สวัสดี..วันเข้าพรรษาครับเพื่อน ร่วมบ้านเพลงไทย ที่รักทุกท่าน..ขอสานต่อ อาหารจากธรรมชาติมอบให้...จากฟ้าสู่...ดิน..ฝนตกมาดินชุ่มฉ่ำ ทำให้เห็ดงอก นี่คืออาหารสุดยอด ที่ปราศจากไขมัน และสารเคมี...ตามมาเก็บเห็ดกันครับ.....
เห็ดแครง
เห็ดแครง หรือ เห็ดตีนตุ๊กแก (Schizophyllum commune) เป็นเห็ดที่ขึ้นได้ทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลกและงอกได้ตลอดปี เป็นเห็ดขนาดเล็กลักษณะคล้ายเปลือกหอยแครง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-4 เซนติเมตร รูปร่างคล้ายพัด ไม่มีก้านดอก พบขึ้นอยู่กับวัสดุหลายชนิด เช่น ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า กระดาษ หรือแม้แต่บนกระดูกปลาวาฬก็พบเห็ดชนิดนี้ขึ้นอยู่ แต่ที่พบเป็นปริมาณมากสามารถเก็บรวบรวมเห็ดมารับประทานได้คือ บนท่อนไม้และกิ่งไม้ ในภาคใต้ของไทยพบมากบนท่อนไม้ยางพารา ต้นยางพาราที่ตัดโค่นไว้เมื่อท่อนไม้ตายและมีฝนตกก็พบเห็ดแครงขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีการใช้ยาฆ่าตอต้นยางเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านบอกว่าเห็ดแครงที่เก็บรวบรวมมาจากตอยางเมื่อรับประทานแล้วมีอาการคันปาก และสงสัยว่าเกิดจากพิษของยาฆ่าตอยาง ตอนนี้ยังไม่มีการศึกษายืนยันแต่ควรหลีกเลี่ยงเก็บเห็ดจากตอยางที่ใช้ยาฆ่าตอ
เรียกแตกต่างกัน เช่น เห็ดตีนตุ๊กแก เห็ดจิก เห็ดยาง (ภาคใต้) เห็ดแก้น เห็ดตามอม (ภาคเหนือ) เห็ดมะม่วง (ภาคกลาง) เห็ดแครงเป็นเห็ดขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายพัด (fan-shaped) ด้านฐานมีก้านขนาดสั้นๆ ยาวประมาณ 0.1- 0.5 เซนติเมตร หรือไม่มีก้านติดอยู่กับวัสดุที่ขึ้นด้านข้าง ดอกเห็ดมีขนาดความกว้าง ประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวด้านบนมีสีขาวปนเทาปกคลุมทั่วไป ลักษณะดอกเหนียวและแข็งแรง เมื่อแห้งด้านใต้ของดอกเห็ดมีครีบมีลักษณะแตกเป็นร่อง (spilt-gill) พิมพ์สปอร์มีสีขาว สปอร์มีสีใสรูปร่างเป็นทรงกระบอกขนาด 3-4x1-1.5 ไมครอน เนื่องจากเห็ดแครงมีขึ้นอยู่ทั่วโลก ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ลักษณะดอกเห็ดอาจแตกต่างกันในแต่ละท้องที่
เป็นที่รู้จักมากในแถบภาคใต้ พบมากบนท่อนไม้ยางพาราที่ตัดทิ้งไว้ มีคุณค่าทางโภชนาการ มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนสูง นิยมนำมาแกงคั่วกับปลาย่าง หรือนำมาย่างโดยโขลกพริกขี้หนู ข่า ตะไคร้ ขมิ้น พริกไทย แล้วนำเห็ดแครงผสมลงไป พร้อมด้วยมะพร้าวขูด และไข่ไก่ แล้วห่อด้วยใบตองนำไปปิ้งกับเตาถ่าน และนำมาทำ แกงสมรม ซึ่งเป็นแกงที่ขาดไม่ได้ สำหรับงานบุญสารทเดือนสิบ ส่วนในประเทศญี่ปุ่นจะใช้ทำเป็นยาเนื่องจากมีสารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อไวรัสและยับยั้งเซลล์มะเร็ง
