สมมต - สมมติ - สมมุติ
คำที่เป็นหลักใน 3 คำนี้ คือ สม + มต
“สม” บาลีเป็น สํ (สัง) แปลงนิคหิต (เครื่องหมายกลมๆ บน ส) เป็น มฺ = สมฺ อ่านว่า สำ
“มต” (มะ-ตะ, เป็นคำกริยา) แปลว่า “รู้แล้ว”
ลง ติ ปัจจัย เป็น “มติ” (เป็นคำนาม) แปลว่า ความรู้, ญาณ, ปัญญา, ความคิด
แปลง อ (ที่ ม) เป็น อุ เป็น “มุติ” (เป็นคำนาม) แปลว่า ญาณ, ปัญญา, ความรู้, ความเข้าใจ, สติปัญญา, การกำหนดรู้โดยทางประสาท, ประสบการณ์
มต, มติ, มุติ เติม “สมฺ” เข้าข้างหน้า ได้รูปเป็น สมฺมต, สมฺมติ, สมฺมุติ เขียนแบบไทยเป็น สมมต, สมมติ, สมมุติ (ลบจุดใต้ ม ตัวแรก)
สมมต, สมมติ อ่านแบบไทยว่า สม-มด
สมมุติ อ่านแบบไทยว่า สม-มุด
ทั้งสามคำนั้นแปลตามศัพท์ว่า “รู้พร้อมกัน” “รับรู้ร่วมกัน” “ยอมรับร่วมกัน”
ภาษาไทย ใช้ในความหมายที่แตกต่างออกไป พจน.42 บอกไว้ดังนี้
- “รู้สึกนึกเอาว่า” เช่น สมมติให้ตุ๊กตาเป็นน้อง
- “ต่างว่า, ถือเอาว่า” เช่น สมมุติว่าได้มรดกสิบล้าน จะบริจาคช่วยคนยากจน สมมุติว่าถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ 1 จะไปเที่ยวรอบโลก
- “ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง” เช่น สมมติเทพ
คำตามความหมายเหล่านี้ เราออกเสียงเป็น สม-มุด กันโดยทั่วไป
: สมมุติไม่ใช่เรื่องจริง แต่เมื่อสมมุติให้เป็นอะไร จงทำหน้าที่นั้นให้จริง