กวี
อ่านว่า กะ-วี
บาลีกับไทยใช้เหมือนกัน แต่บาลีมีทั้งที่เป็น “กวิ” และ “กวี”
“กวี” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สรรเสริญ” (คือแต่งบทสรรเสริญเทพเจ้า) “ผู้ผูกทั่ว” (คือเอาถ้อยคำมาผูกเข้าเป็นบทกลอน) “ผู้กล่าวถ้อยคำที่น่ารักเป็นปกติ” “ผู้กล่าวถ้อยคำดื่มด่ำ”
ในคัมภีร์จำแนก “กวี” ออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. จินฺตากวี = แต่งโดยความคิด (an original poet.กวีที่ไม่เลียนแบบใคร)
2. สุตกวี = แต่งโดยได้ฟังมา (one who puts into verse what he has heard. ผู้แต่งร้อยกรองจากเรื่องที่ได้ฟังมา)
3. อตฺถกวี = แต่งตามความจริง (a didactic poet. กวีที่แต่งสั่งสอนคน)
4. ปฏิภาณกวี = แต่งกลอนสด (an improvisor. กวีผู้แต่งร้อยกรองขึ้นโดยปัจจุบันทันที)
(ความหมายตาม พจน.42, ในที่นี้ยกคำอังกฤษมาเทียบเพื่อศึกษาว่า ฝรั่งกับเราเข้าใจตรงกันหรือไม่)
ภาษาไทยในระยะหลังๆ มีผู้ใช้คำว่า “นักกวี” ซึ่งไม่ถูกต้อง
“นัก” ใช้ประกอบหน้าคํานามธรรมดาหรือคำกริยาให้เป็นคำนามที่หมายถึง “บุคคล” และมีความหมายว่า -
- “ผู้” เช่น นักเรียน = ผู้ศึกษาเล่าเรียน, ผู้รับการศึกษาจากโรงเรียน
- “ผู้ชอบ” เช่น นักดื่ม นักท่องเที่ยว
- “ผู้ชํานาญ” เช่น นักเทศน์ นักดนตรี นักคํานวณ นักสืบ
- “ผู้มีอาชีพในทางนั้น ๆ” เช่น นักกฎหมาย นักแสดง นักเขียน
- “ผู้ฝักใฝ่ในทางนั้นๆ” เช่น นักการเมือง, นักเลง- (เช่น นักเลงหนังสือ)
คำเหล่านี้ ถ้าไม่มี “นัก-” นำหน้า ก็จะไม่หมายถึง “บุคคล”
“กวี” เป็นคำนามที่หมายถึงบุคคลอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมี “นัก” นำหน้า เป็น “นักกวี” แต่ประการใด
: ถ้ารู้ว่าอะไรพอดี ก็จะรู้ว่าอะไรขาด อะไรเกิน
เขียนโดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย