มารวิชย
อ่านว่า มา-ระ-วิ-ชะ-ยะ
ภาษาไทยเขียน “มารวิชัย” อ่านตามหลักภาษาว่า มา-ระ-วิ-ไช อ่านตามสะดวกปากว่า มาน-วิ-ไช
“มารวิชย” ประกอบด้วย มาร + วิชย
“มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี
“วิชย” แปลว่า ชัยชนะ, ความมีชัย, การปราบหรือพิชิต
“มารวิชย-มารวิชัย” แปลว่า “ชนะมาร”
คำนี้ไม่พบในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก แต่มีในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา และท่านระบุว่า “มาร” ในที่นี้คือ “กิเลส”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 อธิบายคำ “มารวิชัย” ว่า “ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางควํ่าลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้ ว่า พระปางมารวิชัย, พระปางชนะมาร หรือ พระปางสะดุ้งมาร ก็เรียก”
ความจริง คำว่า “สะดุ้งมาร” เป็นคำที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องมีอยู่ว่าเจ้านายพระองค์หนึ่งไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ เห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่งช่างทำพุทธลักษณะไม่งาม จึงตรัสอย่างเป็นคำคะนองด้วยอารมณ์ขันว่า “พระองค์นี้น่ากลัวจะสะดุ้งมาร”
คำว่า “สะดุ้งมาร” เป็นคำเตะหู ผู้ได้ยินคำนั้นเอาไปพูดต่อกันไป เลยติดหูและติดปาก แล้วกลายเป็นคำที่เรียกกันไปจริงๆ มาจนทุกวันนี้
: เข้าใจผิดทุกวาร ก็ “สะดุ้งมาร” ทุกวัน
: เข้าใจถูกเมื่อใด ก็ “มารวิชัย” เมื่อนั้น