แกงสมรมเห็ดแครง
ทางภาคใต้เรียก ส่วนมากนิยมนำไปทอดกับไข่ หรือนำไปแกงคั่วกับเนื้อสัตว์ โดยใช้เห็ดที่เกิดใหม่ๆ ด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้านผ่านการลองผิดลองถูกก็พบว่า เห็ดเล็กๆเหล่านี้สามารถรับประทานได้และอร่ยเสียด้วย ไปดูกัน การงอกของเจ้าเห็ดแครงนี้จะงอกบนไม้ที่ถูกตัดลงมาแล้ว ในบรรยากาศที่มีความชื้นเหมาะสมอย่างในภาคใต้ ส่วนภาคอื่นนี้ไม่แน่ใจว่าจะมีเจ้าเห็ดนี้หรือเปล่านะครับ
เห็ดนี้ไม่ต้องกลัวสูญพันธุ์หรอกนะครับ เพราะปัจจุบันเขาเพาะขายกันได้แล้ว เมื่อเก็บมาแแล้วก็ต้องล้างตามธรรมเนียม เห็ดแบบนี้มีขายในหน้าฝน แต่ตอนนี้ก็สามารถพบได้เพราะอากาศภาคใต้แปรปรวนหน้าแล้งก็มีฝนตกเช่นกัน ราคาขายนี้ไม่แน่ใจ แต่ก็คิดว่าหน้าจะแพงนิดหน่อยเพราะ กว่าจะได้กิโลนี้ใช้เวลาเก็บนาน ซึ่งไม่ได้นานเพราะมันหายากหรอก แต่นานเพราะมันเล็กและน้ำหนักเบา กว่าจะได้ 1 กิโล ก็ต้องใช้ปริมาณเยอะ
แกงคั่วเห็ดแครงกุ้งสด
รสอร่อยแต่เผ็ดน้ำตาเล็ด ตอนกินจะหอมแบบเฉพาะๆของกลิ่นเห็ดแครง
ห่อหมกเห็ดแครง
...เห็ดอีกหลายอย่างที่เก็บได้ปีนี้เห็ดโคน
เห็ดนมกระจง
...ทั้งสามชนิดนี้ หากมองเผินๆ ผ่านๆ สำหรับคนไม่คุ้นเคย ก็นึกว่าเป็นชนิดเดียวกัน เพราะคล้ายกันมาก และมักจะงอกอยู่ในบริเวณเดียวกัน เช่น ริมปลวก ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ร่มครึ้ม..เช่นแบบนี้...
การนำมาทำอาหาร ก็มี เมนูคล้ายๆกัน เช่น ต้มเกลือ ต้มยำ ยำ ผัด แกงเลียง แกงจืด
ยำ
ต้มเกลือ
มีเห็ดอีกชนิดหนึ่งแถวๆนราธิวาสเรียก "เห็ดน้ำหมาก" เพร่าะจะมีสีออกส้มๆ คลายน้ำหมาก ที่คนแก่สมัยก่อน กินหมากแล้วบ้วนทิ้ง ลักษณะอย่างนี้ครับ
เห็ดน้ำหมาก
..เห็ดชนิดนี้ผมไม่มีข้อมูล ว่า เขาเรียก กันอย่างไร ตามท้องถิ่น ต่างๆ ท่านใดมีข้อมูล ก็ขอรับคำแนะนำครับ ส่วนการนำมาทำอาหาร ก็เหมือนๆ กับ เห็ดทั้ง 3 ชนิด ข้างต้นครับ
...ขอรบกวนเวลา และสายตาท่าน อีกสองชนิดสุดท้าย ที่เก็บได้ในปีนี้แต่...สองชนิด มักจะเก็บได้บ่อย หากมีฝนลงมา ชนิดแรก
เห็ดลม หรือเห็ดกระด้าง
เห็ดลม หรือเห็ดกระด้าง หรือเห็ดมะม่วง เป็นเห็ดขอนชนิดหนึ่งที่รับประทานได้ เห็ดลมมีจำหน่ายมาก ปลายฤดูฝนและฤดูหนาวทางภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ผู้ขายเก็บมาจากขอนไม้ในป่า เห็ดลมจัดว่า เป็นเห็ดเนื้อแห้งและเหนียวคล้ายหนัง ชาวบ้านจะเก็บเห็ดชนิดนี้ร้อยเป็นพวงขาย หรือขายปนกับผักที่ใช้ประกอบแกงแคที่มีชื่อเสียงทางภาคเหนือ ลักษณะดอกเห็ดขึ้นเป็นเห็ดดอกเดียว มีโคนก้าน เล็กปลายบานออกคล้าย รูปกรวย
เห็ดขอน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lentinus polychrous Lev. ทางภาคเหนือเรียก เห็ดลม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า เห็ดบด เห็ดขอนดำ หรือ เห็ดกระด้าง ส่วนเห็ดขอนขาว(log white fungi) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lentinus squarrosulus Mont. ตามธรรมชาติเห็ดทั้ง 2 ชนิดมักพบขึ้นตามขอนไม้ที่ผุพัง หักโค่น และเป็นไม้เนื้อแข็งในป่าเขตร้อนชื้น เช่น ไม้เต็ง รัง เทียง ตะเคียน และไม้กระบาก และไม้มะม่วงแต่สีดอกเห็ดค่อนข้างดำ จึงเรียกแยกกันให้ชัดเจนว่าเห็ดขอนขาว และหรือ เห็ดขอนดำ ในภาคกลางพบขึ้นเองกับตอมะม่วงในฤดูฝน จึงเรียก เห็ดมะม่วง แต่เมื่อเข้าตลาดพ่อค้าเรียก เห็ดขอน เหมือนกันหมด แม้จะเป็นเห็ดในสกุลของเห็ดหอมตามการจำแนกของนักพฤกษศาสตร์ แต่ลักษณะรูปร่างหน้าตาเหมือนกับเห็ดนางรม เพียงแต่ดอกบางกว่า เหนียวกว่า และมีกลิ่นเห็ด (หรือ มัชรูมอโรน่า) หอมกว่า จึงเป็นที่นิยมบริโภคกันมากในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือ พบในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนหรือฤดูฝนต่อฤดูหนาว ที่อุณหภูมิกลางวัน และกลางคืนต่างกันมากๆ เป็นเห็ดพื้นเมืองที่มีรสชาติดี ให้คุณค่าทางอาหารสูง นิยมบริโภคในขณะที่ดอกยังอ่อน เพราะจะกรุบเหนียว ลื่นลิ้นให้ความรู้สึก ในการรับประทานคล้ายเนื้อสัตว์ เมื่อแก่จะเหนียวและแข็ง ให้รสชาติหวานเหนียวเล็กน้อย
เห็ดขอนห่อใบตองหมก
..ทางภาคใต้ มักจะนำมาแกงสมรม แกงกะทิ เห็ดใส่ไก่ และอีกหลากหลายเมนู
...เห็ดสุดท้าย..เห็ดหูหนู
เห็ดหูหนูในธรรมชาติ
เมนู
เห็ดหูหนูผัดไข่
ที่จริงแล้วเห็ดหูหนู สามารถนำมาทำกับข้าวได้หลายอย่าง แต่ดูแล้ว รบกวนสายตาพวกท่านมากเกินไปแล้ว ขอจบเรื่องเห็ดไว้เพียงแค่นี้ ขอบคุณที่อ่านมาจน ถึงบรรทัดนี้ ขอบคุณมากครับ..ก่อนลาจากกัน ก็ขอลากับยายฉิมอีกคน ที่ไปเก็บเห็ดเพิ่งกลับมาครับ....
ยายฉิมเก็บเห็ด
คำร้อง/ทำนอง จิ๋ว พิจิตร
ขับร้อง นิตยา บุญเพิ่ม
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก วิกิพีเดีย
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ตหลายๆเวปไซด์ขอขอบคุณ อ.ลือ ผู้ฝึกสอนการวางเพลงและภาพหมายเหตุ...เพิ่งค้นเจอเมื่อเช้านี้เอง ว่า เห็ดสีเหลือง ส้ม นั่น ทางเหนือเขาเรียก ว่า"เห็ดไข่ห่านเหลือง" ครับขอขอบคุณ อีกครั้ง ครับ