหนังสือ ถ้าจะมองดู แม้ในพวกที่หวังดี
โดยบริสุทธิ์ใจ ก็ยังมีอาการอย่างอื่นๆ เช่น ที่เรียกกันเป็นเชิงล้อว่า
"เถรส่องบาตร" เป็นต้น เป็นตัวอย่าง แห่งการถือตรงตามตัวหนังสือ
อยู่มากเหมือนกัน ในเมืองไทย ฤดูฝนไม่ตรงกับเดือนฤดูฝนในอินเดียภาคกลาง
แต่เมืองไทย ก็ต้องถือระยะกาลจำพรรษาอย่างของอินเดีย จนปรากฏว่าใน
บางส่วนของประเทศไทย ฝนเพิ่งจะตก เมื่อพระออกพรรษา แล้วก็มี นี่ก็ดู
ไม่แพ้ อาการของตาเถรที่ส่องบาตร ในส่วนธรรมก็ไม่แพ้ในเรื่องของวินัย
มีผู้เข้าใจความหมายของคำว่า สัพพัญญู เป็นพระพุทธองค์ ทรงรู้อะไร
ไปหมดทุกอย่าง รู้ภาษาทุกภาษาในโลก รู้วิชาทุกอย่างที่โลกมี ทั้งในอดีต
ปัจจุบัน และแถมอนาคต กระทั่ง เวลาที่พระองค์หลับ ทั้งนี้ เพราะคำว่า
สัพพัญญู แปลว่า ผู้รู้สิ่งทั้งปวง พระองค์ ทรงรู้จัก ถิ่นฐานในโลก ทุกแง่
ทุกมุม เพราะพระองค์ เป็นโลกวิทู ดังนี้ก็มี ครั้นใครสักคนหนึ่ง แย้งว่า
พระองค์ไม่เคยเสด็จ ไปอเมริกา เพราะอเมริกา ยังไม่เกิด การเถียงกัน
อย่างคอเป็นเอ็น ก็เกิดขึ้นว่า ทรงทราบด้วย อนาคตญาณ

ส่วน พวกที่ถือเอาแต่ใจความนั้นเล่า ครั้น ความต้องการของตน เกิดขัดขวาง
กันขึ้นกับความหมายเดิม หรือที่เคยถือกันมา ก็ยิ่งมีทางออกมากกว่า พวกที่ถือ
ตรงตามตัวหนังสือเสียอีก ถ้าหากจะเดินไปในแนวของการแกล้งถือ เพราะ
การแปลความหมายนั้น จะแปลไปอย่างไรก็ได้ ไม่ค่อยมีขีดจำกัด ครั้นเห็นว่า
วินัยบางอย่าง เป็นอุปสรรคของการงาน ก็ประกาศ เลิกกัน เสียตรงๆ
อย่างเปิดเผย เท่าๆ กับ ที่พวกถือตรงตามตัวหนังสือ เลิกกันอ้อมๆ หรือ ลับๆ
ความเปลี่ยนแปลงของโลก นับด้วยศตวรรษๆ ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
อย่างมาก เหลือที่มนุษย์เรา จะยังคงยึดถือหลักเกณฑ์บางอย่างที่ตั้งไว้ เมื่อ
หลายพันปี มาแล้วได้ เช่นในบัดนี้ ไม่มีภิกษุณีแล้ว แต่ภิกษุ ก็ยังต้องสวด
ปาฏิโมกข์ ส่วนที่ว่าด้วยระเบียบ อันจะพึงปฏิบัติต่อภิกษุณี อยู่นั่นเอง ทั้งที่
ภิกษุพวกนั้น ก็ถืออย่างเด็ดขาดว่า ภิกษุณี จะมีขึ้นในโลก อีกไม่ได้ เป็นอันขาด
ทั้งนี้ เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่า ภิกษุยังคงถือวินัยครบ ๒๒๗ สิกขาบท (รวมทั้ง
สิกขาบทที่เกี่ยวกับภิกษุณีด้วย) เท่านั้นกระมัง ดูก็น่าอัศจรรย์อยู่ ฝ่ายพวกที่ถือ
เอาแต่ใจความ ก็เปลี่ยนแปลงสิกขาบท ที่จะยกขึ้นสวดเป็นปาฏิโมกข์ เอาตาม
ชอบใจ แล้วแต่เหตุผลและกาลเทศะ จนกระทั่ง บทสวดที่เคยเป็นวินัยกลายเป็น
บทธรรมไปก็มี ทั้งนี้ เนื่องจากมุ่งเอาความรอดพ้นจากทุกข์ เป็นของสำคัญ
ไม่เห็นว่า ระเบียบเล็กๆ น้อย ๆ ประจำหมู่ เป็นของสำคัญ พวกที่ถือตามตัวหนังสือ
มีโอกาส "อวดเคร่ง" ได้มากเพียงใด พวกที่ถือเอาแต่ใจความ ก็มีโอกาส
"อวดหลวม" ได้มากเพียงนั้น แต่ถ้าปราศจาก เจตนาอันบริสุทธิ์ เสียแล้ว
ทั้งพวกที่เคร่งจัด และหลวมจัด ก็ยังคงไม่เฉียด ต่อนิพพาน อยู่นั่นเอง โดยที่
ต่างก็ถือ "ขวาสุด" และ "ซ้ายสุด" ไปเสียคนละทาง ตามที่เขาสมมุติ กันนั้น
พวกขวาสุด ก็คือ พวก เถรวาท หรือ หินยาน
พวกซ้ายสุด คือ พวก อาจาริยวาท หรือ มหายาน
และตามที่เขาเชื่อกันนั้น พุทธศาสนาในยุคพุทธกาล
ไม่เป็นทั้งอย่างเถรวาท และอย่างมหายาน

ข้าพเจ้าไม่ประสงค์ ให้พุทธศาสนาในประเทศไทย ที่รักของเรา เป็นอย่าง
ขวาสุด หรือ ซ้ายสุด แต่ต้องการให้ เป็นไปอย่างที่เรียกว่า
"พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ" (สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ)
เป็นที่น่าเคารพ น่าไว้ใจอย่างยิ่งกว่า พุทธศาสนาในถิ่นไหนๆ ของโลก
ถ้าศาสนา ยังต้องอาศัย ความทรงอยู่ ของชาติ และ ความจำเป็น ทางการเมือง
เป็นของด่วนกว่าความต้องการของทางศาสนาแล้ว พระที่ตรงตามตัวหนังสือ
น่าจะช่วยอะไรแก่ชาติไม่ได้ และ พระพวกที่ถือแต่ใจความนั้นเล่า ก็น่าจะได้แต่
พลิกศาสนาให้หัวกลับและลงอยู่ภายใต้ชาติ เท่านั้น ซึ่งรวมความว่า ชาติจะ
ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย จากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งจะนั่งดูตาปริบๆ
อีกฝ่ายหนึ่ง จะฉุดพาล้มลุก คลุกคลาน ไปจนเสียหลัก ท่านลองนึกดูทีหรือว่า
ข้างไหน จะเป็นพุทธศาสนา หรือ ศาสนาที่มีประโยชน์แก่มนุษย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ พวกไทยเรา

สังฆสภาของประเทศไหนก็ตาม จะเป็นไปอย่างขวาสุด หรือ ซ้ายสุด
หรือ สายกลางนั้น ย่อมแล้วแต่ จิตใจของสมาชิกส่วนมาก เป็นข้อสำคัญ
แต่ข้อที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือ ข้อที่ว่า ทำไมสมาชิกนั้นๆ จะรู้สึกว่า
แค่ไหน เป็นการเอียงไปฝ่ายขวา และแค่ไหนเป็นการเอียงไปฝ่ายซ้าย ได้เล่า
ถ้าหากว่า ท่านนั้นๆ ก็ล้วนแต่คลอดขึ้นมา ภายในหมู่ของบุคคลที่เป็นขวาสุด
หรือซ้ายสุด อย่างใดอย่างหนึ่ง มาเสียแล้วแต่กำเนิด.

 

๑๒ กันยายน ๒๔๘๖

คัดจาก หนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ 
พิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ 

 

 

มหาสุ:
สาธุ   เป็นพระมหาเถระที่ประกอบไปด้วยเหตุและผล

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version