โอษฐภัย
(บาลีไทย)
อ่านว่า โอด-ถะ-ไพ
“โอษฐภัย” เขียนเป็นบาลีว่า “โอฏฺฐภย” อ่านว่า โอด-ถะ-พะ-ยะ ประกอบด้วย โอฏฺฐ + ภย
“โอฏฐ” แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ถูกเผาโดยความร้อนในข้าวสุกเป็นต้น” “อวัยวะที่ชอบข้าวสุกเป็นต้น” เราเขียนตามสันสกฤตเป็น “โอษฐ” ความหมายที่เข้าใจกันคือ ปาก, ริมฝีปาก
ดูความหมายตามศัพท์จะเห็นได้ว่า เล็งถึงอวัยวะที่ทำหน้าที่เคี้ยวกินอาหารเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงที่ทำหน้าที่พูด
แต่ในภาษาไทย “ปาก” มีความหมาย 2 นัย คือ เกี่ยวกับการกิน เช่น “เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง” และเกี่ยวกับการพูด เช่น “ปากกล้า” = พูดไม่เกรงกลัวใคร “ปากหวาน” = พูดจาไพเราะ
“ภย” แปลว่า ความกลัว, ความตกใจกลัว, ความหวาดหวั่น, สิ่งที่น่ากลัว, อันตราย
โอฏฐ + ภย = โอฏฐภย = โอษฐภัย เป็นคำที่เราผูกขึ้นจากบาลี (ไม่มีใช้ในคัมภีร์) แปลตามศัพท์ว่า “ภัยเกิดจากปาก” แปลตามความหมายในภาษาไทยว่า “ภัยที่เกิดจากคําพูด” หมายถึง ผลร้ายที่เกิดจากการพูดกระทบกระเทือนถึงผู้มีอำนาจ แล้วถูกกระทำให้เดือดร้อนโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง
: สจฺจํเว อมตา วาจา
ความจริงไม่เคยทำให้คนพูดตาย
การไม่ยอมรับความจริงต่างหากที่ทำ
เพราะฉะนั้น พูดความจริงกับคนที่ไม่ยอมรับความจริง : โอษฐภัย !
นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย