กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิก.

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
การค้นหาขั้นสูง  

ข่าว:

ผู้เขียน หัวข้อ: กระสันต์ / กระสัน  (อ่าน 11525 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

มหาสุ

  • **แก้ไข**
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 749
  • กระทู้: 135
  • Thank You
  • -Given: 323
  • -Receive: 749
กระสันต์ / กระสัน
« เมื่อ: มิถุนายน 02, 2013, 09:33:36 PM »
กระสัน-กระสันต์

          คำในภาษาไทยส่วนมากมักจะมีคำบาลีและสันสกฤตปะปนอยู่มากที่สุด  ถ้าเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ดูจะเห็นว่าคำไทยส่วนมากมีรากฐานมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตแทบทั้งนั้น บางคำก็เอาของเขามาใช้ตรง ๆ และความหมายก็ยังคงเดิม เช่น “ขณะ, คณะ” ก็คงเขียนอย่างเดิม เพียงแต่ประวิสรรชนีย์ลงไปท้ายพยางค์หลัง บางทีก็ลดพยางค์ลง เช่น ขย (ขะ-ยะ) วย (วะ-ยะ) เราก็เขียนเป็น “ขัย” และ “วัย” คำบางคำเราบัญญัติขึ้นใช้เอง  คำในภาษาบาลีและสันสกฤตแท้ ๆ ไม่มี หากแต่ละคำที่เราเอามาผสมกันนั้นมี  แต่เมื่อผสมกันบัญญัติเป็นคำใหม่ขึ้นมาแล้ว เราก็ใช้อย่างที่เราต้องการโดยคงเค้าความหมายเดิมไว้พอให้สังเกตเห็น แต่รูปร่างและเสียงเป็นแบบไทย ๆ เช่น รัฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สหประชาชาติ ฯลฯ บางคำเราก็เอามาปรุงโฉมใหม่ออกเสียงเป็นแบบไทย ๆ เช่น คำว่า “ไปรษณีย์” นั้น ก็ได้เค้ามาจากภาษาสันสกฤตว่า “เปฺรษณ” (เปฺร-สะ-นะ) แปลว่า “ส่งไป” แล้วก็เป็น “เปฺรษณีย” ตรงกับภาษาบาลีว่า “เปสน” (เป-สะ-นะ) และ “เปสนีย” (เป-สะ-นี-ยะ) ไทยเราใช้เป็น “ไปรษณีย์” คำอย่างนี้ เจ้าของภาษาเองมาพบเข้าก็อาจงง และบางทีก็อาจแปลไม่ออกเหมือนกัน

          ยังมีคำอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมิได้มาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤตเลย แต่ก็มักจะถูก “จับบวช” เป็นแขกไป คำประเภทนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังที่ได้เคยนำมาเสนอท่านผู้ฟังบ้างแล้ว วันนี้ขอเสนอคำที่มักเขียนผิดอยู่อีกคำหนึ่ง โดยเฉพาะในนวนิยายที่มีเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ทั่ว ๆ ไป  นั่นคือคำว่า “กระสัน” เช่น ข้อความว่า “รู้สึกกระสันถึง” อย่างในโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งที่นางสนมคนหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้กล่าวดูหมิ่นศรีปราชญ์ที่เผยอตัวไปเกี้ยวพาราสีนางว่า

                    หะหายกระต่ายเต้น          ชมจันทร์
          มันบ่เจียมตัวมัน                          ต่ำต้อย
          นกยูงหากกระสัน                       ถึงเมฆ
          มันบ่เจียมตัวน้อย                         ต่ำต้อยเดียรัจฉาน”

          คำว่า “กระสัน” ในที่นี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ “ก. คะนึง, คิดผูกพันอยู่, มีใจจดจ่ออยู่, เช่น ปู่กระสันถึงไก่ในไพรพฤกษ์; กระวนกระวายในกาม เช่น กระสันสวาท; ผูกให้แน่น เช่น กระสันเข้าไว้กับหลัก, รัด เช่น สายกระสัน; ต่อเนื่อง เช่น มุขกระสัน. ว. แน่น เช่น พระขรรค์เหน็บกระสันอยู่เป็นนิจ.”

          แต่คำว่า “กระสัน” นี้ ในนวนิยายส่วนมากมักจะเขียนเป็น “กระสันต์” คือ มี ต การันต์ด้วย ทั้งนี้คงจะไปนึกถึงคำว่า “สุขสันต์” หรือ “เกษมสันต์” เป็นต้น คำดังกล่าวนั้นเป็นคำบาลี แปลว่า “สงบ” จึงต้องมี ต การันต์ ส่วน “กระสัน” ที่ไม่มี ต การันต์ ซึ่งไม่ใช่คำบาลีหรือสันสกฤตนั้น มีลักษณะตรงข้ามกับสงบเพราะมีความกระวนกระวายใจ งุ่นง่านใจ โดยมากมักจะในเรื่องเกี่ยวกับกามารมณ์มากทีเดียว.

ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม