คัดลอกจาก: กฏแห่งกรรม พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)
องค์ประกอบของอกุศลกรรมบถ
กรรมที่จะจัดว่าเป็นอกุศลกรรมบถได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบในการกระทำนั้นครบถ้วน จึงจะจัดเป็นอกุศลกรรมบถได้
เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ จะชี้ให้เห็นว่า ในบรรดาอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นั้น อกุศลกรรมบถข้อใดมีองค์ประกอบเท่าไร เพราะถ้าการกระทำนั้นมีองค์ประกอบไม่ครบถ้วนแล้ว ก็ไม่อาจจัดเป็นอกุศลกรรมบถได้ เช่น ฆ่าสัตว์ตายโดยไม่เจตนา หรือฆ่าแล้ว แต่ไม่ตาย เป็นต้น การทำอกุศลที่มีองค์ประกอบครบถ้วนเท่านั้น จึงจะล่วงกรรมบถ หรือขาดศีลกรรมบถได้
ปาณาติบาต - การฆ่าสัตว์ มีองค์ ๕
การฆ่าสัตว์จะเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. สัตว์มีชีวิต
๒. รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. จิตคิดจะฆ่า
๔. พยายามเพื่อจะฆ่า
๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
---------------------------------------
อานิสงส์ของการประพฤติกุศลกรรมบถ
การรักษาศีลกรรมบถ หรือ การประพฤติกรรมบถ-ทางแห่งการทำความดี มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ซึ่งท่านกล่าวในคัมภีร์ต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนาหลายแห่ง โดยเฉพาะในอรรถกถาขุททกปาฐะ แห่งคัมภีร์ขุททกนิกาย แสดงไว้ค่อนข้างละเอียดมาก
แต่ในที่นี้จะรวบรวมอานิสงส์หรือประโยชน์ของการประพฤติตามกุศลกรรมบถมากล่าวไว้ เพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าของการสั่งสมกรรมในขั้นกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ดังนี้
๑. การเว้นจาการฆ่าสัตว์ มีอานิสงส์ ๙ ประการ คือ
๑) มีร่างกายสมบูรณ์
๒) มีรูปพรรณสัญฐานงดงาม
๓) มีกำลังกายดี
๔) มีกำลังปัญญาไว
๕) เป็นคนองอาจ
๖) ไม่ทำลายตนหรือถูกผู้อื่นทำลาย
๗) ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน
๘) มีบริวารมาก
๙) มีอายุยืน
...ส่วนโทษของการประพฤติล่วงกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ อันเป็นการทำอกุศลกรรมบถ ก็มีนัยตรงกันข้ามกับอานิสงส์ของการบำเพ็ญกุศลกรรมดังกล่าวมาข้างต้นนี้
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ท่านสาธุชนทั้งหลายย่อมเห็นชัดแล้วว่า กุศลกรรม-ทางแห่งการทำความดี ทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ ให้คุณค่าแก่ผู้ปฏิบัติตามเพียงไร จึงจัดเป็นกุศลกรรมที่ควรบำเพ็ญเป็นประจำตลอดไป เพราะก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ตนเองและสังคมส่วนรวมเป็นอย่างมาก
ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
"กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย.
การทำดีนั่นแล ดีกว่า."
และตรัสว่า
"ตฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ.
บุคคลทำกรรมใดแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมดีที่ทำนั่นแลดีกว่า."