ชื่ออื่นๆ :: ชาย
วันเกิด :: 24 ตุลาคม 2482
ที่เกิด :: บ้านเลขที่ 20 ตำบลบางมัญ หมู่ 3 อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ประเทศไทย
:: ประวัติย่อ ::
--------------------------------------------------------------------------------
เป็นบุตรชายโทนคนเดียวในจำนวนพี่น้องทั้งสิ้น 4 คน เริ่มต้นเรียนหนังสือชั้นมูลและชั้นประถมจนจบประถม 4 ที่โรงเรียน วัดหัวว่าว ตำบลบางมัญ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี จากนั้นเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมในเทศบาลเมืองสิงห์บุรี ที่โรงเรียนราษฎร์ชื่อ "ศิริศึกษา" จบแล้วได้เรียนต่อมัธยมจนกระทั่งจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือ ม.6 ที่โรงเรียนประจำจังหวัด คือ โรงเรียนสิงหะวัฒนพาหะ ที่วัดพรหมสาคร ตำบลบางพทุธา อำเภอเมือง สิงห์บุรี จนจบชั้นสูงสุดเมื่อปลายปี พ.ศ.2499
ต้นปี พ.ศ.2500 เข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง ได้แม่ชีละม้าย พามาฝากให้ได้อาศัยข้าวกันบาตรพระที่วัดสระเกศ ภูเขาทอง คณะ14 อยู่นานเป็นปี จึงย้ายมาที่วัดสามปลื้ม จนภายหลังแม่ชีละม้ายได้พาไปฝากให้อยู่ที่ วัดมอญ วัดราชคฤห์ ตลาดพลู ฝั่งธนบุรี อดทนเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างอยู่ได้ถึง 4 ปี พ.ศ.2503 ไม่ทันจบการศึกษาก็ต้องจำใจออก สาเหตุเพราะทางบ้านนาล่ม 2 ปีซ้อนๆ จึงขาดทุนการศึกษา
ชีวิตพลิกผันจากคนรักการศึกษา รักความก้าวหน้าในสาขาช่างศิลป์กลับไม่อาจจะทำได้ดังใจนึกเพราะแค่ขัดสนเรืองทุนการศึกษาออกจากโรงเรียนเพาะช่างต้องเตะฝุ่น เอาน้ำลูบท้องอยู่เป็นปี คราวนี้อะไรที่เป็นงานสุจริตขวางหน้าทำหมดทุกอย่าง ก็รับจ้างเขียนป้าย วาดรูปแกะสลัก งานปั้นงานปูนทำได้ก็รับจ้างเขาทำหมด เคยรับจ้างกระทั่งเป็นคนงานตากผักที่เขาเอามาทำผักกาดกระป๋อง รับจ้างไสหมาก แม้ต้องเป็นกรรมกรตอกเสาเข็มก็ทำมาแล้ว
ความที่เป็นคนรักเสียงเพลงเป็นชีวิตจิตใจ เมื่ออับจนไม่รู้จะแก้ปัญหา อย่างไรก็ได้อาศัยเสียงเพลงเป็นเครื่องปลุกปลอบใจ ทีนี้ร้องเองฟังเองคนเดียวไม่ได้สตางค์ จึงรับจ้างร้องเพลงเชียร์ในฉิ่งฉับทัวร์ เวลาใครเขาจะนำเที่ยวไปไหนก็อาสารับจ้างแบกกลองทอมขึ้นหลังรถแล้วร้องเพลงให้เขาสนุกสนานกันตั้งแต่ขาไปยันขากลับ
สมัยนั้นขลุกอยู่ที่โรงหนังศรีตลาดพลูเพราะรับจ้างเขียนป้ายเขียนรูปคัทเอาท์ต่างๆที่โรงหนังจึงได้รู้จักกับ พี่เบิ้ม (นายอารมย์ คงกะพัน) ตลาดพลู ผู้กว้างขวางที่ขายของอยู่ที่วิกศรีตลาดพลู พี่เบิ้มคนนี้เป็นคนให้การช่วยเหลือโดยตลอด มีอะไรขาดเหลือก็ไม่ทอดทิ้ง พาไปร้องเพลงเชีย์รำวงที่ต่างๆกระทั่งประกวดร้องเพลงชิงรางวัลในย่านฝั่งธนก็ได้พี่เบิ้มเป็นคนยุเป็นคนพาไปทั้งสิ้น กระทั่งคืนวันที่ 4 กันยายน 2504 วงดนตรีจุฬารัตน์ของครูมงคล อมาตยกุล ซึ่งเป็นวงดนตรีลูกทุ่งที่มาตรฐานที่สุดในยุคมาปิดวิกแสดงที่วิกศรีตลาดพลู พี่เบิ้ม เป็นคนพาสมเศียรไปหาครูมงคล ที่หลังโรง เพื่อต้องการฝากให้ได้เป็นน้กร้องในสังกัดจุฬารัตน์สักคน แต่ครูเพลงไม่สนใจมีเพียง กุงกาดิน หรือ นคร ถนอมทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยครูมงคลเท่านั้นที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงความสามารถบนเวทีในคืนนั้น พอร้องเพลงจบ กุงกาดิน พร้อมทั้ง สัมพันธ์ อุมากูร นักแสดงตลกและนักแต่งเพลงประจำคณะได้ขอให้ครูมงคล ยอมรับเข้าคณะ แต่ครูมงคลก็ยังใจแข็งพร้อมทั้งยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นคนดีหรือคนร้ายกันแน่เลยไม่ยอมรับเพียงแต่บอกว่า ถ้าอยากจะเป็นนักร้องจุฬารัตน์จริงๆก็ให้ไปพบกันที่เวทีสถานีวิทยุ ปชส.7 ใต้สะพานพุทธจะให้แหล่โต้สดๆ กับพร ภิรมย์ ออกอากาศ วิทยุด้วย ถ้ากลัวก็ไม่ต้องไป
แล้วในคืนวันที่ 10 กันยายน 2504 ตรงกับคืนวันอาทิตย์ ขึ้น 1 ค่ำเดือน 10 ปีฉลู ที่สถานีวิทยุ ปชส.7 เชิงสะพานพุทธฝุ่งพระนคร เวลาประมาณ 5 ทุ่มเศษๆ พี่เบิ้มตลาดพลู พาสมเศียร พานทอง นักร้องเชียร์รำวงไม่มีชื่อเสียงก็อาจหาญร้องเพลงแหล่โต้กับพร ภิรมย์ นักร้องลูกทุ่งอันดับหนึ่งของประเทศในขณะนั้นออกอากาศสดๆ โดยมีผู้ชมเต็มสถานีและผู้ฟังทางบ้านเป็นสักขีพยาน เสียงปรมมือเมื่อต้อนรับน้กร้องไม่มีชื่อดังสนั่นหวั่นไหวเพราะความกล้าหาญและ ด้วยน้ำเสียงลีลาแปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร
ในที่สุดครูมงคล อมายกุล ถึงกับออกไปประกาศด้วยตัวเองว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปวงดนตรีคณะจุฬารัตน์ขอต้อนรับนักร้องลูกทุ่งคนใหม่เข้าประจำวงโดยตั้งชื่อให้ว่า " ชาย เมืองสิงห์" อันเป็นชื่อที่ครูเตรียมไว้ให้ สุรพล พรภักดี นักร้องนักแต่งเพลงเลือดสิงห์บุรีอีกคนหนึ่งที่อยู่ในวงก่อนหน้าแล้ว สุรพล พรภักดีเลยต้งใช้ชื่อในด้านการร้องเพลงและแต่งเพลงในภายหลังว่า "พล พรภักดี" จากชีวิตนักเชียร์รำวง กลายเป็นนักร้องมีสังกัดตั้งแต่บัดนั้นโดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก ครูมงคล อมายกุล, ครูสัมพันธ์ อุมากูร,ครูไพบูลย์ บุตรขัน, ครู ป.ชื่นประโยชน์ , กุงกาดิน หรือ นคร ถนอมทัรพย์ , มนตรี แสงเอก , สุรพล พรภักดี , ฉลอง วุฒิวัย , พร ภิรมย์ , คำปัน ผิวขำ หรือ ปอง ปรีดา
ด้วยน้ำเสียงสีลาที่แปลกแตกต่างจากนักร้องชื่อดังในยุคนั้น ทำให้สมเศียรโดดเด่นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ความดังเปรี้ยงได้เหมือนพายุทอร์นาโด หรือไต้ฝุ่นที่พัดโหมกระหน่ำเข้าสู่จิตใจคนชอบเพลงลูกทุ่งจนสามารถเข้าเกาะกุมจิตใจผู้คนทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็ว
ด้วยลีลาถึงลูกถึงคนแบบฉบับลูกทุ่งขนานแท้ๆ พลังความคิดพลังมันสมองของคนที่ผ่านการศึกษาค่อนข้างสูงและยังเป็น การศึกษาด้านศิลปะผนวกกับประสบการณ์ของลูกชาวนาของแท้ที่พบปะเจอะเจอได้รู้ได้เห็นทางเพลงพื้นบ้านที่แทรกซึมเข้าไปในสายเลือดโดยไม่รู้ตัว เมื่อสบโอกาสก็พรั่งพรูออกมาเป็นงานเพลงชนิดเหมือนสายน้ำไหลหรือเปรียบเหมือนทำนบพัง ผลงานการเขียนเพลงของสมเศียร จึงกลายเป็นรสชาติใหม่ของกวงการที่ใครก็ทำได้ไม่เหมือน แต่ละบทเพลงที่ออกมาจับต้องได้เป็นเพลงลูกทุ่งของวัยรุ่นยุคนั้นอย่างแท้จริงเพลงรักก็เจ้าชู้อย่างวัยรุ่นใช้สำนวนถึงแก่นจึงทะลุทะลวงเข้าสู่จิตใจทำให้กลายเป็นเพลง ดังชนิดเพลงแล้วเพลงเล่า
เริ่มต้นด้วยการได้รับอนุญาตจากครูมงคล ให้อัดแผ่นเสียงเพลงแรก คือ เพลงชมสวน ซึ่งแต่เอง จากนั้นก็ได้อัดแผ่นเสียงติดตามมาอีกมากมาย เพลงชมสวนเป็นเพลงที่แต่งร้องสสดหน้าเวทีมาจนโชกโชน กระทั่งเมื่อทางวงมีกำหนดอัดแผ่นเสียงงวดใหม่ซึ่งมีนักร้องหลัก คือ ทูล ทองใจ แต่ว่า ทูล ทองใจ ใช้เวลาอัดเท่าไหร่ก็อัดไม่ติดสักที เพราะเมื่อก่อนนั้นจะอัดแผ่นแสียงทีจะต้องทั้งร้องและเล่นดนตรีไปพร้อมกัน ใครผิดก็ต้องร้องใหม่ อัดจนล้า ครูมงคลจึงสั่งพักแล้วก็หันไปสั่งให้สมศียร พานทอง ลองเอาเพลงที่ร้องหน้าเวทีมาอัดดูนั่นก็คือ เพลง ชมสวน ซึ่งใช้เวลาอัดเพียงเที่ยวเดียวก็ติดแล้ว แต่พอดีเป็นเพลงที่ยาวมากประมาณ 6 นาที ตัดลงแผ่นไม่ได้ ครูมงคล ต้องการให้อัดทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้คิดทำแผ่นเสียง แต่เจ้าของห้างคาเธ่ย์มาได้ยินเพลง จึงขอซื้อเพลงนี้ด้วย ไม่ต้องตัดทอนจะนำไปแถมท้ายแผ่นส่งไปทำที่ญี่ปุ่นถ้าทำได้ จะให้ 800 บาทแต่ครูมงคลบอกว่าต้องได้เท่าทูล ทองใจ คือ 1,200 บาท ไม่งั้นให้ไม่ได้ในที่สุดสมเศียร ต้องตัดเพลงของตัวเองเหลือ 3 นาที แล้วร้องใหม่อัดจนเสร็จลงแผ่นได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า เพลงชมสวนเป็นเพลงแรก ที่สมเศียรได้ร้องอัดแผ่นเสียงแต่ก็ไม่ใช่เพลงแรกทีอัดแผ่นออกขายสู่ท้องตลาด เพราะเพลงแรกจริงๆทีประชาชนได้ยินทางแผ่นเสียงคือ เพลงมอดกัดไม้ ซึ่งครูมงคล อมาตยกุล เป็นคนแต่งให้ร้องและเป็นเพลงลุกทุ่งพื้นบ้านเพลงแรกที่ครูเป็นคนแต่งเพราะปกติแล้วครูจะถนัดเขียนเพลงแนวสากลมาตรฐานมากว่าถัดจาก เพลงมอดกัดไม้ , ชมสวน , แล้วพอมัคนรู้จักชือของ สมเศียร พานทองบ้างแต่ยังไม่ดัง แต่ก็คงมีงานเพลงต่อเนื่องที่ตนเองเป็นคนคิดแต่งเอง ร้องเองเรียงกันมาเป็นแถว นับว่าเป็นนักร้องที่ขยันอัดแผ่นเสียงมากที่สุดแห่งยุคก็ว่าได้ เพลงที่ 3 ที่ร้องก็คือ เพลงพ่อลูกอ่อน และตามด้วย เสน่ห์นางไพร , ลูกสาวใครหนอ, มาลัยดอกรัก เพลงลูกสาวใครหนอ สร้างชื่อเสียงให้มากพอควร แต่ถ้าจะนับว่าเพลงไหนที่จุดประกายให้คนไทยทั้งประเทศติดใจถูกใจและยอมรับให้เป้นขวัญใจต้องถือว่าเพลงมาลัยดอกรัก คือเพลงที่ทำให้ดังทะลุฟ้า
นายสมเศียร เป็นนักร้องนำของวงดนตรีจุฬารัตน์ ของครูมงคล อมายกุล ตลอดระยะเวลาประมาณ 5 ปีเศษ สร้างชื่อเสียงให้วงอย่างยิ่งใหญ่ และเป็นนักร้องลูกทุ่งวัยรุ่นคนเดียวในเมืองไทยก็ว่าได้ที่มีคนคลั่งไคล้มากที่สุด เพราะนอกจากน้ำเสียงลีลาที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครแล้วยังแต่งตัวเท่ห์ แต่งตัวแปลกประกอบรูปร่างเล็กๆหน้าตาดีมากหล่อขนาดมีคนตั้งฉายาให้ว่าเป็น "อเลน เดอ ลองก์ ออฟ ไทยแลนด์ แมนซิตี้ไลออนส์ "
ชีวิตคนย่อมมีจุดผกผัน ในที่สุดประมาณปี พ.ศ.2510 นายสมเศียร ต้องจำใจกราบอำลาครูมงคล ออกจากวง แต่ด้วยสัจจะวาจาที่ให้ไว้กับครูเขาลั่นวาจาว่าไม่ตั้งวงในชื่อ "ชาย เมืองสิงห์" อย่างเด็ดขาด เพราะไม่ต้องการแข่งขันกับวงของครู ช่วงนั้นเขารับเชิญร้องตามงานทั่วๆไปไม่ตั้งวง กระทั่งวันที่ 9 สิงหาคม 2511จึงทำวงดนตรีเล็กๆ ฉบับกระเป๋าคล้ายๆแตรวงผสมเครื่องไทยหลายอย่าง ตั้งชื่อวงว่าวงดนตรีคณะหลังเขาประยุกต์ อยู่มาได้ประมาณปีเศษก็ขยายวงขึ้นเป็นวงดนตรีมาตรฐานวงใหญ่แล้วเปลี่ยนชื่อวงเป็น วงดนตรีลูกทุ่งคณะจุฬาทิพย์เพื่อต้องการให้เป็นสัญลักษณ์ว่าถึงอย่างไรก็ยังเป็นศิษย์เคารพครูอยู่เหมือนเดิม
วงดนตรีจุฬาทิพย์เริ่มต้นเปิดวงประมาณปี พ.ศ.2512-2513 อยู๋มาได้ยาวนานประมาณ 10 ปี ที่สุดก็เลิกวงไป ชีวิตช่วงนี้มีเหตุการณ์สำคัญๆเกิดขึ้นอย่างมากมายอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ชีวิตลำบากหมดกำลังใจเริ่มต้นจากความแตกร้าวของครอบครีวต้องแยกทางกัน ปี พ.ศ.2513พ่อ ลีก็เสียชีวิต ถัดมาอีก 3 ปี ในพ.ศ.2516 แม่ป่วนอันเป็นที่รักก็มาเสียชีวิตตามไปอีกคน ประมาณ 10 ปี เต็มๆ ที่นายสมเศียรแทบจะหลุดออกนอกวงการเพลงไม่มีงานอัดแผ่นเสียงอีก ชีวิตส่วนใหญ่ขลุกอยู่กับงานขุดดินทำสวนทำไร่นาสวนผสม จนกลายเป็นเกษตรกรดีเด่นประจำจังหวัดสิงห์บุรีแล้วสิงที่คนทุกคนและวงการเพลงลูกทุ่งไม่คาดฝันมาก่อนก็ได้เกิดขึ้นเมื่อมีการจัดงาน "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย " ขึ้นเมื่อวันที่ 16กันยายน พ.ศ.2532 นายสมเศียร พานทองได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ถึง 4 โล่พระราชทาน จากผลงานเพลง พ่อลูกอ่อน และทำบุญร่วมชาติ เขากลับมาอีกครั้ง มีผลงานเพลงทั้งเก่าใหม่พรั่งพรูออกมาสู่ตลาดเพลงเหมือนทำนบแตก ความยิ่งใหญ่ความเป็นอมตะและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเวลาเป็นเพียงแค่เวลาเท่านั้น จะเนิ่นนานสักแค่ไหน ความยอดเยี่ยมของเขายังคงมีอยู่ครบถ้วน
เกียรติยศทางสังคม เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นสมาชิก สมัชชาแห่งชาติ ในสมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ส่วนเกียรติคุณทางเพลงเขาก็รับมาแล้วมากมายอาทิ
1. รางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย พระราชทาน เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2532 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับ 4 โล่พระราชทานจากการแต่งเองร้องเอง เพลงพ่อลูกอ่อน และเพลงทำบุญร่วมชาติ
2. รางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยพระราชทาน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2534 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยาม ราชกุมารี รับ 2 โล่ พระราชทานจากการแต่งเองร้องเอง เพลงลูกสาวใครหนอ
3. รางวัลโล่พระราชทานประกาศเกียรติคุณในฐานะนักร้องนักแต่งเพลงผู้ใช้ภาษาดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จากสถาบันวิจัยภาษาและพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับราชบัณฑิตยสถาน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2534
4. ได้เป็นศิลปินดีเด่นหรือผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมประจำภาคกลางตอนบน(สาขาศิลปะ และการช่างฝีมือ) เข้ารับโล่และ เกียรติบัตรพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535
5. รางวัลเกียรติบัตร ประกาศเกียรติคุณพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย ภาคพิเศษ แสดงเมื่อวันที่18 กันยายน พ.ศ.2537 เข้าเฝ้าฯรับพระราชทาน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2538 จากเพลงทุกข์ร้อยแปด
-ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักแต่งเพลงลูกทุ่ง)ปี 2538
เครดิต
http://www.nangdee.com/name/f/p1229.htmlขอบคุณครับ