อาลัย
ไทยอ่านว่า อา-ไล บาลีเป็น “อาลย” อ่านว่า อา-ละ-ยะ
รากศัพท์มาจาก อา (= ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) แปลง อิ ที่ ลิ เป็น ย = ลย : อา + ลิ (= ลย) = อาลย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ใจไปติดแน่นอยู่”
นักภาษาอธิบาย “อาลย - อาลัย” เป็นรูปธรรมว่า เหมือน “คอน” ที่นกเกาะนอน เท้านกจะต้องยึดแน่นอยู่กับคอนนั้น มิเช่นนั้นก็ตก อาการที่จับติดแน่นไม่ยอมปล่อยนั่นเองคือ “อาลัย”
ตามรากศัพท์เช่นนี้ “อาลัย” ในทางรูปธรรมจึงหมายถึงสถานที่พักอาศัย, ที่อยู่, แหล่งรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น -
ชลาลัย = แหล่งรวมแห่งน้ำ คือแม่น้ำ หรือทะเล
เทวาลัย = ที่อยู่ของเทพยดา
หิมาลัย = แหล่งรวมแห่งหิมะ คือภูเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี
ในทางนามธรรม “อาลัย” หมายถึงความมีใจผูกพัน, ความเยื่อใย, ความติดใจปรารถนา, ความรักใคร่, ความต้องการ สรุปรวมก็คือ ตัณหา ราคะ หรือกิเลสทั้งหลาย
นอกจากนี้ “อาลัย” ยังมีความหมายไปถึงวิธีการเพื่อให้ได้สมปรารถนาอีกด้วย คือหมายถึงการแสร้งทำ, มารยา, ข้อแก้ตัว
ในภาษาไทย “อาลัย” มีความหมายตรงตามบาลี คือหมายถึงห่วงใย, พัวพัน, ระลึกถึงด้วยความเสียดาย
“อาลัย” เป็นอารมณ์ที่เหมือนเย็น แต่ร้อน เหมือนง่าย แต่ยาก
ท่านจึงว่า :
“จะหักอื่นขืนหักก็จักได้
หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก”