วัชพืช
(บาลีไทย)
อ่านว่า วัด-ชะ-พืด
“วัชพืช” ประกอบด้วยคำว่า วัช + พืช
“วัช” บาลีเป็น “วชฺช” (วัด-ชะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบัณฑิตพึงละหรือต้องละ” (มีความหมายอย่างอื่นอีก)
“พืช” บาลีเป็น “พีช” (พี-ชะ) และ “วีช” (วี-ชะ) หมายถึงส่วนของสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่ขยายพันธุ์ คือ พันธุ์ไม้, หน่อ, เมล็ดพืช, เชื้อ, น้ำกาม, ไข่ (ดูเพิ่มเติมที่คำว่า “พืช”)
ควรทราบว่า “พีช-วีช” ในบาลีนั้น หมายถึงส่วนที่เป็นหน่อ เป็นเมล็ด เป็นเชื้อที่จะขยายพันธุ์ต่อไปเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงลำต้นกิ่งก้านหรือตัวที่เติบโตแล้วจากหน่อหรือจากเชื้อนั้น
แต่ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า “พืช” คือพรรณไม้ที่งอกอยู่ตามที่ต่าง ๆ
วชฺช + พีช ใช้ในภาษาไทยว่า วัชพืช มีความหมายว่า พืชที่ควรละทิ้ง, พืชที่ควรกำจัด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า “วัชพืช : พืชที่ไม่ต้องการ เช่นหญ้าคาในแปลงข้าว”
: ผู้รู้ท่านแบ่งคนเป็น 3 จำพวก คือ
1 คณโสภกะ เกิดมาทำให้โลกงาม เหมือนดอกไม้
2 คณปูรกะ เกิดมาทำให้โลกเต็ม เหมือนพืชทั่วไป
3 คณทูสกะ เกิดมาทำลายโลก เหมือนวัชพืช
ธรรมะกับทำนา
อันเนื่องมาจากวันพืชมงคล
สำหรับท่านที่ต้องการนำไปอ้างอิงว่า พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ไว้อย่างไร
หลักเป็นดังนี้ครับ :
(๑)
สทฺธา พีชํ ตโป วุฏฺฐิ
ปญฺญา เม ยุคนงฺคลํ
หิริ อีสา มโน โยตฺตํ
สติ เม ผาลปาจนํ.
ศรัทธาเป็นพันธุ์พืช
ตบะ (ความเพียร) เป็นน้ำฝน
ปัญญาเป็นแอกและไถ
หิริเป็นงอนไถ
ใจเป็นเชือกชัก
สติเป็นผาลและประตัก
ที่มา : สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๖๗๔
(๒)
กมฺมํ เขตฺตํ กรรมเป็นที่นา
วิญฺญาณํ พีชํ วิญญาณเป็นพันธุ์พืช
ตณฺหา สิเนโห ตัณหาเป็นยาง (ในพืช)
ที่มา : นวสูตร ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๑๖ —
นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย