อธิษฐาน
พจน.42 บอกว่า อ่านว่า อะ-ทิด-ถาน ก็ได้ อะ-ทิด-สะ-ถาน ก็ได้
บาลีเป็น “อธิฏฺฐาน” อ่านว่า อะ-ทิด-ถา-นะ
“อธิฏฺฐาน” แยกเป็น อธิ + ฐาน ซ้อน ฏ สำเร็จรูปเป็น อธิฏฺฐาน
“อธิ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ
“ฐาน” แปลว่า ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, ที่ตั้ง, หลักแหล่ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส
“อธิฏฺฐาน” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “อธิษฐาน” แปลตามศัพท์ว่า ความตั้งใจแน่วแน่, การตัดสินใจ, ความตกลงใจ
“อธิฏฺฐาน - อธิษฐาน” ตามความหมายเดิมคือ ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความตั้งใจมั่นแน่วที่จะทำการให้สำเร็จลุจุดหมาย, ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน เป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า อธิษฐานบารมี
ในภาษาไทย “อธิษฐาน” เข้าใจกันในความหมายว่า ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง
จะเอาอย่างไหนดี อย่างบาลี หรืออย่างไทย ?
“อธิฏฺฐาน” บาลี : ตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จด้วยความพยายามของตน
“อธิษฐาน” ไทย : ตั้งใจขอเพื่อจะได้หรือให้สำเร็จด้วยอำนาจดลบันดาลโดยตนเองไม่ต้องทำ