กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิก.

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
การค้นหาขั้นสูง  

ข่าว:

ผู้เขียน หัวข้อ: กรือโต๊ะ ดนตรีที่มีเกียรติของชาวไทยมุสลิม  (อ่าน 7107 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ลุงชัยนรา

  • ความเปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร์
  • ชาวบ้านกิตติมศักดิ์
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 3715
  • กระทู้: 910
  • Thank You
  • -Given: 3245
  • -Receive: 3715
  • ชีวิตนี้ยอมพลี เพื่อแผ่นดิน
.....ห่างหายจากเพื่อนร่วมบ้านเพลงไทย ไปหลายชั่วกาล..เวลา กลับมาขอนำการละเล่นโบราณของเพื่้อนร่วมชาติท้องถิ่นชาวปักษ์ใต้มาฝากกัน เพื่อให้เพื่อนๆได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตของคนที่นั่น..แม้จะแตกต่างแต่ไม่สร้างความแตกแยก...ขอเชิญ..ติดตามมาได้เลย..ครับ

                                                       

                                   

 
          กรือโต๊ะเป็นการละเล่นชนิดหนึ่งที่สนุกสนาน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างยิ่งในบริเวณตอนใต้สุดของประเทศไทย คือ แถบอำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโก-ลค จังหวัดนราธิวาส

 ประวัติความเป็นมา

                การเล่นกรือโต๊ะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณและเป็นที่รู้จักกันดีในท้องถิ่นแถบนี้ แต่เริ่มมีเล่นกันครั้งแรกเมื่อใด ใครเป็นคนคิดขึ้นนั้นไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัด มีแต่หลักฐานทางมุขปาฐะที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมทีนั้นเป็นการละเล่นของเด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควายชาวมุสลิม กล่าวคือเมื่อเขาเหล่านั้นต้อนฝูงวัวควายไปถึงที่มีหญ้าน้ำอุดมสมบูรณ์แล้ว ก็คิดหาการละเล่นขึ้นมาเพื่อแก้เหงา การละเล่นอย่างหนึ่งที่คิดได้ก็คือ เอาไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 ศอก มาผ่าออกเป็นซี่ๆ ขนาดกว้าง 3-4 นิ้ว เรียกว่า “เด๊าว์” หรือ “ใบ” แล้วนั่งงอเข่าเล็กน้อยตะแคงฝ่าเท้าหันเข้าหากัน เอาเด๊าว์วางพาดบนเท้าแล้วใช้เปลือกมะพร้าวตีเด๊าว์เพื่อประชันกันว่าของใครเสียงดังกว่ากัน และเรียกการเล่นแบบนี้ว่า “กรือโต๊ะ”

                การเล่นกรือโต๊ะโดยวิธีเอาเด๊าว์วางพาดบนเท้านี้ สร้างความไม่สะดวกให้แก่ผู้เล่น เพราะเมื่อตีแรงๆ ก็เจ็บเท้า ครั้นจะตีค่อยๆ เสียงก็ไม่ดัง จะนั่งตีนานก็เมื่อย ผู้เล่นจึงคิดค้นการเล่นกรือโต๊ะวิธีใหม่ และพบว่าการขุดหลุมลงบนพื้นดินแข็งๆ ลึกประมาณ 5-6 นิ้ว กว้าง 2-3 นิ้ว เอาไม้ทำหมอนวางบนปากหลุมสองข้าง วางเด๊าว์ลงบนหมอนแล้วตีประชันกันจะได้เสียงที่ดังดีกว่าเดิมมาก เท้าก็ไม่เจ็บ และนอกจากจะตีประชันขันแข่งเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังสามารถตีแรงๆ ให้เสียงดังเพื่อเป็นการส่งสัญญาณเรียกหากันก็ได้ด้วย การเล่นกรือโต๊ะโดยวิธีขุดหลุมลงบนพื้นดิน เป็นที่ชื่นชอบกันทั่วไปในหมู่เด็กเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่า การเลี้ยงวัวเลี้ยงควายนั้นต้องอพยพไปหาแหล่งที่มีหญ้ามีน้ำสมบูรณ์อยู่บ่อยๆ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเล่นของเขา เพราะพื้นที่เลี้ยงสัตว์บางแห่งหาบริเวณที่เหมาะกับการขุดหลุมเล่นกรือโต๊ะไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงได้คิดเอาผลมะพร้าวทั้งเปลือกใบโตๆ มาเฉือนหัวออกเล็กน้อย ให้ช่องปากมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้ว ขูดเนื้อมะพร้าวออกให้เกลี้ยง ก็จะได้หลุมปากแคบที่ใช้แทนหลุมบนพื้นดินได้อย่างดี และเป็นหลุมที่มีน้ำหนักเบา สามารถพกพาติดตัวไปได้ทุกหนทุกแห่ง

                การเล่นกรือโต๊ะหลุมผลมะพร้าวได้ใช้เล่นอยู่เป็นเวลานานและได้พัฒนาขึ้นโดยเมื่อเฉือนหัวมะพร้าวออกแล้ว ได้ใช้แผ่นไม้เนื้อแข็งหนาประมาณ 1.5 นิ้ว ยาว 1.6 ฟุต กว้าง 9 นิ้ว มาวางพาดบนปากหลุม เจาะรูกลางแผ่นไม้ให้ตรงกับหลุมผลมะพร้าวแต่เล็กกว่าหลุมผลมะพร้าวเล็กน้อย แล้วใช้ชันยาแผ่นไม้นี้กับผลมะพร้าวให้ติดกันแน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ บนปลายแผ่นไม้ทั้งสองข้างใช้กาบสาคูรองทำหมอน บนหมอนข้างซ้ายทำสลักที่แกะหรือกลึงอย่างสวยไว้ 2 อัน ให้ห่างกันประมาณ 6 นิ้ว พอให้วางเด๊าว์ลงระหว่างกลางได้หลวมๆ ตรงกลางหมอนอันขวามีสลักไม้กลมๆ ไว้อันหนึ่ง ใช้เด๊าว์ที่เจาะรูไว้แล้วสอดลงกับสลักอันนี้ เพื่อยึดเด๊าว์ไม่ให้เคลื่อนเวลาตี ต่อมาหมอนที่ทำด้วยกาบสาคูก็ได้เปลี่ยนมาใช้ยางรถจักรยานแทน เพราะคงทนและยืดหยุ่นดีกว่า สำหรับเด๊าว์ก็ได้วิวัฒนาการจากที่ทำด้วยไม้ไผ่มาเป็นไม้หลาวชะโอนหรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆ และไม้ตีก็เปลี่ยนจากเปลือกมะพร้าวมาใช้ไม้พันด้วยยางพารา เพื่อให้ยืดหยุ่นและได้เสียงนุ่มนวลดีขึ้น กรือโต๊ะหลุมผลมะพร้าวรุ่นนี้นับว่าเป็นกรือโต๊ะหลุมผลมะพร้าวที่พัฒนาถึงขีดสูงสุด เพราะนอกจากจะปฏิวัติแบบเดิมหมดแล้วยังมีการแต้มทาสีลงบนเปลือกมะพร้าวและบนแผ่นไม้ให้มีสีสันสวยงามอีกด้วย

