วันนี้จะมาขอนำ ผลไม้ป่า ที่อยู่คู่กับวิถีชีวิต ของเด็กบ้านนอกทุกภาค มานานแสนนาน ไม่ว่าจะเป็นอาหารว่าง ยามว่าง(ปาก) เป็นที่หลบร่มเงา ยามเมื่อเอาวัว ควาย ออกไปเลี้ยง แถมบางครั้ง ยัง มีอาหารเพิ่ม บนต้นหว้า ไม่ว่า รังมดแดง แลน ลูกนก ได้ ทั้งความสุข สงบ ร่มเย็น แถมเพิ่งมาทราบว่า ยังเป็นยาได้ด้วย ท่านใด มีประสพการณ์ เกี่ยวกับ"หว้า" นำมาแจมกันนะครับ
"หว้า” ชาวฮินดูเรียกว่า “จามาน” หรือ “จามูน”
“หว้า” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า จัมโบลาน (Jambolan) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซีสส์จิอัม คูมินิ (Syzygium cumini (L.) Skeels) จัดอยู่ในวงศ์ ไมร์ทาซีอี้ (Myrtaceae) “หว้า” เป็นพันธุ์ไม้พวก ชมพู่ คือสกุล (Genus Syzygium) ในวงศ์ (Family Myrtaceae) มีมากทั้งในอินเดีย พม่า ไทย และมาเลเซีย ตลอดจนฟิลิปปินส์ โดยมากหว้ามีลูกเล็กสีม่วงดำ แต่ในบางแห่ง
เช่น ในฟิลิปปินส์มีลูกโตเท่าไข่นกพิราบ หว้ามีกิ่งก้านมาก แข็งแรง ปลายกิ่งห้อยย้อยลง ใบดกหนา ทำให้เกิดเป็นพุ่มทรงรูปไข่ แน่นทึบ ใบอ่อนจะแตกสีแดงเรื่อ ๆ แม่ค้าที่ขายลูกหว้าเขาจะพรมน้ำเกลือเล็กน้อย เพื่อเพิ่มรสชาดให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น ผล หว้ามีขนาดยาว 1 – 2.5 ซม. และโตประมาณ 1 ซม. น้ำจากผลหว้าก็เป็น 1 ใน 8 น้ำปานะที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตแก่พระภิกษุ เมล็ดลดน้ำตาลในเลือด แก้ท้องเสีย และใช้ถอนพิษ ในพม่านั้น ต้นหว้าถือเป็นไม้มงคลในเรื่องความสำเร็จและชัยชนะ ด้วยชื่อว่าชมพูทวีป หรือดินแดนแห่งไม้หว้านั้น เป็นแผ่นดินอันเป็นแดนกำเนิดของพระพุทธศาสนาและพระบรมศาสดานั่นเอง
“หว้า” มีคุณค่าทางโภชนาการคือ ในผลหว้าจะประกอบด้วย น้ำตาล วิตามินซี มีแคลเซียม(สูง) และเหล็ก ส่วนในเมล็ดหว้าจะมีสารอัลคาลอยด์ น้ำมันหอมระเหย ฟอสฟอรัส และแคลเซียม
สรรพคุณของหว้าและวิธีใช้
เปลือกและใบหว้า ใช้ทำยาอม ยากวาดคอ แก้ปากเปื่อย ลิ้นและคอมีเม็ด
ใบและเมล็ดหว้า ใช้แก้บิด มูกเลือด ท้องเสีย นำใบและเมล็ดหว้ามาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ในการชะล้างแผลเน่าเปื่อย หรือนำใบและเมล็ดหว้ามาตำแล้วใช้ทาแก้โรคผิวหนัง
เมล็ดหว้าเมื่อนำมาต้มหรือบด แล้วนำมารับประทาน มีสรรพคุณใช้แก้เบาหวาน แก้บิด แก้ท้องร่วงได้
“ผลหว้าสุก” จะลักษณะสีม่วงดำ และมีรสเปรี้ยวฝาดอมหวาน จึงสามารถนำมาใช้ในการทำไวน์ได้ดี ส่วนยอดอ่อนของหว้า สามารถใช้รับประทานเป็นผักสด
สำหรับในประเทศไทย ต้นหว้าเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดเพชรบุรี
ขอนำเพลง ใต้ร่มหว้า ของ อ้น ธวัชชัย มาร่วมแจม ครับ
ผมขอนำอาหารว่าง ของคนบ้านนอก(ผมเอง) เมื่อก่อนทำนา กินข้าวเที่ยง แล้วเอน(หลับ) ตื่นมาบ่าย ยังงัวเงีย ก็ไปห่ม(ขย่ม) ต้นหว้าที่ลูก สุกดกๆ เอาเสื่อรองใต้โคน ได้มาซักกำสองกำ(ล้างก็ได้ ไม่ล้างก็ได้) ใส่ถ้วยใหญ่ๆ(กินหลายคน) ใส่น้ำส้มโหนด พริก เกลือ เคล้าให้เข้ากัน เอาเข้าปาก (อย่าเคี้ยวนะเมล็ดเยอะ) เอาแค่ย้ำๆ แล้วกลืน ทั้งเนื้อ ทั้ง เมล็ด ทำให้ตาแจ้ง(สว่าง) หายง่วง มีพลัง ในการทำนารอบบ่ายต่อไป แล้วแถมเรายังช่วยปลูก หว้า อนุรักษ์พันธ์ไว้ไม่หายไป ฮิ อิ อิ (ใครตอบได้ช่วยตอบ ว่าปลูกอย่างไร)
***ก่อนลาจากกันขอนำวิธีการทำ น้ำลูกหว้า แปรรูป(วิธีกินแบบทันสมัยขึ้น) พร้อมทั้ง สรรพคุณ มาฝากกัน ได้ข่าวมาว่า เป็นสินค้า โอท็อป ของบางหมู่บ้าน บางจังหวัดแล้วด้วย
น้ำลูกหว้า
ส่วนผสม
ลูกหว้าสุกล้างสะอาดขยำเอาแต่เนื้อ 3 ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1 ถ้วยตวง
เกลือป่น 1 ช้อนชา
น้ำสะอาด 9/2 ถ้วยตวง
น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1.นำเนื้อลูกหว้าที่ขยำไว้แล้ว ใส่ลงในหม้อ เติมน้ำนำไปตั้งไฟจนเดือด จากนั้นยกลง
2.กรองเอากากออก เติมน้ำเชื่อม เกลือป่น และน้ำมะนาว ตั้งไฟให้เดือดอีกครั้ง ยกลง
3.ตั้งน้ำลูกหว้าทิ้งไว้ให้เย็นแล้วเทใส่ขวดที่ล้างสะอาดและลวกน้ำร้อนแล้วปิดฝานำไปแช่ตู้เย็นดื่มใสน้ำแข็ง
4.วิธีเสิร์ฟ ตักน้ำแข็งใส่แก้ว รินน้ำลูกหว้าใส่ เสิร์ฟได้ทันที
(กากเนื้อ เอามาทำแยมได้)
คุณค่าทางโภชนาการ : ในผลลูกหว้าจะประกอบไปด้วยสารอาหารต่างๆ พลังงาน คาร์โบไฮเดรต เส้นใย
สรรพคุณทางยา : แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ขับเสมหะแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน เมารถเมาเรือ ช่วยให้เจริญอาหารกินข้าวได้ลดการจับตัวของลิ่มเลือด ช่วยย่อยอาหารโดยเพิ่มการหลั่งน้ำดีและน้ำย่อยต่างๆด้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยต้านมะเร็ง
(น้ำลูกหว้าเข้าห้าง)
ที่มา :
http://www.tungsong.comขอบคุณข้อมูลวิชาการ จาก วิกิพีเดีย
เพลงจาก youtube
ภาพจาก อินเตอร์เน็ต
ข้อมูล ที่ไม่เป็นวิชาการ จากประสพการณ์ ตรง
อำนวยการสอนโพสภาพโดย อ. ชาติ...