สโมสรบ้านเพลงไทย > ห้องพระ

ธุดงค์วัตร ในสมัยต้นร้ตนโกสินทร์

<< < (2/2)

มหาสุ:
หลักการปฏิบัติธุดงค์
            พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน ท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า .. "ในเวลาใกล้ที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน ในกาลนั้น พระมหากัสสปเข้าไปทูลลาองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จะออกธุดงค์ สมเด็จพระพุทธองค์จึงได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
          "กัสสปะ! ดูก่อน กัสสป เวลานี้ตถาคตก็แก่แล้ว เธอก็แก่แล้ว จงละจากการอยู่ป่าเสียเถิด จงอยู่ในสถานบ้านเมือง จงรับสักการะที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีความเลื่อมใสเธอ และชีวิตของเธอกับชีวิตของตถาคตก็ใกล้อวสานแล้ว"
           พระมหากัสสปก็ได้กราบทูลองค์สมเด็จพระประทีปแก้วว่า
            "ภันเต ภควา .. ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระพุทธเจ้าข้า การที่ข้าพระพุทธเจ้าปฏิบัติธุดงควัตรอย่างนี้ ก็มิได้หมายคามว่า จะปฏิบัติเพื่อความดีของตน.."
( ทั้งนี้เพราะอะไร..เพราะพระมหากัสสปเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ความดีของท่านจบกิจพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ก็กราบทูลกับองค์สมเด็จพระประทีปแก้วว่า )
          "..ที่ข้าพระพุทธเจ้าทำอย่างนี้ ก็เพื่อว่าจะให้เป็นแบบฉบับของบรรดาภิกษุทั้งหลายภายหลัง ที่เกิดมาไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้ทราบว่า ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ยังมีพระคณะหนึ่งนิยม "ธุดงควัตร" เป็นสำคัญ เพื่อเป็นการส่งเสริมบรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติตาม"
          ฉะนั้น ธุดงค์แท้ ๆ ตามแบบฉบับ พระมหากัสสป ก็คือ แบบของพระพุทธเจ้านั่นเอง คำว่า "ธุดงค์" แปลว่า องค์ที่ประกอบไปด้วยความดี ชาวบ้านเขาแปลว่ายังไงก็ไม่รู้ แต่ขอแปลเป็นภาษาไทยว่า "ตั้งใจทำความดี"
          ธุดงค์มีอยู่ ๑๓ ข้อด้วยกัน ปฏิบัติได้ทั้งอยู่ในป่าช้า อยู่ในป่าชัฏ อยู่ในบ้าน หรืออยู่ในวัด ธุดงค์นี่อยู่ในวัดก็ปฏิบัติได้ หรือว่า ชาวบ้านจะปฏิบัติธุดงค์ก็ปฏิบัติได้ เขาไม่ห้าม การปฏิบัตินี้ไม่มีเฉพาะพระหรือไม่มีเฉพาะเณร
          อันดับแรกจะถือ "สันโดษ" เป็นสำคัญ เตจีวเรนะ เราพอใจเฉพาะเครื่องนุ่งห่มที่มีอยู่ชุดเดียว อย่างนี้ฆราวาสก็ทำได้ เราจะไม่มีผ้าเกินกว่าชุดเดียว เว้นไว้แต่ผ้าผลัดอาบน้ำ พอใจเพียงเท่านี้
          แต่ว่าพอใจเพียงเท่านี้ก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องน้อมลงไปว่าที่เราพอใจผ้าผืนเดียวนี้ เป็นการตัดความรุ่มร่าม ตัดความละโมภในเครื่องอาภรณ์ เครื่องประดับ หรือเครื่องแต่งตัว
และก็ต้องพิจารณาด้วยว่า การที่จะห่มผ้า การที่จะนุ่งผ้าใส่เสื้อนี่ เราไม่ต้องการความสวยสดงดงามของผิวพรรณ เราไม่ต้องการความสวยสดงดงามของเสื้อผ้า เราห่มผ้า เราใส่เสื้อ เรานุ่งผ้า เพื่อปรารถนาป้องกันความหนาว ความร้อน หรือเหลือบยุงเท่านั้น ไม่ต้องการความสวยสดงดงาม ความเรียบร้อยใด ๆ ทั้งหมด
            เพราะเราคิดไว้เสมอว่า ชีวิตของเรานี้มีความตายในที่สุด เราจะแต่งให้มันดีไปยังไง .. ก็แก่ลงทุกวัน ร่างกายเป็น "โรคะนิทธัง" เป็นรังของโรค มันป่วยทุกวัน แล้วในที่สุดมันก็ตาย
ผ้าผ่อนท่อนสไบที่เราแต่งกายนี่เหมือนกัน มันก็เก่าลงไปทุกวัน ในที่สุดมันก็ขาด ทั้งร่างกายก็ดี เครื่องอาภรณ์ เครื่องประดับ ผ้าผ่อนท่อนสไบก็ดี ไม่เป็นที่ถูกใจ ไม่เป็นที่ประสงค์ของเรา เพราะว่าเราไม่ได้มองเห็นว่าร่างกายเป็นของดีสำหรับเรา
            เพราะร่างกายนี่มัน ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ประกอบไปด้วย ธาตุ ๔ และก็มี วิญญาณธาตุ เข้ามาอาศัย มีอากาศธาตุ มาบรรจุให้เต็ม เป็นเรือนร่างที่อาศัยของจิตชั่วคราว
            มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วเสื่อมไปทุกวันและตายในที่สุด ร่างกายที่ประกอบไปด้วยทุกข์ ความทุกข์ต่าง ๆ ที่มันมีกับเรา เพราะอาศัยร่างกายเป็นสำคัญ
        ฉะนั้น ที่เราปฏิบัติความดีนี้นั้น เราไม่ต้องการร่างกายอย่างนี้อีก เรามุ่งศัพท์เดียวที่ พระอินทร์ ตรัสในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรินิพพานว่า
"เตสัง วูปะสะโม สุโข" ซึ่งแปลเป็นใจความว่า การเข้าไปสงบกายนั้น ชื่อว่ามีความสุข
          คำว่า "สงบกาย" หมายความว่า เราไม่ต้องการกาย คือ ขันธ์ ๕ อย่างนี้ต่อไป เพราะขันธ์ ๕ มันเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา
          ตายชาตินี้แล้ว เราก็ปล่อยขันธ์ ๕ ทิ้งไว้เป็นสมบัติของโลก เครื่องอาภรณ์ เครื่องประดับต่าง ๆ เราก็ทิ้งมันไว้ เราไม่ต้องการมันอีก จิตมีความประสงค์อย่างเดียวคือ พระนิพพาน
           นี่ว่ากันถึงว่าเครื่องแต่งกาย ถือผ้า ๓ ผืนนะ อย่าถือส่งเดช ต้องถือให้มันเป็นกรรมฐาน ถืออสุภสัญญา และ ไตรลักษณญาณ แล้วก็ สักกายทิฏฐิ ต้องถือไปถึงจุดนั้น จึงชื่อว่าเป็นธุดงค์แท้ ๆ
           ทีนี้ ถ้าเราถือ เอกภาชนะ หรือ เอกา "เอกภาชนะ" กินภาชนะเดียว "เอกา" กินเวลาเดียว ถือแค่กินแค่นี้ไม่พ้นหรอก เวลาก่อนจะกินเราต้องพิจารณาเป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญา ไม่ติดในรส
           อาหารอะไรก็ตาม ถ้าไม่เป็นโทษแก่ร่างกาย และก็ไม่ผิดพระวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เรากินได้ทุกอย่าง เพราะว่าการกินไม่ต้องการรส กินเพื่อยังอัตภาพให้ทรงอยู่เท่านั้น เท่านี้ยังไม่พอ ยังไม่เป็นธุดงค์แท้
          ธุดงค์แท้ต้องจับใจเข้าไปอีกว่า เวลาจะกินอาหารจะต้องพิจารณาให้เป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญา พิจารณาว่าอาหารนี้มาจากพื้นฐานแห่งความสกปรกทั้งหมด ข้าวที่จะมีเมล็ดข้าวขึ้นมาได้ เพราะอาศัยปุ๋ย ปุ๋ยมันมาจากความสกปรก ของสกปรกเป็นปุ๋ยเลี้ยงพืช
         เมื่อข้าวมันโตขึ้นมาจากความสกปรก เมล็ดข้าวก็ชื่อว่าเป็นเชื้อสายของความสกปรก ผักต่าง ๆ ที่เราบริโภค เขามาจากปุ๋ย คือ ความสกปรก บรรดาเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมาได้ เพราะอาศัยของสกปรกเป็นพื้นฐานเป็นอาหารและเนื้อสัตว์ทั้งหมดก็สกปรก
         ในเมื่อเรากินของสกปรกเข้าไป ร่างกายของเรามันก็สกปรก ร่างกายเกิดขึ้นมาจากพื้นฐานแห่งความสกปรก เราก็ต้องพิจารณาว่าร่างกายของเราเกิดขึ้นมาได้ เพราะพื้นฐานแห่งความสกปรก อาหารที่พยุงร่างกายเข้าไปก็เป็นอาหารที่สกปรก
        รวมความว่า ร่างกายของเรานี้ทั้งร่างกาย เต็มไปด้วยความสกปรก ร่างกายเราก็สกปรก ร่างกายของบุคคลอื่นก็สกปรก
        เป็นอันว่าความผูกพันในร่างกายทั้งหมด จะเป็นร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี จะไม่มีสำหรับเรา เพราะว่าคนทุกคนต้องการความสะอาด คำว่า "เรา" ในที่นี้คือ "จิต" ที่มาสิงอยู่ในร่างกาย
       การที่มาได้อย่างนี้เพราะ อำนาจกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม นำเรามาเข้าสู่ร่างกายที่เต็มไปด้วยความสกปรก มันจับเข้ามาขังคุกไว้ หลงเล่ห์เหลี่ยมของ "กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม"
       กิเลส คือ จิตชั่ว ตัณหา คือ ความอยาก อยากสวย อยากรวย อยากโกรธ อยากจะสะสมทรัพย์สิน อยากทรงชีวิตอยู่ อยากเกิดใหม่ อันนี้เป็นกำลังของ "ตัณหา"
       อุปาทาน คิดว่าของสวยเป็นของดี ความรวยเป็นของดี โกรธชาวบ้านเป็นของดี สะสมทรัพย์สินพอกพูนไว้ หลงใหลใฝ่ฝันปรารถนาในความเกิดใหม่เป็นของดี อย่างนี้เป็น "อุปาทาน"
       และก็ อกุศลกรรม เมื่อจิตมันชั่วแบบนี้ มันก็ทำในทางที่ชั่ว เพราะความไม่ฉลาด (อกุศล แปลว่า ความไม่ฉลาด) ทำด้วยความไม่ฉลาด คือ สร้างความเศร้าหมองให้เกิดขึ้น ทำกรรมสิ่งใดที่อยากจะได้ของสวย อยากจะได้ความร่ำรวย อยากจะโกรธชาวบ้าน อยากจะสะสมทรัพย์สิน อย่างนี้เป็น "อกุศลกรรม" ที่มันเกิดขึ้นกับจิต
       ที่เราต้องเกิดมาเป็นทุกข์อย่างนี้เพราะความโง่ โง่ติดกับของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และ อกุศลกรรม คือ มีอวิชชา เป็นนายใหญ่
       ฉะนั้น เวลานี้เรารู้แล้ว พบองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเลิกคบ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และ อกุศลกรรม ขับไล่ อวิชชา ตัวใหญ่ คือ หัวหน้าพาลใหญ่ให้พินาศไปด้วยกำลังของ ปัญญา คือ ไม่ติดใน ขันธ์ ๕ ไม่ติดในร่างกายของเรา และไม่ติดในร่างกายของบุคคลอื่น
       นี่ขอพูดแบบย่อ ๆ ธุดงค์นี่พูด ๓ ปี ไม่จบหรอก จะไปจบอะไร ธุดงค์มีตั้ง ๑๓ ข้อ ข้อหนึ่งพูดไปเป็นปียังไมจบ เป็นอันว่าถ้าเทศน์จบแล้วก็เถอะ คนฟังนี่ตายเป็นแถว คนเทศน์ก็ตายก่อนจบพอดี..ก็ไม่ไหวใช่ไหม? .
          หลวงพ่อฤาษีลิงดำได้กล่าวไว้ในหนังสือวัดท่าซุง

ลุงชัยนรา:
ท่านมหาสุ รู้เรื่องพระดีจริง ลึกซึ้งเหมือนพระจริงๆเลย........นะ

ชบาบาน:
ได้สดับพระธรรมเทศนา...โอย กราบขอประทานอภัยท่านอาจารย์มหาสุ พลั้งเผลอไปฮ่า...ฮ่า..เรื่องวัตรแลธรรมเนียมเรื่อง
ธุดงค์วัตร เพราะเราๆได้รู้ได้เห็นการปฏิบัติที่เลยล้ำเส้นความเป็นธุดงคฺออกไปสุดกู่อยู่เป็นประจำ  สิ่งที่ท่านอาจารย์มหาสุ
สาธยายมาเป็นเรื่องดีเรื่องจริง(เพราะคนเขียนรู้จริง) เพื่อให้ชาวเราที่ยังอยู่ในสภาพเต่าปูปลาได้รับทราบ  พนมมือแลกราบกรานขอบคุณท่านอาจารย์มหาสุในกุศลเจตนาเป็นที่ยิ่งขอรับกระผม.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version