                การเล่นกรือโต๊ะหลุมผลมะพร้าวนี้ถึงแม้จะแก้ปัญหาเรื่องหลุมได้ดี แต่ก็มีปัญหาอย่างอื่นตามมา เพราะเปลือกมะพร้าวนั้นผุได้ง่ายเมื่อถูกน้ำ ใช้ได้ไม่กี่หน้าฝนก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ผลมะพร้าวใบโตๆ ก็หาได้ไม่ง่ายนัก ครั้นจะใช้มะพร้าวผลเล็กๆ ก็ให้เสียงดังไม่ดี จึงหันมาใช้ไหดินเผาปากแคบแทน กรือโต๊ะที่ใช้หลุมไหดินเผาให้เสียงก้องกังวานดีกว่าหลุมผลมะพร้าว แต่ก็มีปัญหาว่าเมื่อเสียงดังกังวานดี ผู้เล่นสนุกสนานเต็มที่ ก็มักตีอย่างลืมตัวไม่ยั้งมือจะทำให้ไหแตก เมื่อไหแตกความสนุกสนานก็ลดลงในทันที ต้องทำกันใหม่อีก ต่อมาการเล่นกรือโต๊ะได้ขยายความนิยมมาสู่หมู่ผู้ใหญ่ วัสดุที่ใช้ทำหลุมจึงได้วิวัฒนาการมาเป็นหลุมที่ขุดขึ้นจากไม้เนื้อแข็ง ตลอดทั้งได้พัฒนาลีลาการตี มีวิธีการเล่นอย่างเป็นระบบ มีกติกาในการเล่น มีกรรมการผู้ตัดสินในการแข่งขันและมีรางวัลสำหรับผู้ชนะอย่างที่เล่นกันอยู่ในปัจจุบันนี้

                                                     

 โอกาสที่แสดง

                การเล่นกรือโต๊ะนิยมเล่นกันหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตกราวเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม และนิยมเล่นกันในคืนเดือนหงายเพราะไม่ร้อนและบรรยากาศชวนให้สนุกสนาน ส่วนจะกำหนดเล่นหรือประชันขันแข่งในวันใดก็แล้วแต่ตกลงกัน วันที่มี
การแข่งขันกรือโต๊ะถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของหมู่บ้านทีเดียว เพราะหมู่บ้านหนึ่งหรือตำบลหนึ่งจะมีกรือโต๊ะของหมู่บ้านของตำบลอยู่หนึ่งคณะ และถ้ากรือโต๊ะหมู่บ้านของตนชนะ ก็หมายถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติแห่งความเป็นผู้ชนะกันทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านโดยมาจึงต้องไปยังที่
นัดหมายเพื่อหนุ่มๆ จะได้ช่วยกันหามกรือโต๊ะ สาวๆ จะได้ช่วยกันให้กำลังใจ ดังนั้นในคืนเดือนหงายของวันแข่งขันกรือโต๊ะ ท้องทุ่งอันไพศาลที่หอมกรุ่นด้วยไอดินและกลิ่นซังข้าวใหม่ในแถบชนบทของอำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดีและอำเภอสุไหงโก-ลค จังหวัดนราธิวาสก็จะคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนหนุ่มสาวเฒ่าแก่ต่างหมู่บ้านกัน เพราะที่นั่นได้กลายเป็นสนามประชันกรือโต๊ะดนตรีที่มีเกียรติและเป็นการละเล่นที่ให้ความสนุกสนานแทนสนามแห่งความเหน็ดเหนื่อยตลอดฤดูกาลปักดำและเก็บเกี่ยว กรือโต๊ะนอกจากจะนิยมเล่นกันมากในฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ยังนิยมเล่นกันในงานที่มีเกียรติ เช่น งานฉลอง งานเทศกาลหรืองานในวันสำคัญอื่นๆ ได้แก่ งานพิธีเข้าสุหนัต (พิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย) งานมาแกปูโละ (งานมงคลสมรส) เป็นต้น

 เครื่องดนตรี

                ในหมู่บ้านหนึ่งๆ จะมีกรือโต๊ะในนามของหมู่บ้านหนึ่งคณะ นักเลงกรือโต๊ะประจำหมู่บ้าน โดยมากจะเป็นชายฉกรรจ์ที่มีร่างกายแข็งแรงอย่างน้อย 7 คน นักเลงกรือโต๊ะเหล่านี้จะช่วยกันหาไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่ง คือ ไม้ตาแป มาทำกรือโต๊ะประจำหมู่บ้านของตนขึ้น

                ในการทำกรือโต๊ะนี้ได้แสดงออกถึงความสามัคคี ความเสียสละเป็นอย่างดี ผู้ที่มีฝีมือมีความชำนาญก็จะช่วยกันขุดช่วยกันประดิษฐ์ให้เสียงดีสีสวย ผู้ที่มีไม้ก็เอาไม้มาให้ ถ้าไม่มีหรือมีไม่พอก็ช่วยกันขึ้นไปหามาจากภูเขา บางครั้งเมื่อไม้ทำกรือโต๊ะขาดแคลนลง ผู้ทำกรือโต๊ะก็จะเดินหาไม้ตาแปที่เป็นเครื่องเรือนจากบ้านเรือนในหมู่บ้าน เมื่อพบว่าบ้านใครมีไม้ตาแป ซึ่งอาจจะใช้เป็นคานหรือเสาเรือนอยู่ก็ดี เจ้าของบ้านก็ยินดีให้ถอดเปลี่ยนเอาไปทำกรือโต๊ะ เพราะเกียรติยศชื่อเสียงที่ได้มาจากการแข่งขันชนะนั้น มิใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่ถือว่าเป็นเกียรติกันทั้งหมู่บ้านทีเดียว จึงช่วยกันคนละไม้ละมือตามแต่จะสามารถช่วยได้ เมื่อก่อนนี้กรือโต๊ะคณะหนึ่งๆ มีกรือโต๊ะถึง 25 ใบ แต่ปัจจุบันไม้ตาแปหายากเข้า จึงได้จำกัดจำนวนลงเพียงคณะละ 7 ใบ แต่ละใบจะมีส่วนประกอบ 3 ส่วนคือ ตัวกรือโต๊ะ,  เด๊าว์หรือใบหรือลิ้นเสียง, ไม้ตี

                ตัวกรือโต๊ะทำจากไม้ตาแปที่แห้งสนิทดีแล้วทั้งท่อน เอามาตัดให้ได้ขนาดแล้วใช้สิ่วขุดให้เป็นหลุม ลักษณะของหลุมมีหลายแบบแล้วแต่ผู้ชำนาญของแต่ละหมู่บ้านชอบ ที่นิยมขุดกันก็คือหลุมปากแคบ ป่องตรงกลาง มีการทาสี สีที่นิยมทาได้แก่ สีฟ้า สีขาว สีเหลือง และแชลแล็ก ทั้งอาจเขียนชื่อคณะไว้ที่ข้างตัวกรือโต๊ะด้วย ตัวกรือโต๊ะที่ทำกันมี 3 ขนาด คือ

                รุ่นเล็ก ปากหลุมกว้างและมีส่วนลึกไม่เกิน 20 นิ้ว

                รุ่นกลาง ปากหลุมกว้างและมีส่วนลึกไม่เกิน 24 นิ้ว

                รุ่นใหญ่ ปากหลุมกว้างและมีส่วนลึกไม่เกิน 30 นิ้ว

                เด๊าว์ จะทำจากไม้ตาแปที่แห้งสนิทเช่นเดียวกับตัวกรือโต๊ะ กรือโต๊ะใบหนึ่งๆ มีเด๊าว์ 3 อัน คือทำเป็นเสียงต่ำอันหนึ่ง เสียงกลางอันหนึ่ง อีกอันหนึ่งเป็นเสียงสูง ขนาดของเด๊าว์กว้างประมาณ 6-8 นิ้ว ยาวประมาณ 2-3 ฟุต ความยาวความกว้างของเด๊าว์หาแน่นอนได้ไม่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชำนาญจะปรับตกแต่งเพื่อให้ได้เสียงที่ดีตามต้องการ

                ไม้ตี ทำด้วยไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง เหลากลมขนาดถือได้เหมาะมือ ด้านที่ใช้ตีจะพันด้วยยางพารา

เมื่อทำกรือโต๊ะทั้งชุดเสร็จแล้ว ผู้ชำนาญและนักเลงกรือโต๊ะจะตีทดลองเสียง ถ้าเสียงยังไม่ได้มาตรฐานที่ต้องการก็จะตกแต่งหลุมใหม่ ถ้าหลุมตื้นไปก็จะขุดลงไปอีก ถ้าลึกหรือกว้างมากไปก็จะใช้ชันหรือปูนพลาสเตอร์ละเลงให้หลุมตื้นขึ้นมาตามต้องการ นอกจากนี้ก็ปรับแต่งเด๊าว์เสียใหม่ด้วย แล้วตีทดลองเสียงซ้อมมือกันต่อไป ในเวลาค่ำคืนเสียงของกรือโต๊ะจะดังก้องไปไกลถึง 15-20 กิโลเมตร

 วิธีบรรเลงและขนบนิยมในการแสดง

                ในการแข่งขันนั้น บางครั้งจะมีกรือโต๊ะมาแข่งขันถึง 30 คณะ เมื่อทุกคณะมาพร้อมกันแล้ว ซึ่งโดยมากเป็นเวลาตอนบ่าย ก็จะมีการแบ่งรุ่นแบ่งสายผู้ทำหน้าที่แบ่งรุ่นแบ่งสายก็คือกรรมการซึ่งเป็นนักเลงกรือโต๊ะอาวุโส และเพื่อความยุติธรรมในการตัดสินชี้ขาดจะใช้กรรมการอย่างน้อย 3 คน เมื่อกรรมการแบ่งกรือโต๊ะออกเป็นรุ่นเล็ก รุ่นกลาง และรุ่นใหญ่แล้ว ถ้าในแต่ละรุ่นมีหลายคณะก็จะจัดแบ่งสาย แข่งขันในสายเดียวกันก่อน ซึ่งอาจจะแข่งแบบแพ้คัดออกหรือแบบพบกันหมดก็แล้วแต่ตกลงกัน เมื่อแบ่งรุ่นแบ่งสายชี้แจงกติกากันเสร็จก็เป็นเวลาค่ำพอดี หลังจากคณะต่างๆ รับประทานอาหารมื้อเย็นเรียบร้อยก็เริ่มจัดกรือโต๊ะเข้าที่เพื่อแข่งขันต่อไป

                กรือโต๊ะคณะหนึ่งๆ จะมีผู้เล่นอย่างน้อย 7 คน คือมีหัวหน้าคณะคนหนึ่งซึ่งเป็นคนตีกรือโต๊ะใบเอก จะเป็นผู้ตีบอกสัญญาณการเริ่มต้นหรือหยุด มีมือ 2 และมือ 3 จำนวน 2 คนจะเป็นผู้ตีเป็นสัญญาณจังหวะเร็ว รัว หรือช้า อีก 4 คนจะเป็นผู้ตีให้เข้ากับจังหวัด เมื่อรับทราบสัญญาณกันแล้วทั้ง 7 คนก็กระหน่ำตีกรือโต๊ะของตนพร้อมกัน กรือโต๊ะทั้ง 7 ใบนั้น เมื่อเวลาแข่งขันจะจัดให้เป็นรูปแบบตายตัวดังนี้คือ จัดเป็น 2 แถว แถวที่ 1 มี 4 ใบ ให้หัวหน้าคณะกับมือ 2 อยู่กลาง แถวที่ 2 มี 3 ใบ ให้มือ 3 อยู่ทางซ้ายมือสุด วางกรือโต๊ะแต่ละใบแต่ละแถวให้ห่างกันพอสมควร พอให้ยืนตีและเปลี่ยนเด๊าว์ได้สะดวกไม่เกะกะกัน อีกคณะหนึ่งที่ประชันด้วยก็วางอยู่ใกล้ๆ กัน ส่วนกรรมการทั้ง 3 คน จะไปนั่งคอยฟังเสียงอยู่ห่างๆ ประมาณ 30-50 เมตร เมื่อเริ่มการแข่งขัน กรรมการจะให้คณะหนึ่งคณะใดตีก่อน 3 พัก หรือเรียกว่า 3 เพลง ใช้เวลาเพลงละประมาณ 1-2 นาที เสร็จแล้วให้อีกคณะหนึ่งตี 3 เพลง หยุดพักครู่หนึ่งแล้วให้สัญญาณตีใหม่อีกคณะละ 3 เพลง เสร็จแล้วกรรมการจึงตัดสิน และให้คณะที่แพ้เปลี่ยนเด๊าว์อันใหม่ ส่วนคณะที่ชนะไม่ต้องเปลี่ยน กรรมการจะให้สัญญาณตีสลับกันแบบหนแรก คณะใดแพ้ก็ให้เปลี่ยนเด๊าว์ใหม่อีก คณะใดที่เปลี่ยนเด๊าว์หมดแล้วทั้ง 3 อัน แต่เสียงยังสู้เขาไม่ได้ กรรมการจะตัดสินให้เป็นผู้แพ้ การตัดสินของกรรมการจะตัดสินโดยการฟังเสียงว่าคณะใดเสียงดังนุ่มนวลกว่า กลมกลืนกว่า มีความพร้อมเพรียงกว่า คณะนั้นก็ชนะ ดังนั้นก่อนที่จะมีการแข่งขัน นักเลงกรือโต๊ะจะซ้อมกันมาก่อนเป็นเวลาหลายวัน การเล่นกรือโต๊ะนิยมเล่นกันเฉพาะผู้ชาย แต่ก็ไม่ได้ห้ามสำหรับผู้หญิง แต่ผู้หญิงไม่นิยม เพราะเป็นการละเล่นที่ต้องใช้พละกำลังมากเกินกว่าที่ผู้หญิงจะเล่นได้

                                                         

 ความเชื่อและวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

                ในการประดิษฐ์และการเล่นกรือโต๊ะ มีความเชื่อเกี่ยวข้องอยู่หลายประการ ความเชื่อเหล่านี้บางอย่างเห็นจะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมข้างฝ่ายพราหมณ์ที่เชื่อถือในพระเจ้าหลายองค์และเชื่อว่าในสรรพสิ่งทั้งหลายมีพระเจ้าสถิตอยู่ ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับกรือโต๊ะ ได้แก่

                1. ไม้ตาแปที่เอามาทำกรือโต๊ะ ถ้าได้ไม้ตาแปที่ถูกฟ้าผ่ายืนตายอยู่ เชื่อว่าจะให้เสียงดังดุจฟ้าผ่านั้น

                2. มีไม้เนื้อขาวอยู่ชนิดหนึ่ง เชื่อว่า พญาไม้สถิตอยู่และถ้ากรือโต๊ะของตนมีไม้ชนิดนี้ประกอบอยู่ด้วย ก็จะเป็นมงคล เวลาแข่งขันมักจะชนะเสมอ ดังนั้นผู้ทำกรือโต๊ะก็พยายามหาไม้ชนิดนี้มาเป็นส่วนประกอบด้วย ซึ่งอาจเอามาทำสลักหรือฝังไว้ในหลุม ถ้ามีมากก็ฝังเอาไว้ทุกใบ มีน้อยก็ฝังเอาไว้เฉพาะใบเอกที่หัวหน้าคณะเป็นผู้ตีเพียงใบเดียว นอกจากนี้บางคณะยังมีการเซ่นสรวงบูชาพญาไม้ โดยมีข้าวเหนียวเหลืองกับไข่ไก่ดิบเป็นเครื่องสังเวย มีการเสกคาถาเชิญพญาไม้มาประจำอยู่ในกรือโต๊ะคณะของตน เสร็จแล้วเอาข้าวเหนียวเหลืองบี้ไว้ที่ก้นหลุมกรือโต๊ะทุกใบ เชื่อว่าเป็นมงคล

                3. ห้ามทั้งผู้หญิงและผู้ชายข้ามหรือนั่งบนกรือโต๊ะ เชื่อว่าเป็นการไม่เคารพต่อพญาไม้ที่เชิญมาให้ประจำอยู่พญาไม้จะพิโรธลงโทษผู้นั้นให้เจ็บป่วยได้

 ความคลี่คลายเปลี่ยนแปลง

                นับตั้งแต่กรือโต๊ะได้เปลี่ยนแปลงจากการใช้หลุมไหดินเผามาใช้หลุมไม้ตาแปแล้ว รูปร่างลักษณะของกรือโต๊ะก็ยังคงรูปแบบเดิมอยู่ วิธีการเล่นก็ยังเป็นแบบเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ได้แก่

