พระบรมสารีริกธาตุ
อ่านว่า พระ-บอ-รม-มะ-สา-รี-ริ-กะ-ทาด
ประกอบด้วยคำว่า พระ + บรม + สารีริก + ธาตุ
“พระ” ผู้รู้ว่ามาจาก “วร” (วะ-ระ) แปลว่า ประเสริฐ ใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง
“บรม” บาลีเป็น “ปรม” (ปะ-ระ-มะ) แปลว่า อย่างยิ่ง, เยี่ยม, ยอดเยี่ยม, สูงสุด, ดีที่สุด ในภาษาไทยมักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่
“สารีริก” (สา-รี-ริ-กะ) คำเดิมคือ “สรีร” (สะ-รี-ระ) หมายถึงร่างกาย, ตัว, เรือนร่าง
สรีร + ณิก ปัจจัย = สารีริก
สูตรของ ณิก ปัจจัย คือ ลบ ณ เหลือแต่ อิก และถ้าพยางค์ต้นศัพท์เป็นเสียงสั้น (อะ อิ อุ) ให้ยืดเป็นเสียงยาว (อะ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู)
ดังนั้น สรีร (ส- เสียงสั้น) จึงเปลี่ยนรูปเป็น สารีร + อิก = สารีริก แปลตามศัพท์ว่า “มีอยู่ในสรีระ” “เกี่ยวกับร่างกาย” หมายถึงกระดูก
“ธาตุ” (บาลีอ่านว่า ทา-ตุ) ความหมายทางธรรมว่า สิ่งที่ทรงสภาวะของมันอยู่เองตามธรรมดาของเหตุปัจจัย (= รากเดิมของสิ่งต่างๆ) แต่ในที่นี้หมายถึงกระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์
“พระบรมสารีริกธาตุ” จึงหมายถึงพระอัฐิธาตุคือกระดูกของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่คนไทยคุ้นปากกันเป็นอันดี แต่อาจจะไม่ทันได้นึกว่า “สารีริก” รากศัพท์มาจาก “สรีระ” นี่เอง
วันอัฐมี คือแรม ๘ ค่ำ เดือนวิสาขะ เป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ชาวโลกได้เห็นพระบรมสารีริกธาตุเป็นครั้งแรก และได้ทำสักการบูชาเป็นพุทธานุสติสืบมาจนถึงทุกวันนี้
บาลีวันละคำ วันนี้ ถวายเป็นอัฐมีบูชา
นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย