กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิก.

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
การค้นหาขั้นสูง  

ข่าว:

ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องเล่า - วันว่าง ของชาวปักษ์ใต้  (อ่าน 7018 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ลุงชัยนรา

  • ความเปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร์
  • ชาวบ้านกิตติมศักดิ์
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 3715
  • กระทู้: 910
  • Thank You
  • -Given: 3245
  • -Receive: 3715
  • ชีวิตนี้ยอมพลี เพื่อแผ่นดิน
เรื่องเล่า - วันว่าง ของชาวปักษ์ใต้
« เมื่อ: เมษายน 12, 2013, 10:41:33 AM »
วันว่าง
                                               
.ช่วงเดือน 5  เป็นหน้าร้อน  แห้งแล้ง การเพาะปลูก...สมัยก่อนปลูกข้าวกันมาก...เก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว...บ้านไหนมี เวลาว่างวันไหนก็นัดกันเพื่อจะทำบุญ....เป็นการร่วมกิจกรรมของญาติในการทำ บุญบังสุกุลกระดูกญาติๆ ที่เสียชีวิตไปแล้ว  ซึ่งส่วนมากจะเก็บกระดูกไว้ในช่องกำแพงวัด หรือในสถูปที่เรียกว่า  บัว  มีการนิมนต์พระมาฉันเพล  ให้ศีลให้พร 
             วันว่างคือ วันที่เว้นว่างจากการทำงาน ซึ่งยกเว้นการหุงหาอาหารรับประทานและใช้ทำบุญถวายพระภิกษุสงฆ์ ชาวใต้ถือว่าวันว่างเป็น “วันขึ้นปีใหม่” ของไทยเหมือนกับวันสงกรานต์ของภาคอื่นๆนั่นเอง
   ประเพณีวันว่างกระทำกัน3วัน ตรงกับวันขึ้น14 - 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน5 แต่ปัจจุบันถือเอาวันที่ 13-14-15 เดือนเมษายนตามสากล
            ก่อน ถึงวันว่างทุกครัวเรือนจะต้องเร่งทำงานที่คั่งค้างให้เสร็จเรียบร้อย เตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่ไว้ใส่ ช่วยกันทำความสะอาดบ้าน นอกจากนี้ยังต้องตัดผม ตัดเล็บให้เรียบร้อยด้วย เพราะเมื่อถึงวันว่างนั้นห้ามกระทำ
          ใน วันว่างวันแรก ทุกคนต้องทำจิตใจให้สดชื่น ทำแต่ความดี ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร ตอนบ่ายจะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป วันที่สองและสามจะเป็นการไปรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่และเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง "
   ตอนลุงชัยเด็กๆ ตายายและแม่ก็เผากันที่นี่ เศษ กระดูกที่เหลือของร่างกายของท่านจึงถูกเก็บไว้ใน "บัว"  เมื่อมีการสร้างเมรุที่วัด  พวกเราจึงมีโอกาสแค่ปีละครั้งที่จะมาที่ป่าช้านี้  เพื่อมาทำบุญอุทิศให้ท่านเหล่านั้น  นี่กระมังที่อาจจะเป็นกุศโลบายของวันว่าง...ที่ให้ลูกหลานได้แสดงออกถึงความ กตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว  แต่ที่น่าคิดกว่านั้น...จะดีกว่าไหมหากเราแสดงออกเสียตั้งแต่ตอนนี้  ตอนที่ท่านยังอยู่กับเรา 
         ก่อนถึงวันว่าง  พวกผู้ใหญ่และลูกๆ หลานๆ รวมตัวกันไปถากถางพงรกที่ไม่ค่อยมีใครผ่านไปมาซักเท่าไหร่ และซ่อมแซมศาลาเป็นประจำทุกปี  ลูกๆ หลานๆ ก็นัดพร้อมๆ กันไปขัดถู, ล้างบัวกันเป็นการใหญ่  บ้างก็เตรียมหาดอกไม้ กระถางธูปไว้พร้อมสรรพ
..สิ่งสุดท้ายที่เหลือให้เห็นเพียงเศษกระดูกในบัว....
ที่ลูกหลานมากราบไหว้เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตา
แต่สิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป คือ "คุณงามความดี" ที่สร้างไว้
ให้คนรุ่นหลังได้กล่าวขานถึงชั่วกาลนาน
"วันว่าง" ก็คล้ายๆ กับประเพณีมหาสงกรานต์ของคนภาคอื่นๆ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ "วันว่าง" ของชาวปักษ์ใต้นั้นมีขนบนิยมปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญๆ อยู่หลายอย่าง ที่เห็นเด่นชัด คือ เมื่อถึงวันว่างแล้วนั้นชาวปักษ์ใต้ก็จะหยุดเว้นจากการทำงานทุกๆ อย่าง เช่น เว้นทำไร่ทำนา เว้นเก็บข้าว เว้นการหาผักหาปลาหากับข้าวของกิน เว้นการฆ่าสัตว์  นอกจากนี้ยังมี ข้อห้ามอยู่บ้าง เช่น ห้ามตัดเล็บตัดผม ห้ามอาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง ห้ามตัดรานต้นไม้ ห้ามลงโทษเฆี่ยนตีทั้งคนและสัตว์ ห้ามขึ้นต้นไม้ ห้ามกล่าวคำหยาบดุด่าว่ากัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ว่ากันว่าแม้แต่โจรผู้ร้ายก็ต้องงดเว้นการลักขโมยในช่วง "วันว่าง" นี้ด้วยเช่นกัน

ก่อนถึง "วันว่าง" ชาวปักษ์ใต้จึงต้องรีบเร่งทำงานที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อย  เช่น  ต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวในนาและขนย้ายไปเข้าที่เก็บให้หมด  ใครกำลังปลูกบ้านสร้างเรือนใหม่ก็รีบสร้างให้เสร็จ  ใครทอผ้าก็ต้องเร่งทอให้จบผืน ไม่ทิ้งค้างคากี่ไว้ มิเช่นนั้นจะถูกตำหนิติเตียนจากเพื่อนบ้าน  และถือว่าขัดจารีตประเพณีไม่เป็นมงคล
เพราะ "วันว่าง" เป็นประเพณีสำคัญของชาวปักษ์ใต้  การทำบุญทำทานจึงเป็นประเพณีหลักที่สืบทอดมายาวนาน มีการตักบาตรฟังเทศน์ฟังธรรม  สรงน้ำพระพุทธรูป  มีการแสดงความเมตตาปรานี  ปล่อยนกปล่อยปลา ให้ทรัพย์สินแก่ผู้เยาว์  ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่ทำอารมณ์ให้ขุ่นมัว  ทั้งต้องแสดงความกตเวทีต่อผู้ใหญ่  มีการอาบน้ำสระหัวแก่ผู้เฒ่าผู้แก่  พร้อมทั้งจัดหาผ้าใหม่ไปให้ท่านนุ่ง  แล้วขอศีลขอพรจากท่าน  นอกจากนี้ยังจะมีพิธีมงคลอื่นๆ อีกหลายอย่าง

         "วันว่าง" ของชาวปักษ์ใต้จะกระทำติดต่อกันเป็นเวลา ๓ วัน ตรงกับวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ซึ่งตรงกับเดือน ๕ แบบไทย แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง  วันว่างนั้นจะตกอยู่ในเดือน ๖ ของทุกปี

ในอดีตบางพื้นที่มีประเพณีที่เรียกว่า "แช่สากแช่ครก"  คือ แต่ละบ้านจะเอาสากเอาครกวางไว้ในที่ที่มองเห็นได้ชัดไม่มีการปิดบัง เอาสากมัดรวมเป็นมัดเดียวกัน ผูกด้วยด้ายแดงด้ายขาวตั้งใส่เอาไว้ในครกแล้วเติมน้ำลงไปด้วยเพื่อแสดงให้ เห็นว่าในช่วงนี้จะว่างเว้นจากการใช้สากใช้ครกดังกล่าว  ปัจจุบัน การแช่สากแช่ครกเกือบไม่มีให้เห็นในสังคมชาวปักษ์ใต้แล้ว อาจเป็นเพราะว่าไม่ได้สีข้าวซ้อมสารแบบดังเดิมกันเองแล้ว กล่าวคือชาวปักษ์ใต้ในปัจจุบันหันไปสีข้าวโดยใช้โรงสีกันหมด
ในส่วนของผู้คนก็จะมีการจัดหาเสื้อผ้าชุดใหม่ไว้ให้ลูกหลานและตัวเองได้แต่งในวันว่าง  ซึ่งถือคติว่าต้องใช้เพื่อความเป็นสิริมงคล สำหรับผู้ที่เป็นบุตรหลาน  ก็จะเตรียมการหาแพรพรรณ น้ำอบน้ำหอมไว้สำหรับมอบให้บิดามารดา  ปู่ย่าตายายได้สวมใส่หลังจากอาบน้ำสระหัวตามธรรมเนียม     
เล่า เรื่องการทำบุญกันอีกครั้ง นอกเหนือจากการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรมและทำบังสุกุลกระดูกบรรพบุรุษของครอบครัวที่วัดตามประเพณี แล้วนั้นก็จะมีการทำขวัญข้าวประจำลอมที่เรียกกันว่า "ทำขวัญข้าวใหญ่" เพื่อเป็นสิริมงคลในการทำนา รวงข้าวที่ผ่านการ "ทำขวัญข้าวใหญ่" ก็จะถือเป็นวัตถุมงคลอย่างหนึ่งและเชื่อต่อกันมาว่ารวงข้าวนั้นเป็นที่สถิตของแม่โพสพ
และที่สำคัญอันนับว่าเป็นพิธีที่อยู่คู่กับวันว่างมายาวนานก็คือพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป  ต่อด้วยการอาบน้ำแก่ภิกษุเจ้าอาวาส  และสมณะที่สูงอายุในวัดนั้น  แล้วจึงอาบน้ำให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เห็นสมควร  ชาวปักษ์ใต้เรียกการอาบน้ำให้แก่ภิกษุและฆราวาสในวันว่างว่า  "สระหัววันว่าง"  และเมื่อเสร็จพิธีการสระหัวผู้เฒ่าผู้แก่แล้ว  ก็จะมีการเล่นสาดน้ำซึ่งกันและกัน  ทั้งระหว่างคนวัยเดียวกันและต่างวัยกัน  โดยไม่มีการถือโทษโกรธเคืองกัน  แต่จะไม่สาดพร่ำเพรื่อตามถนนหนทางเหมือนอย่างในปัจจุบัน
อาบน้ำคนแก่

.....และที่ขาดไม่ได้ ในงานนี้คือ...ขนมจีน......

ขอบคุณบางภาพจาก   www.gotoknow.org/posts/256497
ขอบคุณบางข้อมูลจาก www.prachatai.com/column-archives/node/2367
ขอบคุณบางความทรงจำของตัวเอง
ขอบคุณผู้สอนการวางภาพ อ.ชาติ.....





















« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 12, 2013, 12:18:16 PM โดย ลุงชัยนรา »
บันทึกการเข้า

** กระทู้แรกที่ควรอ่านเมื่ออยู่บ้านเพลงไทย **

เผ่าพงษ์ ปัตตานี

  • ชาวบ้านเพลงไทยอาวุโส
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 2009
  • กระทู้: 507
  • Thank You
  • -Given: 3223
  • -Receive: 2009
Re: เรื่องเล่า - วันว่าง ของชาวปักษ์ใต้
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 12, 2013, 03:33:41 PM »
       ขอบคุณครับลุงชัย ที่บ้านผมจะมีการลากเรือพระ (ชักพระ) ด้วยครับ  นอกจากอาหารหวานคาวที่ลุงชัยกล่าวมาแล้ว ก็ยังมีการทำข้าวเหนียวต้มสามเหลี่ยมห่อใบกะพ้ออีกด้วย  กลางคืนที่ป่าช้าจะมีมหรสพ เช่น หนังตะลุง หนังฉายกลางแปลงด้วย ลูกหลานทุกคนทั่วสารทิศ จะกลับบ้านมาทำบุญร่วมกันทั้งหมด  ปีนี้จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (พฤหัสดีที่ 25 เม.ย.56)  แน่นอนครับ ญาติพี่น้องและเพื่อนเก่าแก่ของเรา  จะได้เจอหน้าเจอตากันอีกครั้งในค่ำคืนวันนี้


บันทึกการเข้า