                1. การใช้สีตกแต่งตัวกรือโต๊ะ นอกจากจะใช้สีขาว สีฟ้า สีเหลือง และสีเขียวทาเป็นพื้นตามความนิยมแบบเดิมแล้ว บางคณะยังใช้สีเหล่านี้มาเขียนเป็นลวดลายต่างๆ ลงบนตัวกรือโต๊ะ เช่น ลายตาหมากรุก หรือวาดเป็นรูปอย่างอื่นและยังมีใช้สีแดงเพิ่มขึ้นจากความนิยมแต่ก่อนอีกสีหนึ่งด้วย

                2. การให้รางวัล การเล่นการแข่งขันกรือโต๊ะในสมัยก่อนไม่ปรากฏว่ามีรางวัลให้แก่ผู้ชนะหรือไม่ แต่พอสืบสาวได้พบว่า รางวัลครั้งแรกที่มอบให้แก่ผู้ชนะคือแพะ 1 ตัว และไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนคิดรางวัลชนิดนี้ขึ้น ซึ่งได้สืบต่อมาเป็นธรรมเนียมนิยมจนถึงปัจจุบันในทุกวันนี้นอกจากจะนิยมการให้รางวัลเป็นแพะแล้ว ยังนิยมเป็นถ้วยรางวัลของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีชื่อเสียงและกำลังคลี่คลายไปนิยมรางวัลเป็นเงินกันบ้างแล้ว

                3. จำนวนของกรือโต๊ะในหนึ่งคณะ สมัยก่อนกำหนดให้มีกรือโต๊ะ 25 ใบต่อหนึ่งคณะ แต่ปัจจุบันสภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ไม้ที่จะเอามาทำกรือโต๊ะหาได้ยาก จึงจำกัดจำนวนเพียง 7 ใบต่อหนึ่งคณะ

                                                     

                หากท่านมีโอกาสแวะไปทางอำเภอแว้ง อำเภอสุไหงโก-ลค และอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ในประมาณเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม หลังฤดูเก็บเกี่ยวของบริเวณนั้นแล้ว ในยามค่ำคืนเดือนหงายท่านอาจได้ยินเสียงกระหึ่มเหมือนรัวปืนใหญ่ มาจากที่ไกลๆ นั่นแหละชาวบ้านกำลังแข่งขันกรือโต๊ะกันแล้ว และท่านอาจได้ชมการแข่งขันดนตรีที่มีเกียรติชนิดนี้ท่ามกลางแสงจันทร์หากไม่มีอันตรายอื่นๆ จากสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กีดขวางการเดินทางไปยังท้องทุ่งแห่งนั้น.

ขอบคุณข้อมูลบางตอนจาก อ.อ้อมใจ วงษ์มณฑา  นักวิชาการอุมศึกษา
สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
ขอบคุณ อ.ชาติ...ผู้ฝึกสอนการวางภาพ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 07, 2013, 09:05:37 AM โดย ลุงชัยนรา »
บันทึกการเข้า

** กระทู้แรกที่ควรอ่านเมื่ออยู่บ้านเพลงไทย **

ชญาดา

  • กรรมการบ้านเพลงไทย
  • คะแนนอนุรักษ์เพลง 3031
  • กระทู้: 959
  • Thank You
  • -Given: 2112
  • -Receive: 3031
Re: กรือโต๊ะ ดนตรีที่มีเกียรติของชาวไทยมุสลิม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2013, 10:28:25 AM »
ไม่เคยเห็นเครื่องดนตรีแบบนี้มาก่อนค่ะ  นับว่า เป็นดนตรีที่หาชมยาก ในท้องถิ่นแต่ละแห่งอนุรักษ์ เครื่องดนตรีไว้ คนรุ่่นหลังจะได้ทราบ และมีโอกาสได้ชม ได้ฟังต่อไปค่ะ


บันทึกการเข้า