สโมสรบ้านเพลงไทย > ห้องพระ
ความลับไม่มีในโลก(พุทธพจน์)
(1/1)
มหาสุ:
นตฺถิ โลเก รโห นาม ความลับไม่มีในโลก
นางจิญจมาณวิกา ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า
นางจิญจมาณวิกา ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า ถูกแผ่นดินสูบไปเกิดในอเวจีมหานรก
ลาภสักการะและความนับถือเป็นอันมาก เกิดขึ้นแก่พระศาสดาและพระสาวก พวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย เป็นเช่นกับแสงหิ่งห้อย ท่ามกลางแสงอาทิตย์ เสื่อมจากลาภสักการะเพราะไม่มีใครนับถือ หรือมีผู้นับถือน้อยลงมาก
พวกเดียรถีย์ก็มายืนอยู่กลางถนนแล้วประกาศว่าพระโคดมเท่านั้นหรือที่เป็นพระพุทธเจ้า พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ทานที่ให้แก่พระสมณโคดมเท่านั้นหรือที่มีผลมาก ทานที่ให้แก่พวกเราก็มีผลมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงให้ทานแก่พวกเราบ้าง
เรียกว่าขอกันดื้อๆ เลยทีเดียว แม้กระนั้นไม่สามารถที่จะกระทำให้ลาภสักการะเกิดขึ้นได้ จึงประชุมกันว่า พวกเราควรจะหาโทษใส่พระสมณโคดมสักอย่างหนึ่ง ให้คนทั้งหลายหมดความเชื่อ หมดความเลื่อมใสในพระสมณโคดม ลาภสักการะ ความนับถือจะได้เกิดขึ้นกับพวกเราดังเดิม เขาตกลงกันว่าจะใช้หญิงหนึ่งทำลายชื่อเสียงของพระพุทธเจ้า อันนี้ก็เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส
ถึงทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากมากมายในสังคมมนุษย์ ในสังคมใดที่คนมีกิเลสน้อย เรื่องยุ่งยากก็มีน้อย แต่พอมีกิเลสมากขึ้น หรือว่าไม่สามารถดับมันได้ ระงับมันอยู่ มันก็สร้างปัญหาต่างๆ สร้างเรื่องต่างๆ ให้เกิดขึ้น ใส่ร้ายผู้อื่นบ้าง กล่าวร้ายผู้อื่นบ้าง ทำร้ายผู้อื่นบ้าง มากมายเหลือที่จะคณานับ
เพราะว่าดูเรื่องราวยิ่งดูก็ยิ่งสังเวชใจในพฤติกรรมของมนุษย์ ทำไมมนุษย์จึงทำกันได้ถึงขนาดนี้ ทำลายและทำร้ายกันได้ถึงขนาดนี้
นี่ก็ทำนองเดียวกัน แรงริษยาที่เกิดขึ้นในใจของพวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย ก็ใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธเจ้า และได้เครื่องมือคือหญิงคนหนึ่ง
ในครั้งนั้น มีหญิงคนหนึ่งชื่อจิญจมาณวิกา รูปสวยมาก ท่านกล่าวว่า สวยงามเหมือนเทพอัปสร แต่เราก็ไม่เคยเห็นเทพอัปสรหรือเทพธิดา ก็ไม่รู้ว่าสวยขนาดไหน ต้องถามท่านที่เคยเห็น ท่านว่ารัศมีออกจากกายของเธอ น่าดูน่าชม เป็นพวกเดียวกับเดียรถีย์
วันหนึ่ง ขณะที่นางจิญจมาณวิกาปริพาชิกา ไปหาพวกเดียรถีย์ที่อาราม ทำความเคารพแล้วยืนอยู่ ที่เคยมานั้นเดียรถีย์ก็ย่อมแสดงอาการยินดีต้อนรับเมื่อนางมา แต่วันนั้นทุกคนเฉยไปหมด นางพูดว่า
“พระคุณเจ้า ดิฉันไหว้” อย่างนี้ถึง 3 ครั้ง แต่พวกเดียรถีย์ก็ยังคงเฉยดังเดิม นางคิดว่าเธออาจมีความผิดอะไรสักอย่างหนึ่ง จึงถามว่า “ดิฉันมีความผิดอะไรหรือ ดิฉันได้ทำอะไรให้ไม่เป็นที่พอใจพระคุณเจ้าหรือ จึงพากันนิ่งไปหมด ไม่ยอมพูดกับดิฉัน”
เดียรถีย์จึงกล่าวขึ้นว่า “เจ้าไม่ทราบดอกหรือว่าเวลานี้ลาภสักการะของเราเสื่อมหมดแล้วเพราะใคร เพราะพระสมณโคดมคนเดียว เจ้าไม่รู้สึกเจ็บร้อนแทนพวกเราบ้างเลยหรือ”
จิญจมาณวิกาตอบว่า “ความทุกข์ของพระคุณเจ้าทั้งหลายก็เหมือนความทุกข์ของดิฉันเอง ไว้เป็นหน้าที่ของดิฉันเถิด จะจัดการให้เรียบร้อย ทำลาภสักการะให้เกิดแก่พระคุณเจ้าทั้งหลายดังเดิม”
พูดอย่างนี้แล้วก็จากไป นางก็วางแผนว่าจะทำอย่างไร นางก็เริ่มแต่งกายอย่างดี ห่มผ้าสีสวยเหมือนสีปีกแมลงก้อนทอง ถ้าไม่ผิดก็เป็นสีเขียวและมีสีทองปนอยู่ ถือของหอมและดอกไม้มุ่งหน้าไปวัดเชตวัน ในเวลาที่ชาวเมืองสาวัตถีฟังธรรมแล้วก็กลับออกมา นางเดินสวนเข้าไป เมื่อมหาชนถามว่าจะไปไหนเวลานี้ นางตอบว่า “ธุระอะไรของพวกท่านในการไปหรือการมาของข้าพเจ้า”อย่างนี้แล้วก็เดินผ่านวัดเชตวันไปพักวัดของพวกเดียรถีย์ ใกล้วัดเชตวันนั้นเอง ตอนเช้าเมื่ออุบาสกอุบาสิกาชาวนครสาวัตถีออกจากนครไปวัดเชตวัน เพื่อถวายบังคมพระศาสดา นางจิญจมาณวิกาทำทีเหมือนตนพักอยู่ในวัดเชตวันทั้งคืน ด้วยการเดินสวนออกมา
เมื่อถูกถามว่า พักอยู่ที่ไหน นางตอบว่า “ธุระอะไรของพวกท่านกับที่พักของข้าพเจ้า” นางทำอยู่อย่างนี้ประมาณ 2 เดือน
เมื่อคนทั้งหลายถามอีก จึงตอบว่า “ข้าพเจ้าพักอยู่ในพระคันธกุฎีของพระสมณโคดม ในวัดเชตวันนั่นเอง”
ชาวพุทธที่เป็นปุถุชนทั้งหลายสงสัยกันมากว่า ข้อความที่นางจิญจมาณวิกากล่าวนั้น เป็นความจริงหรือหนอ ส่วนพระอริยบุคคลไม่มีใครเชื่อเลยล่วงไป 3-4 เดือน นางเอาผ้าพันท้องให้หนาขึ้นเพื่อแสดงว่ามีครรภ์ และให้คนทั้งหลายเข้าใจว่านางตั้งครรภ์เพราะร่วมอภิรมย์กับพระโคดมบรมศาสดาที่คันธกุฎีในวัดเชตวัน พอถึงเดือนที่ 8 ที่ 9 นางก็เอาไม้กลมๆ ผูกไว้ที่ท้อง เอาผ้าห่มทับไว้ ให้คนเอาไม้คางโคทุบหลังมือหลังเท้าให้บวมขึ้น ให้มีอวัยวะต่างๆบอบช้ำ ล่อลวงคนทั้งหลายให้เข้าใจว่าตนมีครรภ์แก่จวนคลอดเต็มทีแล้ว
เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระศาสดากำลังแสดงธรรมอยู่ ท่ามกลางพุทธบริษัทในธรรมสภา นางได้เข้าไปยืนตรงพระพักตร์พระตถาคตเจ้า แล้วก็กล่าวว่า“มหาสมณะ พระองค์ดีแต่แสดงธรรมแก่มหาชนเท่านั้น กระแสเสียงของพระองค์ไพเราะยิ่งนัก พระโอษฐ์ของพระองค์ดูสนิทดี แต่พระองค์มิได้สนพระทัยในหม่อมฉันเลย หม่อมฉันซึ่งตั้งครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว ครรภ์นี้อาศัยพระองค์ตั้งขึ้น พระองค์ไม่เอาพระทัยใส่ต่อเครื่องบริหารครรภ์เลย แม้ไม่ทำเองก็ควรตรัสบอกสานุศิษย์คนใดคนหนึ่ง เช่น นางวิสาขา หรืออนาถบิณฑิกะ หรือพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้ช่วยเหลือในการนี้ พระองค์ทรงรู้แต่การอภิรมย์อย่างเดียว แต่ไม่ทรงสนพระทัยในการคลอดของหม่อมฉันเลย”
ความพยายามของนางเป็นเหมือนจับก้อนคูถขึ้นปาพระจันทร์ พระตถาคตเจ้าหยุดแสดงธรรมอยู่ครู่หนึ่ง เมื่อนางพูดจบ พระองค์ก็ตรัสด้วยพระกระแสเสียงอันเรียบว่า
“น้องหญิง เรื่องนี้เราทั้งสองคนเท่านั้นที่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง”
นางจิญจมาณวิกาโกรธมาก เต้นด่าพระตถาคตเจ้าจนเชือกขาด ผ้าและท่อนไม้กลมเกลี้ยงหล่นลงมาจากท้องของนาง
(อันนี้ขอเล่าเพิ่มเติมนิดหนึ่งคือ ถ้าเล่าตามตำนานในอรรถกถา ท่านกล่าวว่า เมื่อพระศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว ก็ร้อนถึงท้าวสักกะเทวราช เทวดามาช่วย ท้าวสักกะมาถึงด้วยเทพบุตร 4 องค์ เทพบุตรแปลงเป็นลูกหนูเข้าไปกัดเชือกที่นางผูกไว้ จนเชือกขาด ผ้าและท่อนไม้ก็หล่นลงมา อรรถกถาท่านว่าอย่างนั้น)
มหาชนได้เห็นกับตาเช่นกัน ก็แช่งด่านางจิญจมาณวิกาว่าเป็นหญิงกาลกรรณี ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า ก็พากันถ่มน้ำลายใส่บ้าง ขว้างด้วยก้อนดินและท่อนไม้ใส่บ้าง ฉุดกระชากออกไปจากวัดเชตวัน พอลับคลองพระเนตรของพระศาสดาไปเท่านั้น
นางจิญจมาณวิกาก็ถูกแผ่นดินสูบไปเกิดในอเวจีมหานรก
"ความลับไม่มีในโลก"
มหาสุ:
อย่างนั้นหรือ (Is that so?)
ชื่อเรื่อง "Is that so? " ท่านลองแปลเอาเองว่าอย่างไรความหมายมันก็คล้ายๆ กับคำว่า "อย่างนั้นหรือ" มีเรื่องเล่าอยู่ว่า ณ สำนักเซ็นของอาจารย์เฮ็กกูอิน ที่เป็นวัดที่เลื่องลือมาก เป็นที่พึ่งของคนในหมู่บ้าน และมีร้านขายของชำร้านหนึ่งอยู่ใกล้ๆ กับวัดนั้น มีหญิงสาวสวยคนหนึ่งเป็นลูกสาวเจ้าของร้าน แต่ไม่รู้ไปทำอย่างไรปรากฎว่าเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา พ่อแม่ของเธอก็พยายามขยั้นขยอถามว่า "ลูกท้องได้อย่างไร ท้องกับใคร" ลูกสาวก็ไม่ยอมบอก แต่เมื่อถูกบีบคั้นหนักเข้า ก็ระบุชื่อของอาจารย์เฮ็กกูอิน ขึ้นว่าเป็นคนที่ทำให้เธอท้อง
เมื่อหญิงสาวคนนั้นระบุชื่อของอาจารย์เฮ็กกูอินว่าเป็นบิดาของเด็กที่อยู่ในครรภ์ พ่อแม่ก็เกิดอาการโกรธเป็นฟืนเป็นไฟและเดินทางไปที่วัดทันที และก็ไปด่าท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ด้วยสำนวนโวหารของคนที่โกรธที่สุดที่มักจะเผลอพูดออกมากับอารมณ์โมโหเหล่านั้น
แต่ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้พูดอะไรนอกจากคำว่า "Is that so?" คือคำว่า อย่างนั้นหรือ ทั้งคู่ยืนด่าท่านอาจารย์จนเหนื่อย ไม่มีเสียง ไม่มีแรงที่จะด่าต่อไปอีก และในที่สุดก็กลับบ้านไปเอง หลังจากนั้นชาวบ้านที่เคยเคารพนับถือท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ก็พากันหมดศรัทธาและรุมด่าทอท่านว่า เสียแรงที่เคยเคารพนับถือต่างๆ นานา ท่านก็ไม่มีประโยคอะไรที่จะพูด นอกจากคำว่า Is that so? แม้แต่พวกเด็กๆ ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวก็ยังพากันด่าว่า "พระบ้า พระอะไรไม่ปฏิบัติตัวอยู่ในศีลธรรม" ตามภาษาของเด็ก ท่านก็ว่า "Is that so?" ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
ต่อมา หญิงสาวคนนั้นก็ได้คลอดเด็ก พ่อแม่ของหญิงสาวที่เป็นตายายของเด็กก็เอาเด็กไปทิ้งไว้ให้ท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ในอารมณ์ของการประชดประชันว่า "แกต้องเลี้ยงเด็กคนนี้" ท่านอาจารย์ก็ได้แต่บอกว่า "Is that so?" อีกตามเคย ท่านรับเด็กเอาไว้ และหานม หาอาหารสำหรับเด็กอ่อนจากผู้คนที่เขาเห็นอกเห็นใจท่านอาจารย์เฮ็กกูอินอยู่ พอเลี้ยงให้เด็กคนนั้นรอดชีวิตเติบโตอยู่ได้
ต่อมาไม่นานนัก หญิงสาวผู้เป็นมารดาของเด็กก็ทนอยู่กับไฟนรกที่สุมอยู่กลางใจของเธอไม่ได้ เพราะว่าเธอไม่ได้พูดความจริง มีอยู่วันหนึ่งเธอจึงไปสารภาพกับพ่อแม่ของเธอว่า บิดาที่แท้จริงของเด็กคนนั้นคือ เจ้าหนุ่มที่อยู่ร้านขายปลา เมื่อทราบดังนี้พ่อแม่ของเธอก็เหมือนมีไฟนรกเข้าเผาจิตใจอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงรีบเข้าไปที่วัดและกราบขอโทษขอโพยท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ครั้งแล้วครั้งเล่า เท่ากับความรู้สึกต่อความผิดที่พวกเขาได้ก่อเอาไว้ แต่ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้พูดอะไรนอกจาก "Is that so?"
จากนั้นสองตายายก็ได้ขอหลานกลับไปเลี้ยงดู ต่อมาชาวบ้านที่เคยด่าท่านอาจารย์ก็แห่กันเดินทางมาขอโทษ เพราะความจริงปรากฎเช่นนี้แล้ว ชาวบ้านเดินทางมาขอโทษท่านอาจารย์อยู่นานหลายวัน ท่านก็ไม่มีอะไรจะพูดนอกจาก Is that so? อีกนั่นเอง
นิทานเรื่องนี้สอนเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "นตฺถิ โลเก รโห นาม" และ "นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต" แปลว่า การไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก แต่ท่านทั้งหลายลองเปรียบเทียบดูว่า ถ้าท่านครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้กระทำเช่นเดียวกับอาจารย์เฮ็กกูอิน ท่านจะเป็นอย่างนี้ไหม คือ จะพูดว่า Is that so? อยู่ได้หรือไม่ ถ้าได้เรื่องก็คงไม่เป็นอย่างที่กำลังเป็นอยู่ คือคงจะไม่ถูกฟ้องว่าตีเด็กเกินควร หรืออะไรทำนองนั้น ต้องไปถึงศาลก็มี นี่มันคือความหวั่นไหวทางอารมณ์มากเกินไป
จนกระทั่งเด็กเล็กๆ ก็ยังทำให้โกรธได้ เรื่องนิดเดียวก็ยังโกรธได้นี้ เพราะว่าไม่ยึดถือความจริงเป็นหลักอยู่ในใจ มันจึงไหวไปตามอารมณ์ โกรธมาก กลัวมาก เกลียดมาก ล้วนแต่เป็นอารมณ์ร้ายไปเสียทั้งนั้น ทำไมไม่คิดว่า มันไม่ใช่เรื่องราวอะไรมากมาย มันไม่ใช่เสียงส่วนมากที่ยืนยันว่า อันนั้นต้องเป็นความจริง ความจริงมันต้องเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ ถ้าจะมีอุเบกขา ก็ควรจะมีอุเบกขาอย่างนี้ ไม่ควรมีอุเบกขาอย่างที่มันผิดๆ กันอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นเราควรรับฟังคนที่เขากำลังถูกกล่าวหาบ้างจะช่วยให้เรามีหลักความเป็นจริงอยู่ข้างในจิตใจ อย่าเพิ่งพิพากษาว่าเขาเป็นคนผิดจนกว่าจะรู้ความจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น
*** ทางทีมงาน Life and Family ขอขอบคุณ นิทานเรื่องสั้น : นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย...ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช 2505 จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ธรรมสภา
มหาสุ:
วันก่อนได้ดูหนังฝรั่งเรื่องหนึ่งที่ตัวเอกต้องฆ่าเพื่อนของตัวเอง เพื่อปกปิดความลับของตนที่บังเอิญเพื่อนไปเห็นเข้า และในตอนจบเพื่อนอีกคนก็ต้องถูกฆ่า เพราะดันไปรู้เรื่องดังกล่าว ซึ่งในฉากหลังจะเห็นเพื่อนบ้านที่มองมายังห้องที่เกิดเหตุการณ์ด้วย เหมือนกับจะบอกว่าความลับไม่มีในโลก
ในความเป็นจริงแล้ว แม้จะไม่มีคนคอยแอบรู้ความลับของเราอย่างในหนังก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มีตัวเราเองที่รู้ ดังนั้นเมื่อเราทำผิดแล้วหาทางที่จะกลบเกลื่อนปกปิดความผิดนั้น เพื่อมิให้คนอื่นรู้ แต่ตัวเองก็รู้อยู่แก่ใจ
การรู้อยู่แก่ใจถึงความผิดความไม่ดีที่ตนได้กระทำ เมื่อมีเหตุปัจจัยให้คิดถึงครั้งใด ย่อมทำให้จิตใจเศร้าหมองเป็นอกุศลทุกครั้ง ความทุกข์ใจไม่ต่างกับของตัวเอกในหนังที่มีคนแอบรู้ความลับเลย ซึ่งจะเป็นเหมือนตราบาปที่ประทับอยู่ในใจ หนักเบาตามแต่อกุศลกรรมที่ได้ทำไว้
เรื่องนี้น่าจะช่วยเตือนสติเราให้ยั้งคิดเวลาจะทำสิ่งไม่ดีไม่งาม แม้จะไม่มีคนเห็นหรือรู้เรื่องก็ตาม เพราะนอกจากความไม่สบายใจที่จะเกิดดังกล่าวแล้ว กรรมย่อมให้ผลไม่ช้าก็เร็ว ไม่ในชาตินี้ก็ชาติหน้าหรือชาติต่อๆไป เราจึงควรละเว้นการกระทำอกุศลทั้งปวง ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง แต่ทั้งนี้จะละเว้นได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องเป็นไปตามกำลังปัญญาและบารมีที่สั่งสมมาด้วย เพราะสภาพธรรมเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้
ลุงชัยนรา:
สา.....ธุ....
เผ่าพงษ์ ปัตตานี:
ในวัยเด็กเคยดูหนังเรื่อง เดอะก๊อดฟาเธอร์ (The god father) มีภาคที่ 1-3 นำแสดงโดย มาลอน แบรนโด ในภาคที่ 1 และ อัล ปาชิโน่ ในภาคต่อมาจนจบ โดยเฉพาะภาคที่ 3 เจ้าพ่ออัลคาโปนย่างเข้าสู่วัยชรา ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน โดยเฉพาะบาปกรรมที่ตนได้สังหารชีวิตคู่ต่อสู้มามากมาย เพียงเพื่อต้องการอำนาจเป็นใหญ่เพียงหนึ่งเดียว เขาทำได้ทุกรูปแบบแม้กระทั่งสังหารญาติพี่น้องของตัวเอง
จนมาถึงช่วงปลายของชีวิตเครียดมากเริ่มปลงตก ไม่มีทางระบายออกเกือบจะเป็นบ้า เพราะต้องรักษา"ความลับ"ในสิ่งที่ตนทำไว้เพียงคนเดียว จนมีคนใกล้ชิดแนะนำให้ไปสารภาพบาปกับบาทหลวงที่ไว้ใจได้ ไม่แพร่งพลายความลับของเจ้าพ่อ จึงทำให้พ้นทุกข์ในใจลงได้ นับเป็นฉากที่ อัล ปาชิโน่ แสดงบีบคั้นอารมณ์ได้ดีมากๆ ผมประทับในฉากนี้
จึงได้ข้อคิดมาถึงทุกวันนี้ว่าทุกศาสนาย่อมมีมุมที่พึ่งทางจิตใจให้มนุษย์ได้มีทางออกเพื่อคลายทุกข์ได้เสมอ ต่างกันที่วิธีการแต่จุดหมายปลายทางเหมือนกัน เพื่อนๆสมาชิกลองหาแผ่นเก่าๆดูนะครับคุ้มค่าจริงๆหนังยาวๆเรื่องนี้
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
Go to full version