ต้นทางข่าว..
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=704440ขอบ่นเรื่องสงกรานต์(ไม่ได้ดัดจริต)
ผมนั่งดูข่าวการเล่นสงกรานต์แล้วรู้สึกเศร้าใจครับ เศร้าใจที่ประเพณีไทยที่ดีงามนี้ถูกกระแสกาลเวลากัดเซาะจนพังพาบ และคงจะไม่เหลือถึงรุ่นลูกหลานผมเป็นแน่แท้
ปรากฎการณ์ "เทศกาลน้ำ" ที่ต่างประเทศเรียกขานประเพณีสงกรานต์ของไทย แสดงให้เห็นถึง "ลักษณะเด่น" ของประเพณีนี้(แม้ว่าในบางประเทศจะมีคล้ายกันๆ)ของประเทศไทย และได้รับความสนใจในระดับโลก นำเม็ดเงินมหาศาลเข้ากระเป๋าคนไทยในเวลาไม่กี่วันได้หลายร้อยหลายพันล้านบาท เรียกได้ว่ามองตรงไหนๆที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ก็เห็นแต่เงินแต่ทอง!!
แต่ทว่าผมกลับเศร้าใจครับ "ประเพณีสงกรานต์" หรือ "วันขึ้นปีใหม่ไทย" กลับกลายเป็นประเพณีกลายพันธุ์ไปแล้ว ด้วยการส่งเสริมจากทางภาครัฐและเอกชนที่ล้วนมุ่งหาผลกำไรจนเกินงาม เกินความพอดีและประเพณีที่ควรรักษา
"วันขึ้นปีใหม่ไทย" ถูกลืมเลือนไปจากสังคมไทย ทั้งๆที่ควรเป็นสิ่งที่คนไทยควรจะภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ที่แสดงความจำเพาะของวัฒนธรรมของชาติ บรรพบุรุษผมเป็นคนจีนโล้สำเภามาอาศัยพระบรมโพธิสมภาณ ถึงวันตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่จีนก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน บางสถานที่ที่มีคนไทยเชื้อสายจีนก็จัดงานเฉลิมฉลองวันปีใหม่จีนอย่างยิ่งใหญ่ จนบางครั้งก็พาลให้นึกไปว่าเราอยู่ประเทศใดกันแน่?
เพราะด้วย "เชื้อสายจีน" ที่แพร่ไปทุกทวีปทั่วโลก ทำให้ประเพณีวันขึ้นปีใหม่จีนจึงเป็นที่จับตามอง การเฉลิมฉลองแสดงถึงความยินดีในวันปีใหม่ของชาติตัวเอง(คนจีน)นั้นยิ่งใหญ่กว่าวันปีใหม่สากลเสียอีก นั่นคือการแสดงความเป็น "จีน" ให้คนทั้งโลกเห็น และเป็นการ "ส่งออก" วัฒนธรรมของชาติให้คนทั้งโลกรู้จัก และนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับสถานที่และโอกาส(ในวันตรุษจีนจะมีการไหว้แม่ย่านางรถยนต์ บางคนไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นจีนก็ถือโอกาสวันดีวันตรุษจีนไหว้แม่ย่านางรถยนต์ไปด้วย ถือได้ว่าเป็นการนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับคนไทยอีกทางหนึ่ง)
แต่วันนี้ "วันปีใหม่ไทย" กลับถูกลืมเลือน แม้ไทยจะเป็นประเทศเล็กๆแต่เราก็มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเองมาอย่างยาวนาน แต่เรากลับไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เท่าที่ควร เรามีกระทรวงวัฒนธรรมก็เป็นการบ่งบอกแล้วว่าเรามี "วัฒนธรรม" ของชาติที่ต้องดูแล ต้องเผยแพร่ รักษา และพัฒนาวัฒนธรรม แบบเดียวกับที่เกาหลีใต้มีกระทรวงภาพยนตร์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบ่งบอกว่าเกาหลีมี "ภาพยนตร์" เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล เผยแพร่ รักษา และพัฒนา จนทำให้วันนี้เกาหลีใต้ส่งออกวัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์เขาไปทั่วโลกแล้ว
ย้อนกลับมาดูตัวเราเองบ้าง เรามีเพียง "ทฤษฎี" ที่สอนว่าประเพณีสงกรานต์เป็นอะไร อย่างไร ในตำราสังคมศึกษา เรามีเพียง "ทฤษฎี" ที่สอนว่าวันสงกรานต์คืออดีตวันขึ้นปีใหม่ไทย คือวันผู้สูงอายุ เรามีเพียง "ทฤษฎี" ที่สอนว่าในอดีตนั้นเพราะอากาศที่ร้อนอบอ้าว จึงมีการ "พรม" น้ำคลายร้อน มีการ "ขนทรายเข้าวัด" เพื่อทดแทนทรายที่ติดรองเท้าเราที่เราพาออกจากวัดไปทั้งปี มีการ "สรงน้ำพระ" , "รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่" .... เป็นต้น
สิ่งที่กล่าวไปนั้นล้วนเป็น "ทฤษฎี" ในตำราำไปเกือบจะหมดแล้ว
แม้ว่าในหลายๆสถานที่จะพยายามอนุรักษ์ และพยายามคงไว้ซึ่งประเพณีอันควรแก่การรักษา แต่ด้วยสื่อกระแสหลัก กระแสสังคม กระแสโลก ไม่ได้มองไม่ได้โฟกัสที่จุดนี้ แต่เพราะเขามอง "เม็ดเงิน" และ "ชื่อเสียง" ไม่ว่าจะเป็น "สถิติโลก" , "การท่องเที่ยว" เป็นเรื่องสำคัญ ก็ทำให้ประเพณีโบราณก็ค่อยถูกกลบไปจากหน้าสังคมไทย
ผมเข้าใจว่าเราไม่ได้เฉลิมฉลองวันสงกรานต์แบบสบายใจมาหลายปี แต่นั่นก็ไม่ควรที่จะมองข้ามความเป็นไทยที่น่าภูมิใจไปได้ขนาดนี้ ผมดูข่าวการเล่นน้ำสงกรานต์ในบางพื้นที่ที่พยายามสร้างสถิติโลก บางพื้นที่ก็โชว์เต้นโคโยตี้ บางพื้นที่เกิดเรื่องวิวาท บางเรื่องอาจจะดูเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจในความสามัคคี แต่หลายเรื่องก็กลายเป็นสิ่งที่น่าละอายใจและดูน่าสมเพสเสียมากกว่า
รายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ได้ทำMVเพลงสามัคคีประเทศไทย โดยนำรูปการทะเลาะวิวาท ภาพโคโยตี้ หญิงสาวเปลือยอกเต้นยั่วยุ ฯลฯ โดยพิธีกรได้บอกตอนท้ายว่าเป็นการ "เสียดสี" ประเพณีสงกรานต์ไทยในปีนี้ ที่มีการปล่อยให้เต้นยั่วยุในหลายๆพื้นที่ และการทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรงของกลุ่มวัยรุ่น
ใจหนึ่งผมอยากให้ถ่ายใบหน้าผู้หญิงที่กล้าเต้นยั่วยุบนหลังคารถ ให้เพื่อน ให้ญาติพี่น้องเขาได้ดูว่าพฤติกรรมเหล่านี้เหมาะสมหรือไม่ แต่อีกใจหนึ่งก็ "เสียใจ" ครับ ประเพณีไทยกลายเป็นเรื่องกามารมณ์ไปเสียแล้ว
ผมเข้าใจว่าสังคมไทยเปลี่ยนไป เรารับเอาหลายๆอย่างของตะวันตกเข้ามา และพยายามนำมันเข้ามาประยุกต์ใช้กับประเพณีไทย ผมสังเกตได้ว่าหลายๆสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมไทย ประเพณีไทย ได้พยายามปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคกับสมัยมากขึ้น สังเกตง่ายๆเรื่อง "พระ"
สมัยก่อนพระเทศน์วัยรุ่นไม่ฟัง ฟังไม่เข้าใจ ฟังแล้วหลับ แต่ปัจจุบันพระก็พยายามปรับการเทศนาสอนสั่งให้เข้ากับยุคเข้ากับสมัย ดึงกลุ่มวัยรุ่นให้เข้ามาฟังได้มากขึ้น สิ่งนี้เป็นการปรับปรุงในทางที่ดีที่งาม แล้วเรามาดูที่ประเพณีสงกรานต์บ้าง ประเพณีสงกรานต์ก็ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เปลี่ยนจากขันเป็นกระบอกฉีดน้ำ เปลี่ยนการพรมน้ำเป็นการสาดน้ำแถมการลวนลามในเชิงประเพณีด้วยการปะแป้ง หลายๆสิ่งที่ประเพณีสงกรานต์พยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยกลับทำให้ประเพณีนี้นับวันยิ่งเสื่อมลงทุกๆปี
ต้องขอบอกก่อนว่าผมไม่ได้เล่นสงกรานต์มาเป็นสิบปี เหตุที่ไม่เล่นสงกรานต์เหตุผลเดียวคือ "เสียดายน้ำ"
บ้านผมอยู่ต่างจังหวัด หน้าบ้านเป็นทุ่งนา หลังบ้านเป็นแม่น้ำท่าจีน แต่ทว่าก็มีปัญหาเรื่องน้ำปะปาหมู่บ้านอยู่เป็นประจำ เรื่องน้ำไม่มาเป็นเรื่องธรรมดา น้ำไม่แรงเป็นเรื่องปกติ ผมถูกสั่งสอนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดมาแต่เด็ก และคงด้วยในบริเวณรอบๆบ้านไม่มีเด็กวัยเดียวกันก็เลยทำให้ไม่รู้จะไปเล่นสงกรานต์กับใคร
แถวๆบ้านมีการทำนากุ้ง นาข้าว การเกษตรจำนวนมาก เรื่องน้ำเป็นเรื่องหลักของคนในพื้นที่นี้(และทั่วประเทศ) ผมจะได้ยินลูกค้าที่บ้านที่เป็นเกษตรกรมาบ่นให้ฟังเรื่อยว่า "น้ำไม่มีอีกแล้ว" หลายครั้งก็ได้เห็นด้วยตาตัวเอง คลองชลประทานไม่มีน้ำ หลายครอบครัวลำบาก ทำการเกษตรไม่ได้
มันจึงเป็นสำนึกในสันดานของผมเสมอมาว่า "ไม่เล่นสงกรานต์" เพราะเสียดายน้ำ เอาน้ำนั้นมารดต้นไม้ดีกว่า(เพราะบ้านผมต้นไม้เยอะครับ)
แต่การรดน้ำดำหัว เช็ดถู(สรงน้ำ)พระพุทธรูป การทำบุณ ถวายทรายให้วัดก็เป็นเรื่องทำประจำปี ขาดแต่ก็เพียง "สาดน้ำสงกรานต์"
ดังนั้นข้อเขียนของผมนี้เกิดขึ้นจากกมลสันดานที่ไม่ชอบการสาดน้ำสงกรานต์เพราะเสียดายน้ำ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเป็นคนจริตขวางโลก ขวางความเจริญทางการท่องเที่ยวของประเทศแต่อย่างใด
ผมโดนด่าเป็นประจำทุกปีที่มีการเล่นสงกรานต์จากเพื่อนๆนั่นหล่ะครับที่พยายามชักชวนให้ไปเล่นน้ำสงกรานต์ตามประสาวัยรุ่นเขาทำกัน ผมบอกไปว่า "เสียดายน้ำ" เท่านั่นเสียต่อว่าต่อขานก็มาถึงหูคนขี้เกียจแบบเดิมๆทุกๆปีว่า "คิดแบบขวางโลก" เล่นน้ำไม่กี่วันจะไปเปลืองเสียเท่าไหร่??
ก็จริงครับที่ว่า "เล่นไม่กี่วันจะไปเปลืองเสียเท่าไหร่" อาจจะไม่เท่าไหร่คนกรุงเทพฯที่ใช้น้ำใต้ดินกันอย่างไม่รู้ค่า แต่อาจจะมากมายมหาศาลในบางพื้นที่ของประเทศที่กำลังแล้งน้ำอย่างที่สุด
น้ำที่ท่านๆสาดกันใน TV หากรวมกันทั้งประเทศแล้วอาจจะเป็นทำให้น้ำในเขื่อนภูมิพลลดลงมาแค่ 5 cm แต่นั่นก็เพียงพอกับการใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมหลายร้อยหลายพันไร่หรือเปล่า?
ผมไม่ทราบว่าการปะปาจะทำสถิติการใช้น้ำในประเพณีสงกรานต์ว่าเพิ่มขึ้นจากปกติเท่าไหร่ ปริมาณน้ำทั้งหมดเท่าไหร่ และน้ำนี้สามารถนำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมเท่าไหร่ หรือเปล่านะครับ เพราะผมคงไม่มีความสามารถไปหาข้อมูลเหล่านี้ได้ แต่ผมก็พยายามคิด(มาก)ไปว่าการใช้น้ำในปริมาณที่มากแบบนี้นั้นเป็นการนำ "น้ำ" ในอนาคตมาใช้หรือเปล่า??
ในอดีตครั้งบ้านเมืองดี อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ อาหาร ประเพณีสงกรานต์เขาเพียง "พรม" พอเป็นพิธีการ เพื่อคลายร้อน แต่วันนี้ไม่มีพรมมีแต่ "สาด" ถนนที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำ พร้อมด้วยขยะจำนวนมาก ผมเสียดายน้ำจริงๆครับ(ไม่ได้ดัดจริตแต่ประการใด)
ดังนั้นผมจึงขอฝากรัฐบาลหน้า(ไม่ว่าจะพรรคไหน)
กรุณาเอาใจใส่ "วันปีใหม่ไทย" มากกว่านี้หน่อย
กรุณาเอาใจใส่ "ประเพณีสงกรานต์(จริงๆ)" มากกว่านี้หน่อย
กรุณาควบคุม "การเต้นยั่วยุ การแต่งกาย แอลกอฮอลล์" มากกว่านี้หน่อย
ถ้าจะให้ดี "ส่งเสริม" ให้เป็นวันแต่งกาย "ชุดประจำชาติ" โชว์ความเป็นไทยให้มากกว่านี้หน่อย
อย่าให้เพียงหน้าที่การเผยแพร่วัฒนธรรมไทยเป็นหน้าที่ของ "คนไทยในต่างแดน" เท่านั้นครับ!!!!