ต้นทางบทความ..
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=770609เสน่ห์ที่หายไปในเพลงลูกทุ่ง จากคำบอกเล่าของเจนภพ จบกระบวนวรรณ
เสน่ห์ที่หายไปในเพลงลูกทุ่ง
เสียงเพลงลอยล่องจากสุดปลายนา ทรานซิสเตอร์คลื่นเอเอ็มเครื่องเก่าๆ กำลังขับขานสำเนียงทำนองเพลงที่คนไทยเคยคุ้นหู ก่อนกาลเวลาจะทำให้เสียงนั้นกลายเป็นเพียงอดีตที่ประทับอยู่ในใจให้ได้เพียงหวน ระลึกถึงเท่านั้น
“เพลงลูกทุ่ง” สิ่งที่เปรียบเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ของสังคมไทย บอกเล่าผ่านวิถีชีวิต ตลอดจนเรื่องราวปรากฏการณ์ในสังคมไทย ความแปรเปลี่ยนของวันเวลา โลกยุคกระแสเทคโนโลยีที่ไหลบ่ามากับการแข่งขันทางวัฒนธรรม ทำให้เพลงลูกทุ่งในวันนี้กับวันนั้นในอดีตมีความต่างกัน อย่างสิ้นเชิง
เสน่ห์ความงามเก่าก่อน
บทเพลง คือเครื่องมือหรือช่องทางในการบอกเล่า สะท้อนภาษา ค่านิยม และวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ ครูเจนภพ จบกระบวนวรรณ ได้กล่าวไว้ว่า เพลงลูกทุ่งหนึ่งเพลงเป็นคลังความรู้ในเรื่องของความเป็นไปในอดีตได้ดีมากกว่าตำราหลายเท่า เพราะมันเกิดจากความเป็นจริงธรรมดาที่ถูกหยิบยกมาถ่ายทอดในรูปแบบที่มีศิลปะ
ถ้าเทียบกับในปัจจุบันการทำงานของมันก็คงเหมือนกับ videotape recorder หรือที่เรียกกันติดปากว่า VTR ที่ทำหน้าที่นำเสนอเรื่องราวต่างๆให้อยู่ในระยะเวลาสั้นๆแต่สร้างความเข้าใจต่อผู้ชม เพียงแต่บทเพลงนั้นเป็นการนำเสนอด้วยเสียงที่สื่อความหมายอย่างเดียว ซึ่งคุณสมบัติของมันคือการทำให้ผู้ฟังสามารถมองเห็นภาพจากภาษาถ้อยคำที่สื่อสารออกมา ให้รู้สึกเข้าถึงและเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวนั้นๆได้จริง แม้ว่าผู้ฟังจะไม่เคยพบเจอ หรือสัมผัสมันมาก่อนเลยก็ตาม ดั่งการพรรณนาถึงความงามของสถานที่ในบทเพลงนิราศเวียงพิงศ์ ของ ทูล ทองใจ
“ คู่เวียงพิงค์คือปิงสุดงาม สวยอยู่บ่เคยเสื่อมทรามช่างงามซึ้งใจบ่วาย
น้ำใสเย็น มองเห็นจนพื้นหาดทราย ปลาน้อยแตกฝูงกระจายอยู่ในธาราน่าชม
ช่างพาฝันงามนั้นชวนฉันชื่นชม ฉันพลอยคลายความโศกตรมนั่งชมน้ำปิงสุขใจ
เสน่ห์ของเพลงลูกทุ่งในสมัยก่อน คือการบอกเล่าเรื่องทุกเรื่องของคนไทยโดยการใช้ภาษาที่สวยงามสละสลวย เป็นการเล่าเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกระแสนิยมหรือความสนใจของสังคม แต่เป็นการนำสิ่งเล็กๆที่ใครอาจไม่เคยรู้จักหรือสัมผัสมาก่อนได้รับรู้และเห็นภาพ หลายๆ เรื่องราวของคนไทยมีนำเสนอแต่เพียงในเพลงลูกทุ่งเท่านั้น เช่น การพรรณนาถึงสถานที่ในเนื้อเพลงที่กล่าวมาข้างต้น การใช้การละเล่นเด็กไทยมาเล่าเรื่องอย่างเพลงงูกินหาง ของรุ่งเพชร แหลมสิงห์
“ เอ่ยถามแม่งูโฉมตรูกินน้ำบ่อไหน น้องตอบบ่อทรายแล้วย้ายไปมาสองข้าง ตอบกินบ่อโศกแม่งูย้ายโยกอีกทาง พ่องูรู้ทางขัดขวางพ่องูรู้ทางขัดขวาง ดักหน้าน้องนาง ฉกลงตรงหางจับลูกนางกิน ”
“ เสน่ห์ของเพลงลูกทุ่งมันคือลมหายใจของคนไทย คือความคิดทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเรา วิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิด แต่งงาน บวชเรียน กระทั่งการตาย เรื่องราวของคนไทยทุกคน ทุกอาชีพ หมอ ตำรวจ ทหาร ครู ฯลฯ ล้วนแต่มีปรากฏในบทเพลงลูกทุ่ง ” เจนภพ จบกระบวนวรณ
เพลงลูกทุ่งวิถีชีวิตคนไทย
“ เสน่ห์ลูกทุ่งนั้นมีมนต์ขลัง ยินเสียงขลุ่ยดังพริ้วลมพัดมาชายทุ่ง
เด็กขี่หลังควายผ้าขาวม้าคาดพุง ใฝ่ฝันเรืองรุ่งเป็นลูกทุ่งไทย ”
วันวานที่หวนรำลึกถึงของเพลงลูกทุ่งนั้นเป็นภาพของธรรมชาติ ท้องนาไร่ทุ่ง แม่น้ำ ป่า ภูเขา หรือวิถีชีวิต การทำมาหากิน ภาษาสำเนียง เพลงลูกทุ่งจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ฟังเห็นภาพของประเทศไทยได้ดีที่สุด นอกจากการเปิดอ่านจากตำรา จากคำบอกเล่าของเจนภพ จบกระบวนวรรณ ผู้เชี่ยวชาญทางเพลงลูกทุ่ง ได้เล่าถึงกลิ่นอายในวันวานของเพลงลูกทุ่งให้ฟังว่า ภาพของคณะมิตรเพลง (แฟนคลับ)ที่รับฟังคลื่นวิทยุเอเอ็ม เปรียบเสมือนกระบอกเสียงที่ปลุกให้วิญญาณศิลปินของชาวไร่ชาวนาต้องลุกขึ้น อุ้มลูกจูงหลาน มานั่งปูเสื่อในลานวัดเพื่อรอชมมหรสพชนบท การแสดงด้านหน้าเวทีของวงดนตรีลูกทุ่งที่พวกเขาชื่นชอบ แสงไฟ สี เสียง พร้อมกับ หางเครื่องและนักดนตรี กว่า 50 ชีวิต สร้างสีสันให้เกิดขึ้น มันจึงกลายเป็นสุดยอดเครื่องบันเทิงใจหนึ่งเดียวที่ทำให้ทิวาราตรีนั้นได้ผ่านไปพร้อมความสุข หลังจากที่ตรากตรำกับการทำงานมาทั้งวัน
คาราโอเกะยุคทอง กัดกร่อนศิลปะ
“ หัวใจติดดินสวมกางเกงยีนส์เก่าเก่า ใส่เสื้อตัวร้อยเก้าเก้ากอดกระเป๋าใบเดียวติดกาย
กราบลาแม่พ่อ หลังจากเรียนจบ ม.ปลายลาทุ่งดอกคูณไสวมาอาศัยชายป่าปูน ”
วิวัฒนาการ เพลงลูกทุ่งพัฒนามาถึงยุคเศรษฐกิจทุนนิยม การอพยพของคนชนบทเข้ามาหากินในเมืองกรุงเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนผ่านเพลง ลูกทุ่งอย่างชัดเจน ภาพท้องไร่ท้องนาในบทเพลงเปลี่ยนเป็นวิถีชีวิตของชนชั้นแรงงานกรรมกร โดยศิลปินที่โด่งดังที่สุดคือ ไมค์ ภิรมย์พร (ยาใจคนจน) ได้กลายเป็นตราสินค้าของระบบธุรกิจเพลงลูกทุ่งยุคใหม่ที่ได้เข้ามาลดทอน วัฒนธรรมครอบครัวเพลงลูกทุ่งในอดีต
ครูเจนภพ เล่าให้ฟังว่าในสมัยก่อนนั้น นายทุนจะมุ่งสร้างศิลปินให้มีแรงดึงดูดให้คนนิยมชมชอบ จากนั้นจึงตั้งเป็นวงดนตรีให้คนซื้อตั๋วมานั่งดู หนึ่งวงดนตรีคือการเลี้ยงชีพของคนหนึ่งร้อยครอบครัว คนที่มีความฝันอยากเป็นนักร้อง นักดนตรี ดาวตลก โฆษก หรือแม้กระทั่งคนที่ต้องการมีรายได้ ทุกคนเข้ามาในวงดนตรีหาเลี้ยงชีพด้วยการเปิดแสดง แบกหาม ทำตามหน้าที่ ทำตามความฝันของตัวเอง นำรายได้ไปเจือจุนครอบครัวให้มีอยู่มีกิน บรรยากาศเต็มไปด้วยการสร้างคน สร้างงาน สร้างชื่อเสียงและความภูมิใจให้กับคนในท้องถิ่น แต่สมัยนี้ไม่ใช่ คาราโอเกะธุรกิจได้ทำลายระบบครอบครัวลูกทุ่ง นักร้องไม่จำเป็นต้องมีนักดนตรี มีเพียงแผ่นซีดี กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็สามารถหากินได้ นักดนตรีตกงาน วงการลูกทุ่งที่อบอุ่นสนิทกันเหมือนคนในครอบครัวก็กลายเป็นการแข่งขัน
“ยุคทองของคาราโอเกะ ได้ทำลายศิลปะการร้องเพลงลงอย่างสิ้นเชิง” เจนภพ จบกระบวนวรรณ
ลดบอกเล่าวิถีชีวิต นำเสนอสิ่งผิดทางประเพณีเรื่องเพศ
โลกเดินทางเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์เต็มตัว สิ่งของอำนวยความสะดวกมีรายล้อมอยู่รอบ เทคโนโลยีใหม่ๆ ค่านิยมตะวันตกที่ทะลักทลายเข้าสู่สังคมไทย รวมไปถึงกระแสเพลงเกาหลี ค่านิยมการแต่งกายตามแบบเด็กญี่ปุ่น หลายๆช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างมากขึ้น อีกทั้งภาษาแปลกๆ ที่สื่อความหมายผิดเพี้ยนไปจากเดิม คำและความหมายใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่นคำว่า “ชิมิ” ในเพลง ชิมิชิมิ ของสามสาววง บลูเบอร์รี่ หรือท่วงทำนองที่ถูกดัดแปลงในเข้ากับวิถีการฟังของคนในสังคมยุคปัจจุบัน เช่น การปรับเปลี่ยนจังหวะ ทำนอง หรือรูปแบบการผสนผสานเครื่องดนตรีสมัยใหม่เข้าไปให้สอดคล้องกับผู้ฟังในปัจจุบัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความหลากหลายในด้านเนื้อหาและท่วงทำนองแบบเก่าก่อนที่ปรากฏอยู่ในเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่อดีต บัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ดังคำเปรียบเปรยของ เจนภพ จบกระบวนวรรณ ที่ว่า พ.ศ.นี้คือวงการลูกทุ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก และเข้าสู่ภาวะของ ‘ โลกมืดสีเทา ’
“ อยากเป็นคนเดียวคนนั้นที่ไม่มีวันได้เป็น มองไปก็ได้แต่เห็น รักที่ไม่ใช่ของเรา
อยากเป็นคนเดียวคนนั้น อยากเป็นแฟนเธอแทนเขา ฟ้าดินได้ยินหรือเปล่า เสียงใจเหงาๆ พร่ำวอน ”
( อยากเป็นแฟนเธอแทนเขา ตั๊กแตน ชลลดา)
“ ห้ามเท่าไรใจมันไม่ฟัง รู้ว่าผิดหวังยังคงรักเธอต่อไป
หรือเพราะเวรกรรม ที่ฉันนั้นทำเมื่อชาติก่อนไว้
จึงต้องตกเป็นชู้ทางใจ รักเธอไม่คลายอยากอยู่ใกล้เธอ ”
( ชู้ทางใจ : อันดา)
รวมไปถึงอีกหลายๆบทเพลงของตั๊กแตน ชลลดา เช่น ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ แฟนเก็บ ฯลฯ บทเพลงเหล่านี้เป็นผลผลิตจากภาวะโลกมืดสีเทาในเพลงลูกทุ่งปัจจุบัน สะท้อนด้านมืดในจิตใจมนุษย์ จากเรื่องผิดเรื่องไม่สมควรถูกเอามาเรียงร้อยให้กลายเป็นความงดงามลึกๆในจิตใจ ผสานเข้ากับศิลปะของเพลงลูกทุ่งจนออกมาเป็นสิ่งสวยงามในความรู้สึกผู้คน
“ถ้าบอกว่าเมื่อก่อนก็มี อย่างเพลงเมียพี่มีชู้ ลองไปฟังดีๆเขามีข้างในซ่อนอยู่ ไม่ได้มาด่าทอเหมือนทุกวันนี้ แล้วก็ไม่ได้มีออกมาหนึ่งเพลงแล้วมีชู้กันทั้งวงการ เพราะยุคนั้นเขาพยายามสร้างความแตกต่างให้เพลงมันหลากหลาย แต่วันนี้พอมีเพลงไหนที่โดน ที่ดัง ก็มีออกมาเหมือนกันหมด ทำนองก็คล้ายกันหมด กลายเป็นเรื่องเดียวกันทั้งวงการ ปัจจุบันนี้แปดสิบเปอร์เซ็นต์ของเพลงลูกทุ่งพูดถึงเรื่องการผิดประเพณีทางเพศไปแล้ว” เจนภพ จบกระบวนวรรณ
อีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมรูปแบบการสื่อเนื้อหาในเพลงลูกทุ่งก็คือ การตลาด ที่มุ่งประเด็นไปที่ยอดขาย และความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ถ้าเรื่องไหนขายดีขายได้ เรื่องนั้นก็จะกลายเป็นต้นฉบับในการผลิตเนื้อหารูปแบบนั้นๆออกมาเหมือนๆกัน จนทำให้คุณค่าความงามของเพลงลูกทุ่งตั้งแต่อดีตนั้นค่อยๆกลืนหายไปกับธุรกิจและการทำศิลปะในเชิงพาณิชย์ จากคุณสมบัติสะท้อนความเป็นอยู่ของคนในสังคม กลับกลายเป็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และมีอยู่ ได้สะท้อนเนื้อหาของบทเพลงเหล่านี้ออกมาเพราะทฤษฎีจากการศึกษาตลาดอย่างนั้นหรือ ?
“ครูมองว่ามันไม่ใช่ศิลปะ แต่เพลงลูกทุ่งสมัยนี้มันเป็นสินค้า ในเชิงธุรกิจทางการตลาด เพลงลูกทุ่งสมัยก่อนเป็นศิลปะบริสุทธิ์ แต่ในสมัยนี้มันเป็นศิลปะเชิงพาณิชย์และความเป็นศิลปะก็ค่อยๆลดลงๆ”
โลกก้าวหน้า ลูกทุ่งต้องพัฒนาตาม
“ถ้าไม่มีเมื่อวาน จะมีวันนี้ได้ยังไง เพราะเมื่อวาน เพราะสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ รอให้คนรุ่นต่อๆมาเดิน ถนนเมื่อก่อนอาจจะเป็นดินลูกรัง รุ่นครูมาทำให้มันเป็นถนนคอนกรีต แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องทำคือพัฒนาให้มันยิ่งใหญ่กว่านั้น เป็นถนนลอยฟ้า” ครูเจนภพรำพึง
“ ความเป็นไทย ” มีหลายสิ่งที่ทรงคุณค่าและคู่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้มากมาย ทั้งภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยมที่ดีงาม สิ่งซึ่งเชิดชูความเป็นไทยให้แก่คนในสังคมโลกได้ตระหนักและชื่นชม แล้วเหตุใดคนไทยกันเองถึงละเลย มองข้าม และพยายามอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงมันให้เข้ากับกระแสคลื่นที่ไม่มีวันสงบ ทุกวันนี้เหมือนเราปล่อยให้สิ่งที่บรรพบุรุษคนรุ่นหลัง ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจกันแผ้วถางสร้างหนทางไว้ให้คนรุ่นต่อๆมาเดินนั้น เป็นเพียงสิ่งไร้ค่า ไร้ความหมาย ไม่มีคนมาก่อร้างสร้างมันให้ยิ่งใหญ่และมั่นคงกว่าเดิม
ศิลปะของจริง ไม่เป็นสิ่งลวงสังคม
คนรุ่นใหม่อย่างเราๆน่าลองหันกลับมามองกันสักนิด แล้วอาจจะสัมผัสได้ว่าสิ่งที่งดงามที่สุดมักมาจากตัวตนลึกๆ จากเนื้อแท้ของเราเองนั่นแหละ อย่ามัวสวมหน้ากากของกระแสนิยมที่มาแล้วก็จากไปวนเวียนเป็นวัฏจักรแบบไม่รู้จบ เปิดใจให้กว้างๆ เรียนรู้และศึกษาให้เยอะๆ อย่าเพิ่งคิดว่าสิ่งที่คนเก่าๆทำมามันล้าสมัย เชย ลองมองดู แล้วเข้าไปสัมผัสให้ถึงแก่น ค้นหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมเสน่ห์จริงๆของเพลงลูกทุ่งถึงโดนดูดกลืนไปเฉกเช่นปัจจุบันนี้ อย่าสร้างศิลปะหลอกๆ ขึ้นมาลวงทั้งตัวเองและคนอื่น เพราะมันไม่ใช่ของจริง
อนุรักษ์เพลงลูกทุ่งไว้ซึ่งความงดงามและทรงคุณค่าคู่สังคมไทย สานต่อให้มันคงอยู่แบบไม่มีวันตายทั้งจากใจคน และจากวงการเพลง โลกปัจจุบันหมุนไปไกล และมันก็นำพาสื่อ นำพาช่องทางใหม่ๆที่สามารถสร้างสรรค์ พัฒนาของเดิมให้ทรงคุณค่ายิ่งๆขึ้นไปได้อีกไม่รู้จบ ใช้ประโยชน์จากสิ่งใหม่ๆที่มีในปัจจุบัน ผสมผสานกับศิลปะในอดีตให้ลงตัวอย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อเวลาบรรพบุรุษและผู้ร่วมรักษามองมาได้ชื่นใจ และหายเหนื่อย
ความพร้อม ต้องหล่อหลอมศิลปะ
“ความสุขของคนเป็นครู คืออยากให้คนรุ่นใหม่และลูกศิษย์เก่งกว่า เพราะถ้าเขาเก่งกว่าศิลปะของเราจะอยู่ได้ เราก็จะนอนตายตาหลับ แต่คำถามคือทำไมยังไม่มีคนเก่งเท่า ชาย เมืองสิงห์ หรือ ผ่องศรี วรนุช ทั้งที่คนรุ่นใหม่ก็มีองค์ประกอบ มีตัวช่วย มีความพร้อมทุกอย่าง แต่ทำไมถึงยังสู้เขาไม่ได้ ?”
คำถามนี้นอกจากจะทวงถามคนรุ่นปัจจุบันแล้ว ยังเป็นลมแผ่วเบาที่มีพละกำลังมหาศาลในการสะกิดเตือนถึงความคิดและความรู้สึกของคนทำเพลง รวมไปถึงคนมีฝันอีกหลายๆคน ให้หันกลับมามองสิ่งที่กำลังเป็นไปในวงการเพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน
อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่เพลงลูกทุ่งจะถูกนำเสนอในรูปแบบที่แปลกแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา ตามพัฒนาการของสังคม และวิวัฒนาการของโลกที่หมุนไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะวัตถุดิบสำคัญในการเลือกสรรมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวเรื่องหนึ่งนั้น หาได้จากการมีอยู่และเป็นไปในสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าทุกคนมีใจรักษาและพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ ย่อมต้องไม่ลืมว่าแท้จริงแล้ว เสน่ห์ของเพลงลูกทุ่งคืออะไร และหวงแหนเอกลักษณ์นั้นไว้ให้คงอยู่สืบต่อไป