เรวัต พุทธินันทน์ ( เต๋อ ) นักร้อง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์หรือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ร่วมกับ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เมื่อ พ.ศ. 2526 เต๋อ เรวัต เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งวงการเพลงไทย เป็นโปรดิวเซอร์ นักดนตรี นักแต่งเพลงในตำนาน
เป็นผู้ปฏิวัติวงการเพลงไทยให้ไปสู่ยุคทองแห่งความเจริญรุ่งเรือง และผู้ริเริ่มความทันสมัยของดนตรีสมัยใหม่ให้กับประเทศไทย เป็นผู้บุกเบิกแนวเพลงสตริงอันทันสมัยให้กับการเพลงไทย ผู้นำแนวเพลง ร๊อค ป๊อบ แดนซ์ โมเดิร์นแจ๊ส ฟังค์ ฯลฯ เข้ามาเป็นที่นิยมในไทย เป็นผู้มีคุณูปการ มหาศาลแก่วงการเพลงไทย เป็นผู้ปลุกปั้นศิลปินให้มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ เป็นบุคคลตัวอย่าง แรงบันดาลใจให้กับนักร้องนักดนตรีของเมืองไทย มาจวบจนสมัยนี้
27 ตุลาคม นี้เป็นวันครบรอบปีที่ 17 ของการเสียชีวิต..จึงขอนำเรื่องราวชีวประวัติ ของเขามาเล่าสู่กันฟัง..เพื่อการระลึกถึงบุคคลผู้สร้างสรรค์คนนี้............เรวัต พุทธินันท์ เกิด 5 กันยายน พ.ศ. 2491 ที่กรุงเทพ เรวัตเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของนาวาตรีทวีและนางอบเชย พุทธินันทน์ เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรวัตหัดเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยบิดาบังคับให้เรียนแซกโซโฟน เขากับเพื่อนๆ โรงเรียนเซนต์คาเบรียลตั้งวงดนตรี ชื่อ Dark Eyes ต่อมาเปลี่ยนชื่อวงเป็น Mosrite และเข้าประกวดในงานของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ ในปี พ.ศ. 2508 และ 2509 ขณะเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน พ.ศ. 2510 ได้ร่วมกับเพื่อนตั้งวง Yellow Red (เหลือง-แดง คือสีประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เพื่อนในวงคนสำคัญคือ ดนู ฮันตระกูล และจิรพรรณ อังศวานนท์
ต่อมาเรวัตได้ร่วมกับเพื่อนจากธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งวง The Thanks รับแสดงตามงานต่างๆ เน้นดนตรีร็อค เรวัตรับตำแหน่งร้องนำและตีกลอง เพื่อนร่วมวงคนหนึ่งคือ กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา วง The Thanks มีชื่อเสียงได้เล่นสลับกับวงดิอิมพอสซิเบิ้ล ตามไนท์คลับต่างๆ
หลังเรียนจบ เรวัตได้รับการชักชวนให้ร่วมวงดิอิมพอสซิเบิ้ล และเดินทางกับวงไปแสดงที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกาและยุโรป ในตำแหน่งนักร้องนำและเล่นคีย์บอร์ด เมื่อวงดิอิมพอสซิเบิลประกาศยุบวง เมื่อ พ.ศ. 2520 เขาตั้งวง โอเรียนเต็ลฟังก์ เล่นดนตรีฟังก์ ร่วมกับวินัย พันธุรักษ์ เล่นประจำที่โรงแรมมณเฑียร และตระเวนเปิดการแสดงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในระหว่างนั้นเรวัตได้ศึกษาการเขียนเพลงและดนตรีเพิ่มเติม
ในปี พ.ศ. 2526 เรวัตร่วมกับ เพื่อนจากจุฬาฯไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก่อตั้งบริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์ เขาทำหน้าที่ดูแลด้านการผลิตเพลง ใช้เทคนิคการสร้างศิลปินแบบสากล คือขายทั้งความสามารถและภาพพจน์ ทำให้ผลงานของบริษัทประสบความสำเร็จแทบทุกชุด
.....ชีวิตครอบครัว เรวัต สมรสกับ อรุยา สิทธิประเสริฐ เพื่อนจาก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2517 มีบุตรสาวสองคนคือ สุธาสินี และสิดารัศมิ์ เรวัต พุทธินันทน์
ผลงานดนตรี
ร้องนำ • เรามาร้องเพลงกัน (2525) ร่วมกับวงคีตกวี (อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ, จิรพรรณ อังศวานนท์, สุรสีห์ อิทธิกุล, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา และ อัสนี โชติกุล) และโรงเรียนดนตรีศศิลิยะ (เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ และดนู ฮันตระกูล)
• เต๋อ 1 (2526)
• เต๋อ 2 (2528)
• เต๋อ 3 (2529)
• ชอบก็บอกชอบ (2530)
บางเพลง ในอัลบั้ม เต๋อ 1- 2 - 3
และผลงานเพลง ในฐานะผู้ประพันธ์เพลง และ โปรดิวเซอร์ ให้กับศิลปินอีกมากมายหลายท่าน ซึ่งหากมองจากผลงานที่ผ่านมาของคุณเรวัต แล้วจะไม่แปลกใจเลยที่จะเรียกว่าเป็นผู้ปฏิวัติวงการเพลงไทยให้ไปสู่ยุคทองแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่แท้จริง
เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ นักปฏิวัติเพลงไทยให้ผลิบาน
"ผมไม่ได้คิดว่าคนไทยจะต้อง ฟังเพลงแบบที่ผมคิดทั้งหมด ผมเพียงคิดแต่ว่า ผมจะเป็นคนหนึ่งที่นำเสนออาหารจานใหม่ให้แก่สังคมไทย นี่คือความคิดของผม" จากบทสัมภาษณ์ เรวัต พุทธินันทน์ ในนิตยสารอิมเมจ ฉบับเดือนเมษายน 2538 สะท้อนว่าผู้ชายคนนี้ไม่ได้มีความกระหายอยากแบบนักธุรกิจที่ตีค่าทุกเวลา เป็นเงินทอง แต่ดนตรีคือศิลปะที่มอบความสุขและจินตนาการสู่ผู้ฟังจากศิลปิน นักร้อง และสูตรเคมีที่ลงตัวนี้คือสูตรหนึ่งที่ผลักดัน แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ ให้เติบโตอย่างน่าสนใจ ควบคู่ไปกับแนวทางธุรกิจที่มี
ไพบูลย์ ดำรงค์ชัยธรรม เป็นผู้คุมเกม จนกลายเป็นธุรกิจมูลค่าหมื่นล้านสะท้านเมืองไทย
แต่ในวันที่เรวัติยังอยู่ เขาคือผู้ที่ทำให้ดนตรีคือศิลปะที่ไม่ยอมถูกย่อยสลายด้วยกลไกตลาด
นั่นคือส่วนสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งในผลงานของเรวัตตลอดช่วงเวลาที่เขา ทำงานในวงการเพลง นั่นคือการผลักดันให้อาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้าง ขวางในสังคมไทย ในยุคหนึ่งอาชีพร้องรำทำเพลงถูกมองว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ทว่าการถือกำเนิดของ แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ และการทำเพลงในรูปที่แตกต่างและมีคุณภาพจนได้รับความนิยมอย่างสูงของเรวัต ได้ทำให้อาชีพนี้ได้รับการยอมรับ ทั้งยังทำให้อาชีพนักดนตรีกลายเป็นธุรกิจแห่งความบันเทิงที่มีมูลค่าทางการ ตลาดมหาศาลไม่แพ้ธุรกิจแขนงอื่น
"ผมทำงานที่หัวจิตหัวใจสำหรับวันข้างหน้าเท่านั้น ผมไม่ได้เป็นศาสดา ไม่ได้เป็นเซียน ผมเพียงตั้งใจทำงาน เป็นคนมีคุณภาพในตัว มีจิตใจที่ดีกับผู้อื่น ไม่เกเรคนอื่น แล้วผมก็ทำงานของผมไป ทำเมื่อไหร่ผมก็ร้อยตลอด" (จากนิตยสารจีเอ็ม ตุลาคม พ.ศ.2536) บทเพลงที่เรวัติเขียนขึ้น ก็เป็นบทสะท้อนอีกด้านหนึ่งของสัจธรรม ไม่ว่าจะเป็นเพลง ยิ่งสูงยิ่งหนาว, ตะกายดาว หรือ คงจะมีสักวัน สิ่ง ที่เรวัติพูดถึงคือเรื่องทันสมัย ไม่มียุค ไม่มีอดีต ไม่มีปัจจุบัน ไม่มีรักช้ำน้ำตานองไม่ร้องไห้ฟูมหาย แม้แต่เพลงที่ดูเหมือนจะเป็นเพลงขายอย่าง เจ้าสาวที่กลัวฝน ก็ยังแฝงปรัชญาเล็กๆ ให้ขบคิด ทุกเพลงของเรวัตจึงติดอยู่ในแก่นของความรู้สึกและความทรงจำของคนฟังตลอดเวลา
ในแง่ของการเป็นผู้ให้ เรวัตคือผู้มองเห็นแววความเป็นศิลปินในตัวใครต่อใครนับไม่ถ้วน ลองหลับตานึกถึงชื่อของ
เบิร์ด ธงไชย แม็คอินไตย์, คริสติน่า อากีล่าร์ ,ทาทา ยัง, แหวน ฐิติมา สุตสุนทร, นันทิดา แก้วบัวสาย , อัสนี-วสันต์ โชติกุล, นูโว, ไมโคร แม้กระทั่ง มาช่า วัฒนพาณิช ชื่อเหล่านี้มีใครบ้างที่หายสาปสูญไปจากสารบบเพลงไทยในปัจจุบัน คำตอบก็คือ ยังไม่มี!และการเติบโตของศิลปินเหล่านี้ สะท้อนวิสัยทัศน์และความแหลมคมในการเฟ้นหาดาวประดับวงการของเขา
"เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ และมีหน้าที่ดูแลคน เราต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคน การที่เราจะรักใครมากใครน้อย เป็นเรื่องของความรู้สึก ซึ่งทุกคนจะมีไม่เหมือนกัน แต่ตราบใดที่เราเป็นหัวหน้าและผู้นำคน เราต้องเก็บความรู้สึกไว้ในใจ และให้ความยุติธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จะทำให้คนทำงานมีความสุข สบายใจ และมีกำลังใจที่ดี ซึ่งจะนำพาให้องค์กรนั้นอยู่ได้อย่างสงบสุข และเติบโตอย่างมีคุณภาพ"หากวันนี้ เรวัต พุทธินันท์ ยังอยู่ เราคงไม่อาจรู้ได้ว่าเขาจะมีความรู้สึกอย่างไรต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจเพลงและ ดนตรีที่เปลี่ยนไป คุณค่าของศิลปินกับการบรรจงสร้างสรรค์ทุกขั้นตอนในสตูดิโอก่อนจะบันทึกเสียง จัดจำหน่ายเป็นเทปคาสเซ็ทสักหนึ่งม้วนหรือซีดีคุณภาพสูงสักหนึ่งแผ่น กลายเป็นความเสียเวลาของผู้บริโภคที่รอคอยไม่ได้ ถึงกับต้องแข่งกันบีบอัดทุกย่านเสียงออกมาเป็นไฟล์ดิจิตอลคุณภาพต่ำ การปั้นศิลปินผ่านเวทีประกวดก่อนจะจับแต่งตัว แปะยี่ห้อ แพ็คใส่กล่องออกจำหน่ายเหมือนอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ทำลายความงดงามของศิลปะดนตรีไปมากน้อยเพียงใด คนรุ่นใหม่ย่อมไม่มีวันรู้
แต่สิ่งที่เรารู้คือ วงการเพลงไทยอาจไม่ถึงคราวตีบตันได้เร็วขนาดนี้ หากผู้ชายที่ชื่อ เรวัต พุทธินันท์ ยังไม่ทิ้งวงการเพลงไทยไปก่อนเวลาอันควร
เรวัต พุทธินันทน์ ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง ได้เดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2539 รวมอายุ 48 ปี มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย จาก นิตยสาร อิมเมจ และ นิตยสาร จีเอ็ม
ขอบคุณภาพจาก อินเตอร์เน็ต หลายเวปไซด์
ขอบคุณเพลงจาก youtube
ขอบคุณครูลือ ผู้ฝึกสอนการวางภาพและเพลง