สงกรานต์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงกรานต์ (อังกฤษ: Water Festival ถอดเป็นอักษรละติน: Songkran; เขมร: សង្រ្កាន្ត; พม่า: သင်္ကြန်; ลาว: ສົງການ; จีน: 泼水节) เป็นประเพณีของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย[1] สันนิษฐานว่า สงกรานต์ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลี (होली) ในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทน เริ่มในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 4 คือ ในเดือนมีนาคม[2]
สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึง "การเคลื่อนย้าย" ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สงกรานต์สืบทอดมาแต่โบราณคู่กับตรุษ จึงเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เดิมวันที่จัดเทศกาลกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันระบุแน่นอนว่า 13 ถึง 15 เมษายน วันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นจุดเริ่มต้นของปีปฏิทินในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2431 หลังจากนั้นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ. 2483
พิธีสงกรานต์เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ สังคมไทยสมัยใหม่เกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival หรือ สงครามน้ำ[3] ซึ่งตัดส่วนที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมไป
การคำนวณ[แก้]
ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"
การคำนวณวันเถลิงศกนั้น ตามคัมภีร์สุริยยาตร์[4] จะต้องมีการหาหรคุณเถลิงศก และค่าอื่น ๆ สำหรับคำนวณตำแหน่งดาวในปีนั้น ๆ เรียกว่าอัตตาเถลิงศก ทุก ๆ ปี ค่าหรคุณเถลิงศกที่คำนวณได้จะเป็นตัวเลขนับ 1 ที่วันเถลิงศก จ.ศ. 0 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1181 ตามปฏิทินเกรกอเรียน มาจนถึงปีที่ต้องการ สำหรับกระบวนการหาหรคุณเถลิงศก มีดังต่อไปนี้
ตั้งเกณฑ์ 292207 ลง เอาจุลศักราชปีนั้นคูณ ได้เท่าใด เอา 373 บวก แล้วเอา 800 หาร ลัพธ์ (ส่วนที่เป็นคำตอบจำนวนเต็ม) เอา 1 บวก เป็นหรคุณเถลิงศก
เอา 800 ตั้ง เอาเศษจากข้อก่อนมาลบ ได้ กัมมัชพลเถลิงศก
จากขั้นตอนข้างต้น อธิบายได้ว่า ในหนึ่งปีสุริยคติมีเวลาทั้งหมดคิดเป็น 292207 กัมมัช (กัมมัชคือหน่วยย่อยของเวลาในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยที่ 1 กัมมัช = 108 วินาที และ 800 กัมมัช = 1 วัน) ดังนั้นเวลาเป็นกัมมัชนับจากจุดเถลิงศก จ.ศ. 0 มาหาจุดเถลิงศกปีที่ต้องการ ก็หาได้โดยเอา 292207 คูณกับจุลศักราชที่ต้องการทราบ แต่เนื่องจากวันเถลิงศก จ.ศ. 0 เวลาเถลิงศกตรงกับ 11:11:24 นาฬิกา หรือคิดเป็น 373 กัมมัช นับแต่เวลา 0 นาฬิกา จึงเอา 373 บวกเข้ากับผลคูณที่หาไว้แล้ว ผลทั้งหมดที่ได้นี้มีหน่วยเป็นกัมมัช เมื่อจะแปลงเป็นวัน ก็เอา 800 หาร
จากผลที่ได้ ถ้าหารแบบสมัยใหม่โดยติดทศนิยม จะได้ว่าส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม นับ 0 ที่วันแรกของ จ.ศ. 0 ส่วนที่เป็นทศนิยม เป็นเศษส่วนของวันนับจาก 0 นาฬิกาของวันเถลิงศกไปหาเวลาเถลิงศก แต่ในสมัยโบราณการคำนวณด้วยทศนิยมเป็นการยากลำบาก ดังนั้น ถ้าหารแบบติดเศษ แล้วเอาส่วนที่เป็นจำนวนเต็มบวก 1 ก็จะได้หรคุณเถลิงศก ส่วนที่เป็นเศษนั้นบอกถึงเวลานับแต่ 0 นาฬิกาไปหาเวลาเถลิงศกในหน่วยกัมมัช หากเอาไปหักลบออกจาก 800 ก็จะได้กัมมัชพลเถลิงศก หรือเวลาเป็นกัมมัชที่เหลือจนสิ้นวันเถลิงศก
เนื่องจากวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1181 เวลา 00:00 น. มีหรคุณจูเลียนเป็น 1954167.5 เพื่อความง่ายจึงสามารถหาหรคุณจูเลียน (Julian day number) ของวันเถลิงศกได้ตามสูตร
JD วันเถลิงศก = [(292207* (พ.ศ.-1181) + 373)/800] + 1954167.5
สำหรับวันมหาสงกรานต์ สามารถประมาณได้จากหรคุณเถลิงศก โดยให้ถอยหรคุณเถลิงศกไป 2 วัน 3 ชั่วโมง 57 นาที 36 วินาที (2.165 วัน หรือ 1732 กัมมัช) หรืออาจจะคำนวณตำแหน่งที่สังเกตได้จริง (สมผุส) ของดวงอาทิตย์ว่าย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ณ วันเวลาใด ทำให้ได้สูตรหาหรคุณจูเลียนของวันมหาสงกรานต์ (โดยประมาณ) เป็น
JD วันมหาสงกรานต์ = [(292207* (พ.ศ.-1181) - 1359)/800] + 1954167.5
ตารางต่อไปนี้เป็นวันมหาสงกรานต์และวันเถลิงศกของปีนี้ ปีก่อนหน้าห้าปี และปีถัดไปอีกห้าปี สังเกตว่าบางปีจะมีเทศกาลสงกรานต์ตามที่คำนวณได้อยู่ทั้งหมดสี่วัน
ตารางวันมหาสงกรานต์[แก้]
ตารางแสดงวันมหาสงกรานต์และนางสงกรานต์ในแต่ละปี
พ.ศ. จ.ศ. วัน ที่ เดือน เวลา นามนางสงกรานต์ ท่านางสงกรานต์
นาฬิกา นาที วินาที
2552 1371 อังคาร 14 เมษายน 01 08 24 โคราคเทวี เสด็จไสยาสน์หลับเนตร
2553 1372 พุธ 14 เมษายน 07 21 00 มณฑาเทวี เสด็จยืน
2554 1373 พฤหัสบดี 14 เมษายน 13 33 36 กิริณีเทวี เสด็จนั่ง
2555 1374 ศุกร์ 13 เมษายน 19 46 12 กิมิทาเทวี เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร
2556 1375 อาทิตย์ 14 เมษายน 01 58 48 มโหธรเทวี เสด็จไสยาสน์หลับเนตร
2557 1376 จันทร์ 14 เมษายน 08 11 24 โคราคเทวี เสด็จยืน
2558 1377 อังคาร 14 เมษายน 14 24 00 รากษสเทวี เสด็จนั่ง
2559 1378 พุธ 13 เมษายน 20 36 36 มณฑาเทวี เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร
2560 1379 ศุกร์ 14 เมษายน 02 49 12 กิริณีเทวี เสด็จไสยาสน์หลับเนตร
2561 1380 เสาร์ 14 เมษายน 09 01 48 มโหธรเทวี เสด็จยืน
2562 1381 อาทิตย์ 14 เมษายน 15 14 24 ทุงษเทวี เสด็จนั่ง
ตารางวันเถลิงศก[แก้]
ตารางแสดงวันเถลิงศกในแต่ละปี[5]
พ.ศ. จ.ศ. วัน ที่ เดือน เวลา
นาฬิกา นาที วินาที
2552 1371 พฤหัสบดี 16 เมษายน 05 06 00
2553 1372 ศุกร์ 16 เมษายน 11 18 36
2554 1373 เสาร์ 16 เมษายน 17 31 12
2555 1374 อาทิตย์ 15 เมษายน 23 43 48
2556 1375 อังคาร 16 เมษายน 05 56 24
2557 1376 พุธ 16 เมษายน 12 09 00
2558 1377 พฤหัสบดี 16 เมษายน 18 21 36
2559 1378 เสาร์ 16 เมษายน 00 34 12
2560 1379 อาทิตย์ 16 เมษายน 06 46 48
2561 1380 จันทร์ 16 เมษายน 12 59 24
2562 1381 อังคาร 16 เมษายน 19 12 00
อนึ่ง วันในสัปดาห์ที่แสดงในตาราง จะยึดการเปลี่ยนวันแบบสุริยคติเป็นหลัก คือเปลี่ยนวันที่เวลา 0 นาฬิกา เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ แต่การกำหนดว่านางสงกรานต์องค์ใดจะเสด็จ (ดูรายละเอียดที่หัวข้อ ตำนานนางสงกรานต์) ต้องยึดการเปลี่ยนวันตามแบบจันทรคติ คือเปลี่ยนที่เวลารุ่งสาง (6 นาฬิกา) เสมอ
ตัวอย่างเช่น ปี พ.ศ. 2556 วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันที่ 14 เมษายน เวลา 01:58:48 น. ตามสุริยคติถือว่าเข้าวันใหม่คือวันอาทิตย์แล้ว แต่เนื่องจากยังไม่ถึงรุ่งสาง ทางจันทรคติจึงถือว่ายังเป็นวันเสาร์อยู่ เพราะฉะนั้น นางสงกรานต์จึงเป็นนางมโหธรเทวี ไม่ใช่นางทุงษะเทวีแต่อย่างใด
ตำนานนางสงกรานต์[แก้]
ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม[6] กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน
ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้
ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ
จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้
สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า
วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
วันพฤหัส ชื่อ นางกัญญาเทพ
วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี
อนึ่งท่าทางของนางสงกรานต์จะกำหนดตามเวลาที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ หรือเวลามหาสงกรานต์ตามที่คำนวณได้ ซึ่งเกณฑ์ในการกำหนดท่าทางของนางสงกรานต์เป็นดังนี้[7]
ถ้าเวลามหาสงกรานต์เป็นเวลารุ่งสางถึงเที่ยง (6:00 น. - 11:59 น.) นางสงกรานต์ยืนมา
ถ้าเป็นเวลาเที่ยงถึงเย็น (12:00 น. - 17:59 น.) นางสงกรานต์นั่งมา
ถ้าเป็นเวลาค่ำถึงเที่ยงคืน (18:00 น. - 23:59 น.) นางสงกรานต์นอนลืมตามา
ถ้าเป็นเวลาเที่ยงคืนถึงเช้ามืด (00:00 น. - 05:59 น.) นางสงกรานต์นอนหลับตามา
ข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวนี้จะมีระบุในประกาศสงกรานต์เสมอ
กิจกรรมในวันสงกรานต์[แก้]
การทำบุญตักบาตร ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
การสรงน้ำพระ
การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
การสรงน้ำพระจะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย
บังสุกุลอัฐิ กระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว มักก่อเป็นเจดีย์ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุล
การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
การดำหัว จุดประสงค์คล้ายกับการรดน้ำทางภาคกลาง พบเห็นได้ทางภาคเหนือ การดำหัวทำเพื่อแสดงเราเคารพนับถือต่อพระ, ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีอาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อยเทียนและดอกไม้
การปล่อยนกปล่อยปลา ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่
การนำทรายเข้าวัด ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ก็มีบางที่ เชื่อว่าตลอดปี การนำทรายที่ติดเท้าออกวัด เป็นบาป จึงขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เป็นบาป
สงกรานต์ในแต่ละท้องที่[แก้]
สงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดในสายตาชาวโลกคือสงกรานต์ในประเทศไทย จึงทำให้เทศกาลสงกรานต์ของไทยติดอันดับเทศกาลที่มีสีสันที่สุด 1 ใน 5 ของเอเชีย[8]
ส่วนในต่างประเทศ ชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา โดยเฉพาะเมืองจิ่งหง หรือเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสาดน้ำสงกรานต์ ในวันที่ 13-15 เมษายน[9] เรียกว่างานเทศกาลพัวสุ่ยเจี๋ย[10]
รูปแบบทั่วไป[แก้]
สงกรานต์ภาคเหนือ (สงกรานต์ล้านนา) หรือ "ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง" อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ "วันสังขารล่อง" (13 เม.ย.) ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล "วันเนา" หรือ "วันเน่า" (14 เม.ย.) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี "วันพญาวัน" หรือ "วันเถลิงศก" (15 เม.ย.) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย "วันปากปี" (16 เม.ย.) ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆเพื่อขอขมาคารวะ "วันปากเดือน" (17 เม.ย.) เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆ ออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา และ "วันปากวัน" (18 เม.ย.)
สงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ"ตรุษสงกรานต์" บางพื้นที่จะเรียกว่า “เนา” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน
สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เม.ย.) เป็น "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน "วันว่าง" (14 เม.ย.) ชาวนครจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น "วันรับเจ้าเมืองใหม่" (15 เม.ย.) จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์
สงกรานต์ภาคกลาง เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันกลาง" หรือ "วันเนา" และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันวันเถลิงศก ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย
รูปแบบเฉพาะ[แก้]
สงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดิน หรือ สงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ไทย-ลาว ณ อำเภอเมืองและอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ในงานจะมีการฮดสรง หรือสรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 แห่ง
สงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ หรือ ประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ ณ เกาะสีชัง และเกาะขามใหญ่ จังหวัดชลบุรี
สงกรานต์นางดาน หรือ เทศกาลมหาสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช จัดขึ้น ณ สวนศรีธรรมาโศกราช สนามหน้าเมือง หอพระอิศวร
สงกรานต์ปาร์ตี้โฟม มีพื้นที่ปาร์ตี้โฟมที่ปิดล้อมด้วยพลาสติกใส
สงกรานต์ล่องเรือสาดน้ำ เป็นการนั่งเรือหางยาวสาดน้ำสงกรานต์กับชุมชนริมสองฟากฝั่งคลอง
หาดใหญ่ มิดไนท์ สงกรานต์ ณ ถนนเสน่หานุสรณ์ และถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในช่วงเย็นถึงกลางคืน โดยเทศกาลนี้ได้เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547
การเล่นคลื่นมนุษย์ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ในช่วงท้ายของกิจกรรมถนนข้าวเหนียว ประชาชนและนักท่องเที่ยวจะพร้อมใจกันทำคลื่นมนุษย์ที่ยาวที่สุดพร้อมกันอย่างสวยงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสงกรานต์ ถนนข้าวเหนียว เป็นแห่งเดียวในไทยที่มีกิจกรรมเช่นนี้ จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552
คำขวัญวันสงกรานต์[แก้]
พ.ศ. 2552 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้คำขวัญว่า "สงกรานต์สมานสามัคคี สืบทอดประเพณี ทุกชีวีปลอดภัย"[11]
พ.ศ. 2553 มีการประกวดคำขวัญโดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีคำขวัญว่า "สงกรานต์สร้างสรรค์ ยึดมั่นประเพณี ปลอดภัยทุกชีวี สามัคคีทั่วไทย" พรเทพ ประดิษฐ์ชัยกุล ชนะการประกวดคำขวัญประจำปีนี้[11]
พ.ศ. 2555 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้คำขวัญว่า "รณรงค์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์"[12]
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่น ๆ เกี่ยวกับ:
Songkran
สถิติอุบัติเหตุวันสงกรานต์[แก้]
ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์
เทศกาลสงกรานต์ อุบัติเหตุ (ครั้ง) ผู้ประสบอุบัติเหตุ (คน)
เสียชีวิต บาดเจ็บ รวม
ปี 2550
11-17 เม.ย. 2550 4,274 361 4,805 5,166
เฉลี่ยต่อวัน 611 52 686 738
ปี 2551
11-17 เม.ย. 2551 4,243 368 4,803 5,171
เฉลี่ยต่อวัน 606 53 686 739
ปี 2552
10-16 เม.ย. 2552 3,977 373 4,332 4,705
เฉลี่ยต่อวัน 568 53 619 672
ปี 2553
12-18 เม.ย. 2553 3,516 361 3,802 4,163
เฉลี่ยต่อวัน 502 52 543 595
ปี 2554
11-17 เม.ย. 2554 3,215 271 3,476 3,747
เฉลี่ยต่อวัน 459 39 497 535
ปี 2555
11-17 เม.ย. 2555 3,129 320 3,320 3,640
เฉลี่ยต่อวัน 447 46 474 520
ปี 2556
11-17 เม.ย. 2556 2,828 321 3,040 3,361
เฉลี่ยต่อวัน 404 45 434 480
[13][14]
ขอขอบพระคุณข้องมูลจาก วิกิพีเดีย