บาตร–บาต
คำไทยที่ออกเสียงว่า [บาด] มีอยู่ด้วยกันหลายคำ เท่าที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ คือ บาด บาตร บาตร บาท บาศ และ บาศก์ ในบรรดาคำเหล่านี้ บาตร กับ บาต เป็นคำที่มักใช้กันไม่ค่อยถูกต้อง โดยเฉพาะในคำว่า บิณฑบาต ซึ่งมักเขียนผิดเป็น บิณฑบาตร
บาตร หมายถึง ภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับภิกษุ สามเณร ใช้รับอาหารบิณฑบาต ส่วนคำว่า บาต เป็นคำกริยา แปลว่า ตก, ตกไป มักใช้ประกอบหลังคำอื่น เช่น อสนีบาต = การตกแห่งสายฟ้า คือ ฟ้าผ่า, อุกกาบาต = การตกแห่งคบเพลิง คือ แสงสว่างที่ตกลงมาจากอากาศ การที่คำว่า บิณฑบาต มักมีผู้เขียนผิดเป็น บิณฑบาตร อาจจะเนื่องมาจากเข้าใจว่าคำนี้เกี่ยวข้องกับ บาตร ที่ภิกษุสามเณรใช้รับอาหาร แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า บิณฑบาต เป็นคำยืมมาจากภาษาบาลีว่า ปิณฺฑปาต ความหมายของ บิณฑบาต มีอธิบายไว้ในหนังสือ รู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๔ ฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า ปิณฺฑะ แปลว่า ก้อน, ก้อนกลม ๆ หรือข้าวที่ปั้นเป็นก้อนสำหรับทำทาน ส่วน ปาต แปลว่า การตก ดังนั้น ปิณฺฑปาต จึงแปลว่า การตกของข้าวที่ปั้นไว้เป็นก้อนกลม ๆ ลงบนภาชนะที่รองรับ ในภาษาไทย คำว่า บิณฑบาต มี ๒ ความหมาย ความหมายแรกใช้เหมือนภาษาบาลี คือ บิณฑบาต เป็นกิจกรรมที่ภิกษุหรือสามเณรอุ้มหรือสะพายบาตรแล้วเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อขอรับอาหารจากคนทั่วไปในยามเช้า ส่วนอีกความหมายหนึ่งเป็นความหมายเฉพาะในภาษาไทย หมายถึง ขอให้เห็นแก่พระศาสนา งดเว้นการทะเลาะเบาะแว้ง หรือการกระทำรุนแรงต่อผู้อื่น
มีคำที่เกี่ยวข้องกับบาตรซึ่งมีผู้สงสัยว่าคำใดถูกต้อง นั่นก็คือคำว่า ตักบาตร และ ใส่บาตร คำว่า ตักบาตร หมายความว่า เอาของใส่บาตรพระ ตัก คำนี้ไม่ใช่ ตัก ที่หมายถึง เอาภาชนะช้อนสิ่งของขึ้นจากที่เดิม เช่น ตักน้ำ ตักแกง ตักดิน อย่างที่เราใช้กันอยู่ แต่ ตัก คำนี้เทียบกับภาษาเขมรว่า ฎาก่ แปลว่า วางลง คำว่า ตักบาตร นี้มีอธิบายไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ ใส่บาตร ไม่มีเก็บไว้ สำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับตักบาตร คือ ตักบาตรอย่าถามพระ หมายความว่า จะให้อะไรแก่ผู้ที่เต็มใจรับอยู่แล้ว ไม่ควรถาม
แสงจันทร์ แสนสุภา