ปรารถนา
คำไทยเขียนอิงสันสกฤต อ่านว่า ปฺราด-ถะ-หฺนา
บาลีเป็น “ปตฺถนา” อ่านว่า ปัด-ถะ-นา
รากเดิมมาจาก ปตฺถ (ธาตุ = ต้องการ, ขอ) + ยุ (ปัจจัย แปลงเป็น อน [อะ-นะ]) : ปตฺถ + อน = ปตฺถน + “อา” (เครื่องหมายอิตถีลิงค์) = ปตฺถนา
“ปตฺถนา” แปลว่า การตั้งเป้าหมาย, ความอยากได้, การขอร้อง, ปณิธาน, การสวดอ้อนวอน
ความหมายเด่นของ “ปตฺถนา” คือ การตั้งเป้าหมายที่จะมี จะเป็น จะได้ ซึ่งมักเกิดจากแรงบันดาลใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นักเรียนเห็นครูที่มาสอนจบปริญญาเอก ก็ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเรียนให้จบปริญญาเอกเหมือนครูให้จงได้ อย่างนี้คือ “ปตฺถนา - ปรารถนา” = ตั้งความปรารถนา
“ปรารถนา” ในภาษาไทยมักเขียนผิดเป็น “ปราถนา” (ตกเรือหน้าถุง)
วิธีจำแบบง่ายๆ คือจำว่า ปรา - รถ - นา
นอกจากเขียนผิดแล้ว “ปรารถนา” ยังมักถูกอ่านพลาดเป็น “ปรารภ” (ปรา-รบ = กล่าวถึง; ตั้งต้น; ดําริ) เพราะเห็น ถ ถุง เป็น ภ สำเภา ครั้นเห็น “นา” อยู่ท้ายก็เลยอ่านแก้ใหม่เป็น ปฺราด-ถะ-หฺนา จึงเกิดเป็นคำว่า “ปรารภปรารถนา” ที่ทำท่าจะนิยมใช้กันหนาหูหนาตาขึ้น
ปรารถนาสารพัดในปัฐพี
เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง
: สุนทรภู่
เขียนโดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย