กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิก.

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
การค้นหาขั้นสูง  

ข่าว:

ผู้เขียน หัวข้อ: ธุดงค์วัตร ในสมัยต้นร้ตนโกสินทร์  (อ่าน 10214 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ภิรมย์

  • รักเมืองไทย
  • ชาวบ้านกิตติมศักดิ์
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 2321
  • กระทู้: 480
  • Thank You
  • -Given: 2121
  • -Receive: 2321
  • คุณลูกกับคุณแม่
ธุดงค์วัตร ในสมัยต้นร้ตนโกสินทร์
« เมื่อ: เมษายน 17, 2013, 11:26:58 AM »
     พระภิกษุและสามเณรในสมัยก่อนมักจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เพื่อหาทาง
สงบจิตใจในสถานที่วิเวกตามป่าเขา
     การออกธุดงค์นั้นส่วนมากมักจะไปกันตั้งแต่ ๑-๕ องค์ แต่ที่ไปกันมากๆ เป็น
ร้อยก็มี
     การที่นิยมไปกันน้อย   ก็เพื่อสะดวกในการบิณฑบาต   เพราะในป่ามีบ้านไม่
มาก บิณฑบาตได้อาหารมาก็พอฉัน  แต่ถ้าไปกันมากๆ  พระและเณรที่ไปธุดงค์
ส่วนใหญ่จะอด
    ในการธุดงค์นั้น  บริขารที่จำเป็นที่พระและเณรจะต้องมีติดตัวไปได้แก่  บาตร
กลด มุ้ง กาน้ำ เครื่องกรองน้ำ ผ้านิสีทนะ(ผ้ารองนั่ง)และผ้า ๓ ผืน
     สมัยก่อนพระและเณร  ที่อยู่วัดในกรุงเทพฯ   และจังหวัดใกล้เคียงมักจะไปธุ
ดงค์เพื่อนมัสการพระพุทธบาทและพระฉาย ที่จังหวัดสระบุรี และพระแท่นดงรัง
กาญจนบุรี ฯลฯ  เป็นส่วนมาก  เพราะอยู่ไม่ไกลเกินไป  สามารถที่จะเดินทางไป
กลับได้โดยไม่ลำบาก
     ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน     ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า
อยู่หัว พ.ศ.๒๔๕๐ ได้กล่าวถึงการออกธุดงค์ของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย เมือง
สมุทรปราการ  ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อเสียงในปลายรัชกาลที่ ๕ ว่า
     ...มีพระครูพิพัฒน์นิโรธ(ปาน)มาเฝ้า ...พระครูองค์นี้อายุ ๗๐  ปียังไม่แก่มาก
รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นที่นิยมกันในทางวิปัสสนา และธุดงค์วัตร  มีพระสงค์วัด
ต่างๆ ไปเดินธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย  ว่าแรกลงไปประชุมอยู่ที่วัดบางเหี้ยสัป
รุษย์ที่ศรัทธาช่วยกันเลี้ยง  ฉันน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมด  แล้วก็ออกเดินทางลงไป
บางปลาสร้อย แล้วเวียนกลับขึ้นมาปราจีณ นครนายกไปพระบาท แลลงมาทาง
สระบุรีมาตามทางรถไฟแต่ไม่ได้ขึ้นรถไฟ  เว้นแต่พระที่เลื่อยล้าเจ็บไข้   ผ่านกรุง
เทพฯ  กลับไปลงบางเหี้ย ออกเดินอยู่ในแรมเดือนยี่ กลับอยู่ในเดือนห้าเดือนหก
ประพฤติเช่นนี้มา ๔๐ ปีแล้ว
     ส่วนการเดินธุดงค์ของหลวงพ่อปาน  วัดบางนมโค อำเภอเสนา  จังหวัดพระ
นครศรีอยุธยา  ได้ความจากหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน ซึ่งพระมหาวีระ ถาวโร
ลูกศิษย์ของท่านได้เขียนไว้ว่า   ท่านออกธุดงค์ชุดละ ๕ องค์   ทั้งนี้เพื่อไมให้ชาว
บ้านที่จะสงเคราะห์ลำบาก   การเดินธุดงค์ของท่านพยายามเลี่ยงหมู่บ้าน   การ
ปักกลดก็ห่างจากบ้านคนอย่างน้อย ๑ กิโลเมตร  เพื่อไม่ให้เสียงชาวบ้านรบกวน
ในยามที่ต้องการความสงบ      แต่ก็ไม่ไกลเกินไปที่จะบิณฑบาตอาหารจากชาว
บ้านมากนัก
     เนื่องจากสมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่มีถนนหนทางเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้  การเดิน
ธุดงค์จึงเดินไปตามทางเกวียนและทางในป่าเขาเป็นส่วนใหญ่  แม้นการเดินทาง
ไปพระพุทธบาทสระบุรี สมัยนั้นก็ต้องเดินตามทางในป่าเช่นกัน
     จากหนังสือ “กฎหมาย ๒ เล่ม” ใน  “กฎหมายพระสงฆ์”  ซึ่งตราไว้เมื่อ  จ.ศ.
๑๑๖๓ (พ.ศ.๒๓๔๔) ในรัชกาลที่ ๑ ได้กล่าวถึงพระสงฆ์ที่เดินธุดงค์ไปพระพุทธ
บาทในสมัยนั้นว่า
     ..ลางจำพวกขึ้นพระพุทธบาทเดินทางคาคกระตุค โพกประเจียดถือดาบ กระ
บี่ถือกฤช  ดุจพวกโจร  ถึงพระพุทธบาทแล้วคุมกันเป็นพวกๆ กลางวันเข้าถ้ำร้อง
ลคอนลำนำหยอกสีกา  กลางคืนก็คลุมศีศะตามกันตีวงร้องปรกไก่ดุจฆราวาส..
     จากข้อความดังกล่าวแสดงว่า    พระสงฆ์ที่เดินธุดงค์ในสมัยนั้น   บางพวกก็
ประพฤติปฎิบัติตนไม่เหมาะสมกับเป็นสมณะ   จึงได้ทรงตรากฎหมายห้ามฉบับ
นี้ขึ้น    โดยกำหนดโทษที่ทำผิดถึงกับให้สึก   ทำการสักแขนเอาลงเป็นไพร่หลวง
แล้วนำตัวไปใช้งานหนักตลอดชีวิต
     ปัจจุบัน  ทางคณะสงฆ์ได้ห้ามภิกษุสามเณรที่เดินธุดงค์ปักกลดในเขตชุมชน
แต่ก็ยังเห็นพระธุดงค์ปักกลดในเขตชุมชนอยู่เสมอ

 
  จากหนังสือ เล่าเรื่องไทยๆ  เล่ม ๔
  ของ  เทพชู  ทับทอง


บันทึกการเข้า
 :42ดนตรีคือ สื่อภาษาสากล :42

** กระทู้แรกที่ควรอ่านเมื่ออยู่บ้านเพลงไทย **

ลุงชัยนรา

  • ความเปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร์
  • ชาวบ้านกิตติมศักดิ์
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 3715
  • กระทู้: 910
  • Thank You
  • -Given: 3245
  • -Receive: 3715
  • ชีวิตนี้ยอมพลี เพื่อแผ่นดิน
Re: ธุดงค์วัตร ในสมัยต้นร้ตนโกสินทร์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 22, 2013, 10:30:22 AM »
   ในนราธิวาส ก่อนเกิดเหตุวุ่นวาย มีเขาเหล่านั้น ไปปักกลด อยู่ใกล้ตลาดมีชาวพุทธโง่ๆ หลายคนเอาอาหาร ไปใส่ในเหล็กกลวงๆ (ผมขอไม่เรียกบาตรนะ)  กลางคืนก็ไปดูดวง ขอของดี ผมแจ้งตำรวจให้ไปตรวจสอบ ก็ไม่กล้าไป แจ้งศึกษาธิการจังหวัด(สมัยนั้นยังไม่มีสำนักงานพุทธฯ) ก็ไม่กล้าไป ผมเลยต้องดำเนินการเองเลย ไปพูดดีๆ(ที่สุด) ขอดูใบสุทธิ บอกว่าหาย มาจากวัดไหนก็ไม่บอก แล้วถามกลับว่าเป็นใคร ผมก็บอกว่า ชาวไทยพุทธธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่อยากให้ศาสนาอื่นที่อยู่ในพื้นที่เขาดูถูกเอาที่ทำตัวอย่างนี้ เขาก็บอกว่าเขาธุดงค์มา ผมก็เลยใช้ความเป็นเด็กวัดเก่า ใช้ความเป็นอดีตพระที่เคยสอบนักธรรมตรีได้ ถามว่าตามหลักฯแล้วเขาให้ปักกลดห่างจากชุมชนเท่าไหร่ ก็ตอบไม่ได้ อึกๆอักๆ ผมเลยเชิญ(ไม่ใช้ว่านิมนต์)ให้ย้ายกลดไปอยู่ในป่าช้า หรือในวัด บอกว่าหากพรุ่งนี้เจออีกจะให้แขก(อิสลาม) มารื้อกลดให้ รุ่งเช้ามาหายจ้อย...เลย


**กำหนดชั่ว 500 ชั่วคันธนู เป็นกำหนดของเสนาสนะป่า สำหรับภิกษุที่สมาทานธุดงควัตรข้อ"อยู่ป่าเป็นวัตร"
คำว่ากำหนด 500 ชั่วธนู หมายถึง ธนูที่ยิงออกไปจากคันธนู เวลาเห็นเขาแข่งยิงธนูจะอยู่ระยะ 50-70 เมตรครับ
แต่ต้องเข้าใจไว้ว่า เวลาพระท่านอยู่ป่าเป็นวัตร ท่านไม่ได้อยู่ในป่าดงดิบนะครับ ท่านจะอยู่ในระยะที่สามารถไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน แล้วกลับมาทันฉัน (ไม่เกินเพล) ดูจากประวัติพระเก่าๆ ในอดีตท่านเล่าไว้ว่า ไม่เกิน 8 กิโลเมตรจากหมู่บ้านกำลังดีครับ** นำมาฝากเสริมความรู้ อย่าให้เป็นชาวพุทธโง่ๆ ครับ


บันทึกการเข้า

มหาสุ

  • **แก้ไข**
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 749
  • กระทู้: 135
  • Thank You
  • -Given: 323
  • -Receive: 749
Re: ธุดงค์วัตร ในสมัยต้นร้ตนโกสินทร์
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: เมษายน 22, 2013, 02:47:57 PM »
           ก่อนอื่นขอโอกาสพูดถึงคำว่าธุดงค์ก่อนว่า คืออะไร และมีการปฏิบัติกันมาอย่างไรตั้งแต่สมัยพุทธกาล
           ธุดงค์ (บาลี: ธุตงฺค, อังกฤษ: Dhutanga) เป็นวัตรปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ แต่ไม่มีการบังคับ แล้วแต่ผู้ใดจะสมัครใจปฏิบัติ  เป็นอุบายวิธีกำจัดขัดเกลากิเลส ทำให้เกิดความมักน้อยสันโดษยิ่งขึ้น ไม่สะสม เพื่อให้เบาสบายไปมาได้สะดวกด้วยไม่มีภาระมาก เหมือนนกที่มีเพียงปีกก็บินไป มิใช่เพื่อสะสมหรือเพื่อลาภสักการะและชื่อเสียง ถ้าทำเพื่อลาภ เพื่อชื่อเสียง ต้องอาบัติทุกกฎ
        โดยรูปศัพท์ ธุดงค์ แปลว่า องค์คุณเป็นเครื่องกำจัดกิเลส, องค์คุณของผู้กำจัดกิเลส หรือ การสมาทานเพื่อเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอันอันตรายต่อสัมมาปฏิบัติ
        ธุดงค์นั้น เป็นศัพท์เฉพาะที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท โดยพระพุทธเจ้าตรัสแสดงธุดงค์ลักษณะต่าง ๆ ไว้หลายพระสูตร เมื่อรวมแล้วจึงได้ทั้งหมด 13 ข้อ
           ธุดงค์ในปัจจุบันยังคงเป็นแนวการปฏิบัติที่เป็นที่นิยมของชาวพุทธเถรวาททั่วไปในหลายประเทศ โดยไม่จำกัดเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น คฤหัสถ์ทั่วไปก็ถือปฏิบัติได้บางข้อเช่นกัน
           ปัจจุบัน คำว่า ธุดงค์ ในประเทศไทยถูกใช้ในความหมายว่าเป็นการเดินจาริกของพระสงฆ์ไปยังที่ต่าง ๆ หรือเรียกว่า การเดินธุดงค์ ซึ่งความหมายนี้แตกต่างจากความหมายเดิมในพระไตรปิฎก
           ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธุดงค์ คือ ข้อปฏิบัติละเอียดเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อความมักน้อยสันโดษ มี ๑๓ ข้อ ซึ่งภิกษุ สามารถรักษาได้ครบ ว่าด้วยเรื่องต่างๆ เช่น บิณฑบาต จีวร เสนาสนะ และอิริยาบถ เป็นต้น สำหรับภิกษุณี สามเณร สามเณรี และคฤหัสถ์ สามารถรักษาได้บางข้อลดไปตามลำดับ เช่น ที่คฤหัสถ์รักษาได้ก็มี ทานมื้อเดียว ทานอาสนะเดียว ภาชนะเดียว เป็นต้น (การเดินป่าไม่ปรากฏในธุดงค์ ๑๓)
       ทั้งหมดเป็นความประพฤติด้วยความเห็นประโยชน์ ของการเป็นผู้อยู่ขัดเกลากิเลส
ที่จะประพฤติด้วยอัธยาศัยตัดความยุ่งยาก ดิ้นรนแสวงหาที่ทำให้เสียเวลา หรือ
ประโยชน์อื่นไป

        จากคำถามที่ว่า  มีปฏิปทาอย่างไร อย่างไรจึงชื่อว่าธุดงค์  ธุดงค์ มี 13 ข้อดังนี้คือ
        1.การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คือการใช้แต่ผ้าเก่าที่คนเขาทิ้งเอาไว้ตามกองขยะบ้าง
ข้างถนนบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง นำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อมสี เย็บต่อกันจนเป็นผืนใหญ่
แล้วนำมาใช้ งดเว้นจากการใช้ผ้าใหม่ทุกชนิด
       2.การถือผ้า 3 ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร คือการใช้ผ้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น อันได้แก่
สบง(ผ้านุ่ง) จีวร   สังฆาฏิ
       3. การถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือการบริโภคอาหารเฉพาะที่ได้มาจากการรับบิณฑบาต
เท่านั้น ไม่บริโภคอาหารที่คนเขานิมนต์ไปฉันตามบ้าน
       4.ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่
ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตาม
ลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไป
       5. ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ในแต่ละวันจะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว
เมื่อนั่งแล้วก็ฉันจนเสร็จ หลังจากนั้นก็จะไม่บริโภคอาหารอะไรอีกเลย นอกจากน้ำดื่ม
       6.ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร คือจะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกัน
ในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาดของอาหาร
       7.ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว ตัดสินใจ
ว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้มีใครนำอะไรมาถวายเพิ่มอีก ก็จะไม่รับ
อะไรเพิ่มอีกเลย ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตาม
       8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร คือจะอยู่อาศัยเฉพาะในป่าเท่านั้น จะไม่อยู่ในหมู่บ้านเลย
เพื่อไม่ให้ความพลุกพล่านวุ่นวายของเมืองรบกวนการปฏิบัติ หรือเพื่อป้องกันการ
พอกพูนของกิเลส
        9. ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร คือจะพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้เท่านั้น งดเว้นจากการอยู่ใน
ที่มีหลังคาที่สร้างขึ้นมามุงบัง
       10. ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร คือจะอยู่แต่ในที่กลางแจ้งเท่านั้น จะไม่เข้าสู่ที่มุง
บังใดๆ เลย แม้แต่โคนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ติดในที่อยู่อาศัย
       11.ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร คือจะงดเว้นจากที่พักอันสุขสบายทั้งหลาย แล้วไป
อาศัยอยู่ในป่าช้า เพื่อจะได้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ประมาท
       12. ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร คือเมื่อใครชี้ให้ไปพักที่ไหน หรือ
จัดที่พักอย่างใดไว้ให้ ก็พักอาศัยในที่นั้นๆ โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบาย หรือถูกใจ
หรือไม่ และเมื่อมีใครขอให้สละที่พักที่กำลังพักอาศัยอยู่นั้น ก็พร้อมจะสละได้ทันที
       13.ถือการนั่งเป็นวัตร คือจะงดเว้นอิริยาบถนอน จะอยู่ใน 3 อิริยาบทเท่านั้น คือ ยืน
เดิน นั่ง จะไม่เอนตัวลงให้หลังสัมผัสพื้นเลย ถ้าง่วงมากก็จะใช้การนั่งหลับเท่านั้น
เพื่อไม่ให้เพลิดเพลินในการนอน

        การถือธุดงค์ เป็นไปเพื่อความักน้อย สันโดษ ขัดเกลากิเลส ไม่ใช่เพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่า
มักน้อย สันโดษ เป็นผู้ขัดเกลา จึงเป็นเรื่องของอัธยาศัย ไม่ใช่ เรื่ิงที่จะต้องทำตาม

       เมื่อทราบแล้วว่าธุดงค์เป็นข้อวัตรที่พระพุทธองค์ทรงบอกไว้ว่าทำอย่างนี้แล้วจะขัดเกลาได้อย่างนั้น ต่อไปก็ลองมาดูการประพฤติปฏิบัติในสมัยพุทธกาล
        และจากคำถามที่ว่าแล้วธุดงค์ในครั้งโน้น และธุดงค์ในสมัยนี้ เหมือนหรือต่างกันโดยประการอย่างไรบ้าง
        -  ธูดงค์ ไม่ว่าในสมัยไหน หากถูกตอง ก็ต้องเป็นกุศลธรรม เป็น ความดี ที่เป็นธรรม
เครือ่งขัดเกลากิเลส เพราะ ธุดงค์ ก็คือ สภาพธรรมที่ขัดเกลากิเลส เมื่อเป็นสภาพ
ธรรมที่เป็นสภาพธรรมที่ดี ไม่ว่าสภาพธรรมทีีดีเกิดในยุค ใด สมัยใด สภาพธรรมนั้น
ก็ไม่เปลี่ยนไป ครับ เพียงแต่ว่า หากว่า บุคคล หรือ ผุ้ที่มีความไม่รู้ มากไปด้วยอกุศล
ย่อม อ้างชื่อ ธุดงค์ แต่ จิตและ ข้อวัตรปฏฺบัติ ย่อมไม่เป็นไปตามธุดงค์ เพราะ จิตไม่
เป็นธุดงค์ เพราะ ไม่ได้ขัดเกลากิเลส แต่เพิ่มกิเลส
                                                 ***************************
       


บันทึกการเข้า

มหาสุ

  • **แก้ไข**
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 749
  • กระทู้: 135
  • Thank You
  • -Given: 323
  • -Receive: 749
Re: ธุดงค์วัตร ในสมัยต้นร้ตนโกสินทร์
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: เมษายน 22, 2013, 02:51:26 PM »
           การแบ่งพระ พระป่าและพพระบ้าน อรัญญวาสี และคามวาสี
           พระภิกษุในพระพุทธศาสนาแบ่งออกได้เป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายคันถธุระ และฝ่ายวิปัสสนาธุระ ฝ่ายคันถธุระ ศึกษาพระปริยัติธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อให้เกิดความรอบรู้ในหลักธรรม เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ และสั่งสอนผู้อื่นต่อไป พระภิกษุฝ่ายนี้เมื่อศึกษาแล้วจะเกิดปัญญาที่เรียกว่า สุตตามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้จากภายนอกโดยการฟังการเห็นเป็นต้น ส่วนใหญ่พระภิกษุฝ่ายคันถธุระ มักจะอยู่ที่วัดในเมืองหรือหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกในการแสวงหาความรู้เพื่อตนเองจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และได้ใช้ความรู้นั้น ๆ สั่งสอนผู้อื่นได้ง่าย ได้บ่อยครั้งและได้เป็นจำนวนมาก จึงเรียกพระภิกษุฝ่ายนี้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นฝ่ายคามวาสี หรือพระบ้าน

           อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าฝ่ายวิปัสสนาธุระ นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จริงจังโดยเน้นที่การฝึกจิตในด้านสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญาในลักษณะของภาวนามยปัญญา อันเป็นความรู้ที่แท้จริงตามหลักของพระพุทธศาสนา เป็นปัญญาที่เกิดจากภายในผุดเกิดขึ้นเองเมื่อได้ปฏิบัติสัมมาสมาธิ จนถึงระดับหนึ่งคือ จตุตถฌานแล้วกระทำในในให้แยบคายน้อมไปไปสู่ที่ใต้ต้นวิชชาสาม ซึ่งจะเป็นความรู้ตามความเป็นจริงในระดับหนึ่ง ตามกำลังความสามารถของผู้ปฏิบัตินั้น ๆ อันเป็นหนทางนำไปสู่ความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าวจำเป็นต้องหาที่สงบสงัด ห่างไกลต่อการรบกวนจากภายนอกในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นพระภิกษุฝ่ายนี้จึงออกไปสู่ป่าเขา แสวงหาสถานที่ เพื่อให้เกิดสัปปายะแก่ตนเองที่จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาอย่างได้ผล จึงเรียกพระภิกษุฝ่ายนี้ว่า ฝ่ายอรัญวาสี หรือพระป่า หรือพระธุดงค์
           ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุทุกรูปจะเป็นพระป่า พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำชับให้ภิกษุสาวกของพระองค์ ให้ออกไปสู่โคนไม้ คูหาหรือเรือนร้าง เพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา
           พระพุทธเจ้าประสูติในป่า คือที่ป่าลุมพินีวัน ณ เขตติดต่อแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ตรัสรู้ที่ใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ในป่าริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เขตกรุงสาวัตถี แคว้นมคธ ทรงแสดงพระปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี และเข้าสู่ปรินิพพานที่ป่าในเขตกรุงกุสินาราย ตลอดระยะเวลา ๕๑ ปี พระพุทธเจ้าได้ทรงจาริกไปสั่งสอนเวไนยสัตว์ และเสด็จประทับอยู่ในป่า เมื่อมีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาสร้างวัดถวายก็จะสร้างวัดในป่า เช่น เชตวัน เวฬุวัน อัมพวัน ลัฏฐิวัน ชีวกัมพวัน มัททกุจฉิมฤคทายวัน อันธวัน และนันทวัน เป็นต้น คำว่าวันแปลว่าป่า พระพุทธองค์จะประทับอยู่ในวัดดังกล่าวตอนช่วงพรรษา ปีหนึ่งไม่เกินสี่เดือน นอกจากนั้นจะเสด็จจาริกนอนตามโคนไม้ตามป่า

พระป่าของไทย
           พระป่าของไทย หมายถึงพระที่อยู่ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับ พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นผู้ที่บรรพชาอุปสมบทถูกต้องครบถ้วนตามพระธรรมวินัย ไม่ผิดกฏหมายของบ้านเมือง บวชด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นและบริสุทธิ์ใจในบวรพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้วก็มุ่งมั่นบำเพ็ญเพียร ตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุธรรม อันนำไปสู่การพ้นจากวัฏสงสาร ทำให้พ้นจากกองทุกข์ อันเป็นจุดหมายอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา
           ในสมัยสุโขทัยต่อเนื่องมายังสมัยอยุธยา เรามีพระภิกษุฝ่ายคามวาสี เน้นทางด้านคันถธุระ และฝ่ายอรัญวาสีเน้นทางด้านวิปัสสนาธุระ ดังจะเห็นได้ในประวัติศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งที่กระทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแม่ทัพพม่า ได้ชัยชนะ แต่แม่ทัพนายกองหลายคนกระทำการบกพร่องได้รับการพิจารณาโทษ สมเด็จพระนพรัตน์แห่งวัดป่าแก้วและคณะ ได้เสด็จมาแสดงธรรมเพื่อให้ทรงยกโทษประหารแก่ แม่ทัพนายกองเหล่านั้น โดยยกเอาเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์ผจญพญามาร ในคืนวันที่ จะทรงตรัสรู้มาเป็นอุทาหรณ์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปิติโสมนัส ซาบซึ้งในพระธรรมที่สมเด็จพระนพรัตน์วัดป่าแก้ว ทรงแสดงยิ่งนักตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา" และได้ทรงพระราชทานอภัยโทษประหารแก่แม่ทัพนายกองเหล่านั้น
           จะเห็นว่าสมเด็จพระนพรัตน์วัดป่าแก้ว เป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี จึงได้ชื่อนี้ และอยู่ที่วัดป่า แต่ก็มิได้ตัดขาดจากโลกภายนอก เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญที่ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์สมควรที่จะออกมาสงเคราะห์ฝ่ายบ้านเมือง หรืออาจจะกล่าวโดยรวมว่า ฝ่ายศาสนจักรสงเคราะห์ฝ่ายอาณาจักร ท่านก็สามารถกระทำกิจนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างผู้ที่แตกฉานในพระไตรปิฎก ดังนั้น พระภิกษุสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีผู้ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ จะต้องมีความรู้ทางคันถธุระเป็นอย่างดีมาก่อน จะได้ปฏิบัติวิปัสสนาธุระได้อย่างถูกต้องตรงทาง คุณสมบัติข้อนี้ได้มีตัวอย่างมาแล้วแต่โบราณกาล
           ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระภิกษุที่เป็นแบบอย่างของพระป่าในปัจจุบัน เป็นที่รู้จักกันดีคือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพ ฯ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งสามท่านมีกิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือ ในดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทั้งในประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศพม่า สำหรับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นพระภิกษุที่มีศิษย์เป็นพระป่ามากที่สุดสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ และมรณภาพ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๙๖ นับจากปี พ.ศ.๒๔๖๐ จนมรณภาพท่านได้ออกสั่งสอนศิษย์เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด โดยเน้นภาคปฏิบัติที่เป็นจิตภาวนาล้วน ๆ ตามแนวทางพระอริยมรรคมีองค์แปด เมื่อกล่าวโดยย่อได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ปัจจัยสี่ของพระป่า
           ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อให้พอเหมาะแก่การดำรงชีวิตอยู่สำหรับการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้สี่อย่าง พระป่าของไทยได้นำมาประพฤติปฏิบัติจนถือเป็นนิสัยคือ
           ๑. การออกเที่ยวบิณฑบาตมาเลี้ยงชีพตลอดชีวิต การบิณฑบาตเป็นงานสำคัญประจำชีวิต ในอนุศาศน์ท่านสั่งสอนไว้มีทั้งข้อรุกขมูลเสนาสนะ และข้อบิณฑบาต การออกบิณฑบาต พระผู้มีพระภาคทรงถือเป็นกิจจำเป็นประจำพระองค์ ทรงถือปฏิบัติเพื่อโปรดเวไนยสัตว์อย่างสม่ำเสมอตลอดมาถึงวันปรินิพพาน
           การบิณฑบาต เป็นกิจวัตรที่อำนวยประโยชน์แก่ผู้บำเพ็ญเป็นเอนกปริยาย กล่าวคือ เวลาเดินบิณฑบาตไปในละแวกบ้าน ก็เป็นการบำเพ็ญเพียรไปในตัวตลอดเวลาที่เดิน เช่นเดียวกับเดินจงกรมอยู่ในสถานที่พักประการหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถในเวลานั้นประการหนึ่ง ผู้ที่บำเพ็ญทางปัญญาโดยสม่ำเสมอ เมื่อเวลาเดินบิณฑบาต เมื่อได้เห็นหรือได้ยินสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสทางทวารย่อมเป็นเครื่องเสริมสติปัญญา และถือเอาประโยชน์จากสิ่งนั้น ๆ ได้โดยลำดับประการหนึ่ง เพื่อตัดความเกียจคร้านของตนที่ชอบแต่ผลอย่างเดียว แต่ขี้เกียจทำเหตุที่คู่ควรแก่กันประการหนึ่ง และเพื่อตัดทิฏฐิมานะถือตน รังเกียจต่อการโคจรบิณฑบาต อันเป็นลักษณะของการเป็นผู้ขอ
           เมื่อได้อะไรมาจากบิณฑบาตก็ฉันอย่างนั้น พอยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่พอกพูนส่งเสริมกายให้มาก อันจะเป็นข้าศึกต่อความเพียรทางใจให้ก้าวหน้าไปได้ยาก การฉันหนเดียวในหนึ่งวันก็ควรฉันเถิดแต่พอประมาณ ไม่ให้มากเกินไป และยังต้องสังเกตด้วยว่าอาหารชนิดใดเป็นคุณแก่ร่างกาย และเป็นคุณแก่จิต เพื่อให้สามารถปฏิบัติสมาธิภาวนาได้ด้วยดี

