สโมสรบ้านเพลงไทย > ห้องพระ

สมมต - สมมติ - สมมุติ

(1/1)

มหาสุ:
สมมต - สมมติ - สมมุติ

 คำที่เป็นหลักใน 3 คำนี้ คือ สม + มต
 “สม” บาลีเป็น สํ (สัง) แปลงนิคหิต (เครื่องหมายกลมๆ บน ส) เป็น มฺ = สมฺ อ่านว่า สำ
 “มต” (มะ-ตะ, เป็นคำกริยา) แปลว่า “รู้แล้ว”
 ลง ติ ปัจจัย เป็น “มติ” (เป็นคำนาม) แปลว่า ความรู้, ญาณ, ปัญญา, ความคิด
 แปลง อ (ที่ ม) เป็น อุ เป็น “มุติ” (เป็นคำนาม) แปลว่า ญาณ, ปัญญา, ความรู้, ความเข้าใจ, สติปัญญา, การกำหนดรู้โดยทางประสาท, ประสบการณ์

 มต, มติ, มุติ เติม “สมฺ” เข้าข้างหน้า ได้รูปเป็น สมฺมต, สมฺมติ, สมฺมุติ เขียนแบบไทยเป็น สมมต, สมมติ, สมมุติ (ลบจุดใต้ ม ตัวแรก)
 สมมต, สมมติ อ่านแบบไทยว่า สม-มด
 สมมุติ อ่านแบบไทยว่า สม-มุด
 ทั้งสามคำนั้นแปลตามศัพท์ว่า “รู้พร้อมกัน” “รับรู้ร่วมกัน” “ยอมรับร่วมกัน”

 ภาษาไทย ใช้ในความหมายที่แตกต่างออกไป พจน.42 บอกไว้ดังนี้
 - “รู้สึกนึกเอาว่า” เช่น สมมติให้ตุ๊กตาเป็นน้อง
 - “ต่างว่า, ถือเอาว่า” เช่น สมมุติว่าได้มรดกสิบล้าน จะบริจาคช่วยคนยากจน สมมุติว่าถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ 1 จะไปเที่ยวรอบโลก
 - “ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง” เช่น สมมติเทพ

 คำตามความหมายเหล่านี้ เราออกเสียงเป็น สม-มุด กันโดยทั่วไป

 : สมมุติไม่ใช่เรื่องจริง แต่เมื่อสมมุติให้เป็นอะไร จงทำหน้าที่นั้นให้จริง

สมภพ:
แต่ผมอ่านจบทุกตอนจริงๆ ครับ ไม่ได้สมมุติ  :11

เผ่าพงษ์ ปัตตานี:
ภาษาไทยยากจริงๆนะ เพราะคำต่างๆเราอิงมาจากภาษาบาลี สันสกฤต เป็นส่วนมาก ในขณะเดียวกันเราขาดฐานความรู้ทั้งสองภาษาค่อนข้างมากถึงมากที่สุด จึงทำให้ยากที่จะเข้าใจถึงรากภาษาเดิมได้ และมักเขียนผิดกัน เลยเป็นเหยื่ออันโอชะของข้อสอบหลักการใช้ภาษาไทยในชั้นเรียน

มหาสุ:
ไม่เป็นไรขอรับ บ้านเรามีภาษาไทยวันละหลายคำ

มดแดงซ่า:
ได้ความรู้ดีมากๆครับ คำๆเดียวที่เขียนต่างกันแต่ความหมายเหมือนกัน เข้าใจชัดเจนดีครับ ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆที่นำมาแบ่งปันครับ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version