อาสน์สงฆ์
(บาลีแบบไทย)
อ่านว่า อาด-สง
“อาสน์สงฆ์” คือ อาสน์ + สงฆ์
“อาสน์” เขียนแบบไทย บาลีเป็น “อาสน” อ่านว่า อา-สะ-นะ แปลว่า การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, ตั่ง, บัลลังก์
“สงฆ์” บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) มีความหมายว่า ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง, คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร, กลุ่มใหญ่, ประชาคม; ในทางพระวินัย หมายถึงภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป
ในคำว่า “อาสน์สงฆ์” นี้ “สงฆ์” หมายถึงพระภิกษุสามเณร
“อาสน์” รวมกับ “สงฆ์” แบบไทย เป็น “อาสน์สงฆ์” แปลว่า “ที่นั่งของพระสงฆ์” พจน.42 บอกความหมายเฉพาะว่า “ที่ยกพื้นสําหรับพระสงฆ์นั่ง”
คำว่า “อาสน์สงฆ์” มีข้อควรสังเกตบางประการทางภาษาและวัฒนธรรม คือ
1 คำนี้ น์ การันต์ เพราะเป็นการประสมคำแบบไทย ถ้าไม่การันต์ เขียนเป็น “อาสนสงฆ์” (อ่านว่า อา-สะ-นะ-สง) จะเสียวัฒนธรรมทางภาษา เพราะ “ที่นั่งของพระสงฆ์” คำเก่าพูดว่า “อาด-สง” ไม่ใช่ อา-สะ-นะ-สง
2 อาสน์สงฆ์มักสร้างเป็นยกพื้นถาวรในศาลาการเปรียญ หรือศาลาบำเพ็ญกุศล เพราะเป็นธรรมเนียมที่พระสงฆ์เมื่ออยู่ในพิธีจะนั่งพับเพียบกับพื้น ในกรณีที่มีพิธีนอกศาลา จะต้องทำยกพื้นชั่วคราวเป็นอาสน์สงฆ์ (ไม่นั่งเก้าอี้)
3 ตามวัฒนธรรมไทย เราเคารพสงฆ์อย่างยิ่ง แม้แต่ที่นั่งของสงฆ์ ฆราวาสโดยเฉพาะสตรีเพศ จะไม่อาจเอื้อมขึ้นไปนั่งเด็ดขาด
: จะเปลี่ยนแปลงอะไร อย่าลืมเกรงใจวัฒนธรรม