           ๒. การถือผ้าบังสุกุลจีวรตลอดชีวิต ในสมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญพระมหากัสสปะว่า เป็นผู้เลิศในการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
           ผ้าบังสุกุล คือผ้าที่ถูกทอดทิ้วไว้ตามป่าช้า เช่นผ้าห่อศพ หรือผ้าที่ทิ้งไว้ตามกองขยะ ซึ่งเป็นของเศษเดนทั้งหลาย ไม่มีใครหวงแหน พระภิกษุเอามาเย็บติดต่อกันตามขนาดของผ้าที่จะทำเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ ได้ประมาณแปดนิ้วจัดเป็นผ้ามหาบังสุกุล ผ้าบังสุกุลอีกประเภทหนึ่งที่เป็นรองลงมา ผู้ที่มีจิตศรัทธานำผ้าที่ตนได้มาด้วยความบริสุทธิ์ไปวางไว้ในสถานที่พระภิกษุเดินจงกรมบ้าง ที่กุฏิบ้าง หรือทางที่ท่านเดินผ่านไปมา แล้วหักกิ่งไม้วางไว้ที่ผ้า หรือจะจุดธูปเทียนไว้ พอให้ท่านรู้ว่าเป็นผ้าถวายเพื่อบังสุกุลเท่านั้น
           ๓. รุกขมูลเสนาสนัง ถือการอยู่โคนไม้ในป่าเป็นที่อยู่อาศัย มหาบุรุษโพธิสัตว์ก่อนทรงตรัสรู้ในระหว่างที่แสวงหาโมกขธรรมอยู่หกปี ก็ได้มีความเป็นอยู่อย่างนี้มาโดยตลอด ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำพระสาวกให้เน้นการอยู่ป่าเป็นส่วนใหญ่ จำทำให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้ากว่าการอยู่ที่อื่น
           ๔. การฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าตลอดชีวิต เป็นการฉันยาตามมีตามได้ หรือเที่ยวแสวงหายาตามป่าเขา อันเกิดตามธรรมชาติเพื่อบรรเทาเวทนาของโรคทางกายเท่านั้น

กิจวัตรของพระป่า
           กิจวัตรที่สำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นแนวปฏิบัติของพระป่า ที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำมีอยู่สิบประการคือ
           ๑. ลงพระอุโบสถในอาวาสหรือที่ใด ๆ มีพระภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไป ต้องประชุมกันลงฟังพระปาฏิโมกข์ ทุก ๑๕ วัน (ครึ่งเดือน)
           ๒. บิณฑบาตเลี้ยงชีพตลอดชีวิต
           ๓. ทำวัตรสวดมนต์ เช้า - เย็นทุกวัน เว้นแต่เจ็บไข้อาการหนัก พระป่าจะทำวัตรสวดมนต์เอง ไม่ได้ประชุมรวมกันทำวัตรสวดมนต์เหมือนพระบ้าน
           ๔. กวาดเสนาสนะ อาวาส ลานพระเจดีย์ ลานวัด และบริเวณใต้ต้นมหาโพธิ ถือเป็นกิจวัตรสำคัญ เป็นเครื่องมือขจัดความเกียจคร้านมักง่ายได้เป็นอย่างดี พระวินัยได้แสดงอานิสงส์ไว้ ห้าประการ คือ หนึ่งในห้าประการนั้นคือ
ผู้กวาดชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินตามคำสั่งสอนของพระศาสดา เบื้องหน้าแต่ตายเพราะทำลายขันธ์ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
           ๕. รักษาผู้ไตรครองคือ สังฆาฏิ จีวร และสบง
           ๖. อยู่ปริวาสกรรม
           ๗. ปลงผม โกนหนวด ตัดเล็บ
           ๘. ศึกษาสิกขาบท และปฏิบัติอาจารย์
           ๙. แสดงอาบัติคือ การเปิดเผยโทษที่ตนทำผิดพระวินัยที่เป็นลหุโทษ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งให้ทราบ และสัญญาว่าจะสำรวมระวังมิให้เกิดทำผิดเช่นนั้นอีก
           ๑๐. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้งสี่ ด้วยความไม่ประมาท คือ พิจารณาสังขาร ร่างกาย จิตใจ ให้เป็นของไม่เที่ยงถาวรที่ดีงามได้ยาก ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อเป็นอุบายทางปัญญาอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน

ธุดงควัตรของพระป่า
           ธุดงค์ที่พระผู้มีพระภาคให้ปฏิบัติเพื่อขจัดกิเลสที่ฝังอยู่ภายใจจิตใจของปุถุชน มีอยู่ ๑๓ ข้อ ดังนี้
           ๑. ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
           ๒. เตจีวริกังคะ ถือใช้ผ้าเพียงสามผืนเป็นวัตร
           ๓. ปิณฑปาติกังคะ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
           ๔. สปทานจาริกังคะ ถือการเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร เพื่อเป็นความงามในเพศสมณะในทางมรรยาท สำรวมระวังอยู่ในหลักธรรม หลักวินัย
           ๕. เอกาสนิกังคะ ถือการฉันมื้อเดียวเป็นวัตร เพื่อตัดกังวลในเรื่องการฉันอาหารให้พอเหมาะกับเพศสมณะให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่รบกวนคนอื่นให้ลำบาก
           ๖. ปัตตปิณฑิกังคะ คือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ฉันเฉพาะในบาตร เพื่อขจัดความเพลิดเพลินในรสอาหาร
           ๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือการห้ามฉันภัตอันนำมาถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร
           ๘. อารัญญิกังคะ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
           ๙. รุกขมูลิกังคะ ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ข้อนี้ตามแต่กาลเวลาและโอกาสจะอำนวยให้
           ๑๐. อัพโภกาลิกังคะ ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ข้อนี้ก็คงตามแต่โอกาส และเวลาจะอำนวยให้
           ๑๑. โสสานิกังคะ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติให้เหมาะกับเวลาและโอกาส
           ๑๒. ยถาสันถติกังคะ ถือการอยู่เสนาสนะแล้วแต่เข้าจัดให้ มีความยินดีเท่าที่มีอยู่ไม่รบกวนผู้อื่น อยู่ไปพอได้บำเพ็ญสมณธรรม
           ๑๓. เนสัชชิกังคะ ถือการ ยืน เดิน นั่ง อย่างเดียว ไม่นอนเป็นวัตร โดยกำหนดเป็นคืน ๆ ไป

เครื่องบริขารของพระป่า
           เครื่องบริขารของพระป่า ตามพระวินัยกล่าวไว้มีสองชนิด คือ บาตรดินเผา และบาตรเหล็ก ปัจจุบันใช้บาตรเหล็กที่ระบมด้วยไฟ เพื่อป้องกันสนิม
           สบงหรือผ้านุ่ง จีวรหรือผ้าห่ม และสังฆาฏิ เป็นบริขารที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุ ผ้าเหล่านี้พระป่าจะทำกันเองตั้งแต่การตัดเย็บ ย้อมด้วยน้ำแก่นขนุนเรียกว่า ย้อมด้วยน้ำฝาด
           บริขารอื่นนอกจากบริขารแปดแล้ว ก็มีกลดพร้อมมุ้งกลด ในฤดูฝนสามารถใช้แทนร่มในเวลาออกบิณฑบาต นอกจากนี้ก็มีผ้าอาบน้ำฝนใช้นุ่งอาบน้ำ ผ้าอาบน้ำฝนนี้จะใช้หินแดงที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาฝนเป็นสีสำหรับย้อม ผ้าที่ย้อมด้วยหินแดงนี้ จะมีสีแดงเป็นส่วนใหญ่ หินแดงนี้ยังใช้ผสมกับสีแก่นขนุนเพื่อย้อมสบงจีวร และสังฆาฏิได้อีก นอกจากนี้ผ้าปูที่นอน ผ้านิสีทนะสำหรับใช้ปูนั่ง ผ้าอังสะ ผ้าเช็ดหน้าเช็ดปาก ย่ามสำหรับใส่ของ เมื่อถึงเวลาออกเที่ยววิเวกตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ ท่านจะซักย้อมผ้าของท่านเพื่อให้สีทนทาน บางทีไปนานสองสามเดือน ก็จะเคี่ยวแก่นขนุนเก็บติดตัวไปด้วย


บันทึกการเข้า

มหาสุ

  • **แก้ไข**
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 749
  • กระทู้: 135
  • Thank You
  • -Given: 323
  • -Receive: 749
Re: ธุดงค์วัตร ในสมัยต้นร้ตนโกสินทร์
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: เมษายน 22, 2013, 02:53:57 PM »
                               แบบฉบับการเดินธุดงค์
          ตามธรรมเนียมถือปฏิบัติในการเดินธุดงค์กัมมัฏฐานนั้น เมื่อเดินไปเรื่อยๆ จนถึงหมู่บ้านหนึ่ง ในระยะเวลาบ่ายมากแล้ว ถ้าขืนเดินทางต่อไปจะต้องค่ำมืดกลางทางแน่ พระธุดงค์ก็จะกำหนดเอาหมู่บ้านที่มาถึงในเวลาบ่ายมากนั้นเป็นที่เที่ยวภิกขาจารหาอาหารในเช้าวันรุ่งขึ้น
         ครั้นได้ระยะห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ ช่วงคันธนู หรือประมาณ ๑ กิโลเมตร ตามที่พระวินัยกำหนดแล้ว ก็จะแสวงหาร่มไม้หรือสถานที่สมควรปักกลด กำหนดเป็นที่พำนักภาวนาในคืนนั้น
          พอรุ่งเช้า ก็จะย้อนเข้าในหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ชาวบ้านที่รู้ข่าวตั้งแต่เมื่อวาน ก็นำอาหารมาใส่บาตรตามกำลังศรัทธา และกำลังความสามารถ
          ครั้นกลับถึงที่พักปักกลด ก็ทำการพิจารณาฉันภัตตาหาร เสร็จแล้วจึงเดินทางต่อไป ยกเว้นแต่จะกำหนดสถานที่นั้นพักภาวนามากกว่า ๑ คืน ก็จะอยู่บำเพ็ญภาวนา ณ สถานที่แห่งนั้นต่อไป
          ชาวบ้านที่สนใจ ก็อาจจะติดตามมาฟังพระธรรมเทศนา และแนวทางปฏิบัติในตอนค่ำบ้าง ในตอนเช้าหลังการบิณฑบาตบ้าง
          เมื่อเป็นเช่นนี้ พระธุดงค์ก็จะถามชาวบ้านถึงเส้นทางที่จะเดินทางต่อไป เพื่อจะได้สามารถกำหนดเส้นทางและกำหนดหมู่บ้านอันเป็นที่สมควรแก่การเที่ยวภิกขาจารในวันต่อๆ ไปได้
          เป็นการเดินธุดงค์ไปตามเส้นทางธรรมดาของพระธุดงค์แท้พระธุดงค์จริงตามแบบอย่างที่ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต และบรรดาสานุศิษย์ได้ถือปฏิบัติกันมา
         สำหรับการ ปักกลด นั้น ในทางปฏิบัติก็ต้องเอามุ้งกลดแขวนไว้กับเส้นเชือกที่ผูกตรึงกับต้นไม้ ไม่ใช่ปักไว้กับพื้นดิน เพราะการขุดดินหรือทำให้ดินเสียปรกติสภาพของมันไปเป็น การอาบัติโทษ อย่างหนึ่ง   
        ข้อปฏิบัติที่ถือเป็นธรรมเนียมประการต่อไป คือจะไปเที่ยวปักกลดในหมู่บ้าน ในสถานที่ราชการ ใกล้เส้นทางคมนาคม เช่น ริมถนน ริมทางรถไฟหรือที่มีคนพลุกพล่านผ่านไปมา อย่างนั้นไม่สมควร
        สถานที่พำนักปักกลดควรเป็นที่สงบวิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร เช่นในป่า ภูเขา ถ้ำ โคนไม้ เรือนร้าง หรือป่าช้า เป็นต้น
        ถ้ามีพระ เณร หรือฆราวาสที่ร่วมเดินทางด้วย แต่ละคนก็แยกกันไปปักกลดห่างกันพอสมควร เพื่อไม่ให้การปฏิบัติภาวนามีการรบกวนกัน ไม่ใช่ปักกลดอยู่เป็นกลุ่มใกล้ชิดติดกัน
        อย่างไรก็ดี การเดินธุดงค์ตามแบบดังกล่าว ถือเป็นธรรมเนียมหรือแบบฉบับที่ครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานอบรมสั่งสอน และพากันปฏิบัติสืบต่อกันมา
        ในยุคหลังๆ ในสมัยปัจจุบัน จะเห็นการเดินธุดงค์ไปเป็นคณะใหญ่ๆ มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ญาติโยมทราบ และเชิญชวนมาร่วมทำบุญ ตลอดถึงการนั่งรถไฟ รถทัวร์ ไปธุดงค์ก็มี ที่ทันสมัยกว่านั้นก็จัดธุดงค์เป็นคณะขึ้นเครื่องบินไปธุดงค์ที่ต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง โตเกียว ปารีส ออสเตรเลีย หรือดิสนีย์แลนด์ เป็นต้น จัดเป็นการประยุกต์หรือวิวัฒนาการของการธุดงค์ไปตามยุคสมัย หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ


บันทึกการเข้า

มหาสุ

  • **แก้ไข**
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 749
  • กระทู้: 135
  • Thank You
  • -Given: 323
  • -Receive: 749
Re: ธุดงค์วัตร ในสมัยต้นร้ตนโกสินทร์
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: เมษายน 22, 2013, 03:03:08 PM »
หลักการปฏิบัติธุดงค์
            พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน ท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า .. "ในเวลาใกล้ที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน ในกาลนั้น พระมหากัสสปเข้าไปทูลลาองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จะออกธุดงค์ สมเด็จพระพุทธองค์จึงได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
          "กัสสปะ! ดูก่อน กัสสป เวลานี้ตถาคตก็แก่แล้ว เธอก็แก่แล้ว จงละจากการอยู่ป่าเสียเถิด จงอยู่ในสถานบ้านเมือง จงรับสักการะที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีความเลื่อมใสเธอ และชีวิตของเธอกับชีวิตของตถาคตก็ใกล้อวสานแล้ว"
           พระมหากัสสปก็ได้กราบทูลองค์สมเด็จพระประทีปแก้วว่า
            "ภันเต ภควา .. ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระพุทธเจ้าข้า การที่ข้าพระพุทธเจ้าปฏิบัติธุดงควัตรอย่างนี้ ก็มิได้หมายคามว่า จะปฏิบัติเพื่อความดีของตน.."
( ทั้งนี้เพราะอะไร..เพราะพระมหากัสสปเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ความดีของท่านจบกิจพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ก็กราบทูลกับองค์สมเด็จพระประทีปแก้วว่า )
          "..ที่ข้าพระพุทธเจ้าทำอย่างนี้ ก็เพื่อว่าจะให้เป็นแบบฉบับของบรรดาภิกษุทั้งหลายภายหลัง ที่เกิดมาไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้ทราบว่า ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ยังมีพระคณะหนึ่งนิยม "ธุดงควัตร" เป็นสำคัญ เพื่อเป็นการส่งเสริมบรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติตาม"
          ฉะนั้น ธุดงค์แท้ ๆ ตามแบบฉบับ พระมหากัสสป ก็คือ แบบของพระพุทธเจ้านั่นเอง คำว่า "ธุดงค์" แปลว่า องค์ที่ประกอบไปด้วยความดี ชาวบ้านเขาแปลว่ายังไงก็ไม่รู้ แต่ขอแปลเป็นภาษาไทยว่า "ตั้งใจทำความดี"
          ธุดงค์มีอยู่ ๑๓ ข้อด้วยกัน ปฏิบัติได้ทั้งอยู่ในป่าช้า อยู่ในป่าชัฏ อยู่ในบ้าน หรืออยู่ในวัด ธุดงค์นี่อยู่ในวัดก็ปฏิบัติได้ หรือว่า ชาวบ้านจะปฏิบัติธุดงค์ก็ปฏิบัติได้ เขาไม่ห้าม การปฏิบัตินี้ไม่มีเฉพาะพระหรือไม่มีเฉพาะเณร
          อันดับแรกจะถือ "สันโดษ" เป็นสำคัญ เตจีวเรนะ เราพอใจเฉพาะเครื่องนุ่งห่มที่มีอยู่ชุดเดียว อย่างนี้ฆราวาสก็ทำได้ เราจะไม่มีผ้าเกินกว่าชุดเดียว เว้นไว้แต่ผ้าผลัดอาบน้ำ พอใจเพียงเท่านี้
          แต่ว่าพอใจเพียงเท่านี้ก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องน้อมลงไปว่าที่เราพอใจผ้าผืนเดียวนี้ เป็นการตัดความรุ่มร่าม ตัดความละโมภในเครื่องอาภรณ์ เครื่องประดับ หรือเครื่องแต่งตัว
และก็ต้องพิจารณาด้วยว่า การที่จะห่มผ้า การที่จะนุ่งผ้าใส่เสื้อนี่ เราไม่ต้องการความสวยสดงดงามของผิวพรรณ เราไม่ต้องการความสวยสดงดงามของเสื้อผ้า เราห่มผ้า เราใส่เสื้อ เรานุ่งผ้า เพื่อปรารถนาป้องกันความหนาว ความร้อน หรือเหลือบยุงเท่านั้น ไม่ต้องการความสวยสดงดงาม ความเรียบร้อยใด ๆ ทั้งหมด
            เพราะเราคิดไว้เสมอว่า ชีวิตของเรานี้มีความตายในที่สุด เราจะแต่งให้มันดีไปยังไง .. ก็แก่ลงทุกวัน ร่างกายเป็น "โรคะนิทธัง" เป็นรังของโรค มันป่วยทุกวัน แล้วในที่สุดมันก็ตาย
ผ้าผ่อนท่อนสไบที่เราแต่งกายนี่เหมือนกัน มันก็เก่าลงไปทุกวัน ในที่สุดมันก็ขาด ทั้งร่างกายก็ดี เครื่องอาภรณ์ เครื่องประดับ ผ้าผ่อนท่อนสไบก็ดี ไม่เป็นที่ถูกใจ ไม่เป็นที่ประสงค์ของเรา เพราะว่าเราไม่ได้มองเห็นว่าร่างกายเป็นของดีสำหรับเรา
            เพราะร่างกายนี่มัน ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ประกอบไปด้วย ธาตุ ๔ และก็มี วิญญาณธาตุ เข้ามาอาศัย มีอากาศธาตุ มาบรรจุให้เต็ม เป็นเรือนร่างที่อาศัยของจิตชั่วคราว
            มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วเสื่อมไปทุกวันและตายในที่สุด ร่างกายที่ประกอบไปด้วยทุกข์ ความทุกข์ต่าง ๆ ที่มันมีกับเรา เพราะอาศัยร่างกายเป็นสำคัญ
        ฉะนั้น ที่เราปฏิบัติความดีนี้นั้น เราไม่ต้องการร่างกายอย่างนี้อีก เรามุ่งศัพท์เดียวที่ พระอินทร์ ตรัสในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรินิพพานว่า
"เตสัง วูปะสะโม สุโข" ซึ่งแปลเป็นใจความว่า การเข้าไปสงบกายนั้น ชื่อว่ามีความสุข
          คำว่า "สงบกาย" หมายความว่า เราไม่ต้องการกาย คือ ขันธ์ ๕ อย่างนี้ต่อไป เพราะขันธ์ ๕ มันเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา
          ตายชาตินี้แล้ว เราก็ปล่อยขันธ์ ๕ ทิ้งไว้เป็นสมบัติของโลก เครื่องอาภรณ์ เครื่องประดับต่าง ๆ เราก็ทิ้งมันไว้ เราไม่ต้องการมันอีก จิตมีความประสงค์อย่างเดียวคือ พระนิพพาน
           นี่ว่ากันถึงว่าเครื่องแต่งกาย ถือผ้า ๓ ผืนนะ อย่าถือส่งเดช ต้องถือให้มันเป็นกรรมฐาน ถืออสุภสัญญา และ ไตรลักษณญาณ แล้วก็ สักกายทิฏฐิ ต้องถือไปถึงจุดนั้น จึงชื่อว่าเป็นธุดงค์แท้ ๆ
           ทีนี้ ถ้าเราถือ เอกภาชนะ หรือ เอกา "เอกภาชนะ" กินภาชนะเดียว "เอกา" กินเวลาเดียว ถือแค่กินแค่นี้ไม่พ้นหรอก เวลาก่อนจะกินเราต้องพิจารณาเป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญา ไม่ติดในรส
           อาหารอะไรก็ตาม ถ้าไม่เป็นโทษแก่ร่างกาย และก็ไม่ผิดพระวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เรากินได้ทุกอย่าง เพราะว่าการกินไม่ต้องการรส กินเพื่อยังอัตภาพให้ทรงอยู่เท่านั้น เท่านี้ยังไม่พอ ยังไม่เป็นธุดงค์แท้
          ธุดงค์แท้ต้องจับใจเข้าไปอีกว่า เวลาจะกินอาหารจะต้องพิจารณาให้เป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญา พิจารณาว่าอาหารนี้มาจากพื้นฐานแห่งความสกปรกทั้งหมด ข้าวที่จะมีเมล็ดข้าวขึ้นมาได้ เพราะอาศัยปุ๋ย ปุ๋ยมันมาจากความสกปรก ของสกปรกเป็นปุ๋ยเลี้ยงพืช
         เมื่อข้าวมันโตขึ้นมาจากความสกปรก เมล็ดข้าวก็ชื่อว่าเป็นเชื้อสายของความสกปรก ผักต่าง ๆ ที่เราบริโภค เขามาจากปุ๋ย คือ ความสกปรก บรรดาเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมาได้ เพราะอาศัยของสกปรกเป็นพื้นฐานเป็นอาหารและเนื้อสัตว์ทั้งหมดก็สกปรก
         ในเมื่อเรากินของสกปรกเข้าไป ร่างกายของเรามันก็สกปรก ร่างกายเกิดขึ้นมาจากพื้นฐานแห่งความสกปรก เราก็ต้องพิจารณาว่าร่างกายของเราเกิดขึ้นมาได้ เพราะพื้นฐานแห่งความสกปรก อาหารที่พยุงร่างกายเข้าไปก็เป็นอาหารที่สกปรก
        รวมความว่า ร่างกายของเรานี้ทั้งร่างกาย เต็มไปด้วยความสกปรก ร่างกายเราก็สกปรก ร่างกายของบุคคลอื่นก็สกปรก
        เป็นอันว่าความผูกพันในร่างกายทั้งหมด จะเป็นร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี จะไม่มีสำหรับเรา เพราะว่าคนทุกคนต้องการความสะอาด คำว่า "เรา" ในที่นี้คือ "จิต" ที่มาสิงอยู่ในร่างกาย
       การที่มาได้อย่างนี้เพราะ อำนาจกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม นำเรามาเข้าสู่ร่างกายที่เต็มไปด้วยความสกปรก มันจับเข้ามาขังคุกไว้ หลงเล่ห์เหลี่ยมของ "กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม"
       กิเลส คือ จิตชั่ว ตัณหา คือ ความอยาก อยากสวย อยากรวย อยากโกรธ อยากจะสะสมทรัพย์สิน อยากทรงชีวิตอยู่ อยากเกิดใหม่ อันนี้เป็นกำลังของ "ตัณหา"
       อุปาทาน คิดว่าของสวยเป็นของดี ความรวยเป็นของดี โกรธชาวบ้านเป็นของดี สะสมทรัพย์สินพอกพูนไว้ หลงใหลใฝ่ฝันปรารถนาในความเกิดใหม่เป็นของดี อย่างนี้เป็น "อุปาทาน"
       และก็ อกุศลกรรม เมื่อจิตมันชั่วแบบนี้ มันก็ทำในทางที่ชั่ว เพราะความไม่ฉลาด (อกุศล แปลว่า ความไม่ฉลาด) ทำด้วยความไม่ฉลาด คือ สร้างความเศร้าหมองให้เกิดขึ้น ทำกรรมสิ่งใดที่อยากจะได้ของสวย อยากจะได้ความร่ำรวย อยากจะโกรธชาวบ้าน อยากจะสะสมทรัพย์สิน อย่างนี้เป็น "อกุศลกรรม" ที่มันเกิดขึ้นกับจิต
       ที่เราต้องเกิดมาเป็นทุกข์อย่างนี้เพราะความโง่ โง่ติดกับของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และ อกุศลกรรม คือ มีอวิชชา เป็นนายใหญ่
       ฉะนั้น เวลานี้เรารู้แล้ว พบองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเลิกคบ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และ อกุศลกรรม ขับไล่ อวิชชา ตัวใหญ่ คือ หัวหน้าพาลใหญ่ให้พินาศไปด้วยกำลังของ ปัญญา คือ ไม่ติดใน ขันธ์ ๕ ไม่ติดในร่างกายของเรา และไม่ติดในร่างกายของบุคคลอื่น
       นี่ขอพูดแบบย่อ ๆ ธุดงค์นี่พูด ๓ ปี ไม่จบหรอก จะไปจบอะไร ธุดงค์มีตั้ง ๑๓ ข้อ ข้อหนึ่งพูดไปเป็นปียังไมจบ เป็นอันว่าถ้าเทศน์จบแล้วก็เถอะ คนฟังนี่ตายเป็นแถว คนเทศน์ก็ตายก่อนจบพอดี..ก็ไม่ไหวใช่ไหม? .
          หลวงพ่อฤาษีลิงดำได้กล่าวไว้ในหนังสือวัดท่าซุง


บันทึกการเข้า

ลุงชัยนรา

  • ความเปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร์
  • ชาวบ้านกิตติมศักดิ์
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 3715
  • กระทู้: 910
  • Thank You
  • -Given: 3245
  • -Receive: 3715
  • ชีวิตนี้ยอมพลี เพื่อแผ่นดิน
Re: ธุดงค์วัตร ในสมัยต้นร้ตนโกสินทร์
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2013, 05:22:33 PM »
ท่านมหาสุ รู้เรื่องพระดีจริง ลึกซึ้งเหมือนพระจริงๆเลย........นะ


บันทึกการเข้า

ชบาบาน

  • ชาวบ้านเพลงไทยอาวุโส
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 382
  • กระทู้: 95
  • Thank You
  • -Given: 412
  • -Receive: 382
Re: ธุดงค์วัตร ในสมัยต้นร้ตนโกสินทร์
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: พฤษภาคม 12, 2013, 09:45:56 AM »
ได้สดับพระธรรมเทศนา...โอย กราบขอประทานอภัยท่านอาจารย์มหาสุ พลั้งเผลอไปฮ่า...ฮ่า..เรื่องวัตรแลธรรมเนียมเรื่อง
ธุดงค์วัตร เพราะเราๆได้รู้ได้เห็นการปฏิบัติที่เลยล้ำเส้นความเป็นธุดงคฺออกไปสุดกู่อยู่เป็นประจำ  สิ่งที่ท่านอาจารย์มหาสุ
สาธยายมาเป็นเรื่องดีเรื่องจริง(เพราะคนเขียนรู้จริง) เพื่อให้ชาวเราที่ยังอยู่ในสภาพเต่าปูปลาได้รับทราบ  พนมมือแลกราบกรานขอบคุณท่านอาจารย์มหาสุในกุศลเจตนาเป็นที่ยิ่งขอรับกระผม.


บันทึกการเข้า